ไลฟ์สไตล์

หยุดพฤติกรรม “เหยียด” ที่ระบาดเร็วไม่ต่างจากไวรัสโคโรน่า - จุดประเด็น

LINE TODAY
เผยแพร่ 05 ก.พ. 2563 เวลา 17.00 น. • AJ.

Xenophobia (n.) โรคหวาดกลัวชาวต่างชาติ

ในที่นี้ อาจหมายถึง “คนจีน” ที่คนไทยกลัว และ“ชาวเอเชีย” ที่ชาวตะวันตกกลัว ว่าจะเป็นพาหะในการแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เชื้อโรคที่คนทั้งโลกกำลังหวาดกลัวในขณะนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากไวรัสแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าด้วยถิ่นฐานของไวรัสโคโรน่า ที่เริ่มแพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน จะทำให้คนจีนทั้งประเทศถูกเหมารวมว่าเป็นพาหะของไวรัส อีกทั้งหลังจากได้รับข่าวสารว่าเชื้อโรคโคโรน่านั้นติดต่อผ่านคนสู่คนได้ด้วย “ความกลัว” ยิ่งลุกลามจนยากจะควบคุม

ทั้งกลัว ทั้งเหยียด ระลอกความเกลียดชังที่แพร่เชื้อไวกว่าไวรัส

ตั้งแต่เกิดวิกฤตโคโรน่า นอกจากมหกรรมเฟคนิวส์ที่คนรับข่าวอย่างเรา ๆ ต้องรวมสติในการคิด วิเคราะห์ และแยกแยะ กันอย่างหนักหน่วงแล้ว ก็ยังมีประสบการณ์ “ถูกเหยียด” ที่ทั้งชาวจีนและชาวเอเชียโดนกันถ้วนหน้า ซ้ำร้ายยังเกิดขึ้นแทบจะทั่วโลก ทั้งพื้นที่ที่ไวรัสยังเดินทางไม่ถึง แต่ความเกลียดและกลัวดันระบาดนำหน้าไปก่อน โดยเราขอยกกรณีเหยียดที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ ดังนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อังกฤษ : สาวไทยถูกบูลลี่ที่ประเทศอังกฤษหนักมาก เมื่อเธอสวมหน้ากากอนามัยเพราะต้องการป้องกันตัวเองจากไวรัส โดยเธอโดนทั้งมองเหยียด ลุกหนี และเลวร้ายที่สุดคือตะโกนใส่ว่า “You gonna f**king die!”

สหรัฐอเมริกา : แม้กระทั่งดาราดังยังถูกหางเลข “ซีมู หลิว” นักแสดงเชื้อสายจีนที่กำลังจะรับบทซูเปอร์ฮีโร่คนใหม่ของ Marvel ยังถูกคอมเมนต์หยาบคายในโซเชียลมีเดีย บ้างขับไล่เขากลับประเทศจีน พร้อมทั้งเหยียดสีผิวของเขา จนเขาต้องทวีตข้อความตอบโต้ว่า “เชื้อไวรัสโคโรน่าไม่ใช่เหตุผลที่ทุกคนสามารถทำตัวแย่ต่อชาวเอเชียได้!”

ฝรั่งเศส : ชาวเอเชียจำนวนมากในฝรั่งเศสร่วมกันติดแฮชแท็ก #JeNeSuisPasUnVirus ซึ่งแปลว่า “ฉันไม่ใช่ตัวไวรัส” หลังจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในฝรั่งเศสพาดหัวว่า “Le péril jaune” หรือ “อันตรายสีเหลือง” อันมีความหมายในเชิงเหยียดหยามว่าคือเฉดสีผิวของชาวเอเชีย ซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่ชาวเอเชียมาก ทั้งยังมีการตั้งคำถามว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติแบบเหมารวมหรือไม่?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ญี่ปุ่น : ร้านอาหารร้านหนึ่งในเมืองฮาโกเนะในญี่ปุ่นแปะป้าย “No Chinese Allowed” หรือไม่อนุญาตให้ชาวจีนเข้าร้าน โดยเจ้าของร้านให้เหตุผลว่าต้องการป้องกันตัวเองจากไวรัส นอกจากนี้ยังมีกรณีคล้ายกันที่เมืองอิโต ที่หญิงชาวจีนถูกตะโกนใส่ว่า “China! Out!” ซึ่งเธอรีบเดินออกจากร้านทันที เมื่อนักข่าวไปสัมภาษณ์พนักงานร้านดังกล่าว ก็ได้คำตอบว่า “ถ้าเจ้าของร้านติดโรคแล้วเสียชีวิต ใครจะรับผิดชอบ?”

ไทย : ร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่งเอาป้าย "ไม่รับคนจีน" ออก หลังถูกวิจารณ์จากชาวโซเชียลถึงความไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตบางส่วนแสดงความคิดเห็นว่าเป็นสิทธิ์ของทางร้านที่จะขึ้นป้ายห้ามตามข่าว

เห็นได้ว่าเป้าแห่งการเหยียดไม่ใช่แค่ประชาชนจีน แต่ยังรวมถึงชาวเอเชีย ที่นอกจากต้องเผชิญสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าในระยะที่แสนจะใกล้ตัว ก็ยังต้องกังวลถึงสายตาชาวโลกที่มองมาที่พวกเราด้วย

กลัวได้ แต่คิดถึงใจเขาใจเราด้วย

ในวิกฤตแห่งความหวาดระแวงก็ย่อมมีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้น ทั้งการส่งกำลังใจจากประเทศต่าง ๆ แคมเปญแจกหน้ากากอนามัย และการส่งต่อกำลังใจในหมู่ชาวจีนด้วยกันเอง ( อ่านเรื่องราวแสนจะดีกับใจในวิกฤตโคโรน่าต่อที่นี่ )

ไม่มีใครอยากเป็นโรคติดต่อหรือได้ลงข่าวหน้าหนึ่งในฐานะผู้โชคร้ายติดเชื้อไวรัส ทุกคนอาจเป็นเพื่อน เป็นครอบครัวของใครสักคนหรือของคุณเอง ขอให้เปิดใจให้กว้างและลดทัศนคติแง่ลบต่อเพื่อนร่วมโลกกันดีกว่านะ!

กลัวได้ ก็ป้องกันได้

ใคร ๆ ก็กลัวเชื้อโรค เราเข้าใจ แต่ในเมื่อเราต่างต่อต้านสังคมแห่งการกลั่นแกล้งแบบที่พากันชี้นิ้วใส่คนอื่นแล้วล้อเลียนว่า “ตัวเชื้อโรค ๆๆ!” เราก็ควรเริ่มต้นด้วยการหยุดความคิดลบ และป้องกันตัวเองอย่างจริงจังและมีสติ ซึ่ง LINE TODAY ขอย้ำให้ทุกคนดูแลตัวเองด้วยเทคนิคง่าย ๆ จาก สธ. ดังนี้

W-Wash hands = ล้างมือเป็นประจำ

U-Use mask properly = ใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง

H-Have temperature checked regularly = หมั่นตรวจอุณหภูมิว่ามีไข้หรือไม่

A-Avoid large crowds = หลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่แออัด

N-Never touch your face with unclean hands = อย่าสัมผัสใบหน้าด้วยมือสกปรก

อย่าลืมว่าการเหยียดไม่ได้ป้องกันตัวเราจากไวรัส แต่การดูแลตัวเองอย่างดีต่างหาก ที่จะช่วยปกป้องเราจากไวรัสได้ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสตัวไหนในโลกนี้ก็ตาม

--

อ้างอิง

1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6

ความเห็น 94
  • Long k.k 42
    แยกกลัวกับเหยียดออกจากกัน ฝรั่งมันเหยียดจริงแต่ทางเอเชียเขากลัว ทุกคนไม่ใช่แพทย์เขามีความรู้แค่ที่ทางการบอกแบบปิดๆบังๆ เขาผิดที่กำลังหรือ
    06 ก.พ. 2563 เวลา 02.12 น.
  • เดียร์
    ร้านอาหารที่เชียงใหม่นี่เรียกว่ากลัวนะ ไม่ใช่เหยียด เค้าก็กลัวติดโรคอยากป้องกันคนในครอบครัวเค้า การไม่รับคนจีนเค้าก็เสียรายได้ แต่คงคิดว่าดีกว่าเสี่ยงติดโรค ถ้ารัฐบาลยังไม่หยุดรับคนจีนแบบนี้ ก็ต้องพยายามดูแลตัวเองกัน เขียนข่าวว่าเค้าแบบนี้เรียกบูลลี่หรือเปล่า ถามตัวเองดู แล้วลุงตู่ก็พูดอยู่ทุกวันว่าให้ดูแลตัวเอง เค้าก็ดูแลตัวเองแล้วไงล่ะ จะอะไรกันอีก
    06 ก.พ. 2563 เวลา 04.13 น.
  • เล็กSHB
    ผมว่าคนรับสื่อมากเกินไปนะ ป้องกันเท่าที่มีกำลังทรัพย์ ลดกิจกรรมที่อาจจะเสี่ยงลงบ้าง แล้วออกไปใช้ชีวิตให้ปกติ น่าจะเพียงพอ
    06 ก.พ. 2563 เวลา 02.06 น.
  • EsPrEsSo-KiD
    ถ้าเราเป็นคนจีน เราก็กันตัวเองออกจากการแพร่เชื้อนะ ต้องเข้าใจว่าใครๆก็รักชีวิตตัวเอง เขาก็ต้องกันไว้ก่อน อย่างที่รู้ๆว่าความเจ้าเลห์ในตัวก็เยอะ วีรกรรมที่สร้างไว้ก็มากมาย #ล่าสุดหญิงจีน 1 คน แพร่้ชื้อไปถึง 68 คนใน 100 เพราะนางปกปิดข้อมูลของนาง #ควรยอมรับแล้วแก้ไขไม่ใช่คิดเพียงแต่คำว่าบูลี่
    06 ก.พ. 2563 เวลา 03.05 น.
  • Songsri T.
    ต้องแยกการเหยียดกับการปิดกั้นการระบาด คนละเรื่องกัน การปืดกั้นการระบาดเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อจากตัวเราสู้คนอื่นที่ใกล้ขิด นี่คือเพื่อส่วนรวมที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นการเหยียด การเหยียดเป็นนิสัยส่วนตัวที่เห็นแก่ตัวของคนคนนั้น อย่าเอาเจตนาที่ต่างกันมารวมกันเป็นข้ออ้างเพื่ออะไรก็แล้วแต่
    06 ก.พ. 2563 เวลา 02.54 น.
ดูทั้งหมด