ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

คิดจะลงทุนต้องรู้ เปิด 5 ทำเล "ดาวรุ่ง - ดาวร่วง" ในกทม.

เส้นทางเศรษฐี
อัพเดต 18 ก.พ. 2562 เวลา 10.36 น. • เผยแพร่ 18 ก.พ. 2562 เวลา 10.36 น.

ปี 61 นับเป็นอีกหนึ่งปีทองในวงการอสังหาริมทรัพย์ วัดจากตัวเลขการเปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ที่มีมากถึงเกือบ 70,000 ยูนิต ด้วยมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท

บางทำเลมีความโดดเด่น โดนใจ ขายดิบขายดี ยอดจองเต็มตั้งแต่เริ่ม แต่บางทำเลก็กลายเป็นทำเลปราบเซียน อัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายแค่ไหน ก็ยังทำตัวเลขไม่ได้ดังหวัง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ลองมาดูกันว่า ทำเลไหนรุ่ง ทำเลไหนร่วง ประจำปี 2561 ต่อเนื่องมาถึงปี 2562 ซึ่งทำวิจัยเอาไว้โดยบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด

คุณภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ทำเลทองที่มีความโดดเด่นที่สุดในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะยังคงเป็นทำเลดาวรุ่งต่อเนื่องถึงปีนี้ มีอยู่ 5 ทำเล คือ 1. สุขุมวิท 55 หรือทองหล่อ 2. พญาไท-ราชเทวี 3. รามคำแหง 4. เอกมัย และ 5. พระราม 9-รัชดาภิเษก

โดยเฉพาะซอยทองหล่อ มีการเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2561 ถึง 7 โครงการ รวม 2,358 ยูนิต มูลค่ากว่า 22,900 ล้านบาท แต่ละโครงการขายให้นักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี และบางโครงการมีการปรับราคาขายขึ้นไปสูงกว่า 350,000 บาท ต่อตารางเมตร เชื่อว่า ปีนี้ทำเลทองหล่อจะยังคงเป็นทำเลทองที่ผู้ประกอบการต่างพากันแย่งชิงที่ดินเพื่อนำมาพัฒนาโครงการใหม่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สำหรับทำเลพญาไท-ราชเทวี ถูกจัดเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นกลางที่น่าอยู่ที่สุดอีกแห่งของกรุงเทพฯ เป็นที่อยู่อาศัยยอดนิยมของต่างชาติ เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ตอบโจทย์การใช้ชีวิต ไม่ไกลจากย่านการค้าสำคัญ ทั้งประตูน้ำ สยาม พร้อมสรรพด้วยโครงการรถไฟฟ้า โดยในปี 2561 มีผู้ประกอบการรายใหญ่เปิดตัวคอนโดมิเนียมโครงการใหม่ในย่านนี้ 5 โครงการ 2,716 ยูนิต รวมมูลค่ากว่า 22,700 ล้านบาท ส่วนปีนี้มีหลายบริษัทเตรียมเปิดโครงการใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพฤกษา เรียลเอสเตท ไรมอน แลนด์ และออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้

รามคำแหง เป็นอีกย่านที่มาแรง เมื่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เริ่มก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมระยะทาง 22.57 กิโลเมตร ขณะเดียวกัน กลุ่มเดอะมอลล์มีการรีโนเวตเดอะมอลล์ 2 รามคำแหง ให้เป็น “มิกซ์ยูส คอมเพล็กซ์” รับรถไฟฟ้าสายสีส้ม หนุนย่านการค้าบางกะปิ-รามคำแหง มีแนวโน้มคึกคักขึ้นไปอีก

ส่วนเอกมัย ก็คึกคักไม่แพ้กัน ปีที่ผ่านมา มียอดคอนโดมิเนียมใหม่ถึง 1,636 ยูนิต และปี 2562 จะยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ประกอบการหลายรายจับจองที่ดินไว้แล้ว เช่น ริชชี่เพลซ 2002, เอพี (ไทยแลนด์), ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ร่วมทุนกับพันธมิตรญี่ปุ่น ภายใต้ บริษัท เอเอชเจ เอกมัย จำกัด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตบท้ายด้วยทำเลทองย่านพระราม 9-รัชดาภิเษก ซึ่งมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ทุกปี และราคาก็สูงขึ้นทุกปี เนื่องจากเป็นทำเลที่อยู่อาศัยที่คนจีนชื่นชอบ มีการลงทุนรวมตัวกันซื้อคอนโดมิเนียมบิ๊กล็อตเพื่อให้ได้ราคาถูกลง บางรายซื้อลงทุนผ่านเอเยนซี่ชาวจีน โดยช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการจีนสนใจเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการย่านพระราม 9-รัชดาภิเษก แล้วถึง 3 ราย รวมมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท ได้แก่ กลุ่ม ทีซี ดีเวลลอปเมนท์ กลุ่มอสังหาฯ ทุนจีน เทียนเฉิน กรุ๊ป, บริษัท ไรส์แลนด์ ประเทศไทย จำกัด (คันทรี่ การ์เด้น โฮลดิ้ง) และ JRY DEVELOPMENT GROUP CO.,LTD. นอกจากนี้ กลุ่มแสนสิริ เตรียมเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมหรูขนาดใหญ่อีก 1 โครงการในเร็วๆ นี้อีกด้วย

ส่วนทำเลดาวร่วงแห่งปี 2561 ได้แก่ 1. แยกเกษตร-หลักสี่ 2. จรัญสนิทวงศ์ 3. แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงสะพานพระนั่งเกล้า-บางไผ่ 4. ปลายถนนสุขุมวิท และ 5. แจ้งวัฒนะ

โดยแยกเกษตร-หลักสี่ มีการเปิดโครงการใหม่จำนวนมากถึง 14,700 ยูนิต ในช่วงระหว่างปี 2558-2560 เพื่อรองรับแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) แถมปี 2561 ผุดขึ้นอีก 4,601 ยูนิต รวมมูลค่ากว่า 13,800 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า ยอดขายผิดคาด อาจจะเพราะราคาขายสูงเกินกว่ากำลังซื้อ และราคาขายอาจใกล้เคียงกับทาวน์โฮม จึงทำให้แข่งขันไม่ได้

ส่วนย่านจรัญสนิทวงศ์ ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการปีนี้ มีผู้ประกอบการเปิดตัวโครงการใหม่อย่างคึกคักกว่า 20,000 ยูนิต ราคาที่ดินแพงขึ้นกว่าเท่าตัว แต่ยอดขายกลับอืด นับเป็นทำเลปราบเซียนอีกจุดหนึ่ง

เช่นเดียวกับทำเลแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงสะพานพระนั่งเกล้า-บางไผ่ ที่ยังคงโอเวอร์ซัพพลาย ยอดขายอืด ทั้งที่ปีที่ผ่านมาแทบจะไม่มีโครงการใหม่เปิดขายเลย ส่วนใหญ่เป็นการทำตลาดสินค้าในสต๊อก แต่ยอดขายก็ไม่กระเตื้อง เนื่องจากราคาขายคอนโดมิเนียมใกล้เคียงกับทาวน์โฮมนั่นเอง

ส่วนทำเลถนนสุขุมวิทช่วงปลาย แม้ว่าจะเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสายใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการแล้ว แต่ภาพรวมคอนโดมิเนียมยังชะลอตัว เนื่องจากในช่วง 3 ปีก่อนหน้ามีการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมจำนวนมาก ทำให้สต๊อกค้างในตลาดมาก อีกทั้งราคาสูงเพราะเป็นผลจากราคาที่ดินปรับขึ้นมาก

และทำเลดาวร่วงสุดท้าย คือ ย่านแจ้งวัฒนะ มีสต๊อกคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วประมาณ 4 ปี แต่ยังขายไม่ได้จำนวนมาก ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี เพิ่งเริ่มก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2564 ดังนั้น คงต้องรออีกหลายปีกว่าที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาคึกคักรอบใหม่

ทั้งหมดทั้งมวล เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนปี 2562

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 3
  • Pooh Kasem
    ในเมืองรถติดโคตรยิ่งช่วงเวลาเร่งด่วน มีแต่ตึกสูงบังลมบังแดดขยายตัวเรื่อยๆ การระบายอากาศเสียในเมืองคงลดลง ไปขยายชานเมืองเถอะ
    20 ก.พ. 2562 เวลา 06.26 น.
  • เอ
    ฟองสบู่แตกแน่ๆ แค่รอเวลา
    19 ก.พ. 2562 เวลา 09.56 น.
  • Nickiiiii
    เลอะเทอะ
    18 ก.พ. 2562 เวลา 15.55 น.
ดูทั้งหมด