ทั่วไป

'TDRI'เผยคนไทย'ความสุข'ลดลง ชี้'หนุ่ม-สาว'ทุกข์มากกว่า'สูงวัย'

แนวหน้า
เผยแพร่ 07 พ.ย. 2563 เวลา 03.28 น.

7 พ.ย. 2563 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแพร่บทความ "ตามติดเรื่องความสุขของคนไทย" ซึ่งเขียนโดย รศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาของ TDRI เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2563 เนื้อหามีดังนี้
รายงานสถิติความสุขใน World Happiness Report ในปี 2555 จนถึงปี 2562 ได้แสดงให้เห็นว่า คนไทยมีความสุข[1]ลดลงเรื่อย ๆ และปี พ.ศ. 2562 เป็นปีที่คนไทยมีความสุขต่ำที่สุด คนในประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเคยมีความสุขโดยรวมน้อยกว่าคนไทย ณ บัดนี้ได้ขยับระดับความสุขสูงขึ้นแซงหน้าคนไทยไปเสียแล้ว และเราคงเดาได้ไม่ยากเลยว่าปี พ.ศ. 2563 นี้คนไทยน่าจะมีความสุขลดลงไปอีก
ในปัจจุบันนี้มีหลายประเทศที่ให้ความใส่ใจกับความรู้สึกของประชาชน การวัดความเจริญที่ดูจากรายได้และความเจริญทางวัตถุไม่เพียงพอแล้วกับการประเมินว่า คุณภาพชีวิตของคนไปในทิศทางไหน คนในประเทศโอเคไหมกับชีวิต ตัวอย่าง ประเทศที่ถามประชาชนเกี่ยวกับระดับความพึงพอใจในชีวิตประกอบด้วย ประเทศอังกฤษ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ประเทศเยอรมันเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ประเทศออสเตรเลีย เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการถามความอยู่ดีมีสุขของประเทศอังกฤษ ที่ใช้ชุดคำถาม 4 ข้อในการวัดว่าคนในประเทศมีพึงพอใจในชีวิตและมีความสุขหรือไม่ ข้อ 1 โดยรวมแล้ว ปัจจุบันนี้ ท่านพึงพอใจกับชีวิตของท่านมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นการวัดภาพรวมของชีวิต ข้อ 2 โดยรวมแล้ว เมื่อวานนี้ ท่านรู้สึกมีความสุขมากน้อยเพียงใด ข้อ 3 โดยรวมแล้ว เมื่อวานนี้ ท่านรู้สึกวิตกกังวลมากน้อยเพียงใด
โดยข้อ 2 และ 3 เป็นการวัดภาวะทางอารมณ์ ข้อ 4 โดยรวมแล้ว ท่านรู้สึกว่าสิ่งที่ท่านทำในชีวิตมีคุณค่ามากน้อยเพียงใด 
ข้อนี้เป็นการวัดการมีคุณค่าของชีวิต
คำถามทั้งสี่ข้อนี้ถูกถามในการสำรวจหลายเรื่องที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติ ของประเทศอังกฤษ และยังรวมในการสำรวจอื่นที่จัดทำโดยสถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานอิสระอีกจำนวนมาก รวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่า 33 การสำรวจที่มีการวัดความพึงพอใจในชีวิตของคนอังกฤษ การสำรวจมีการจัดทำทั้งรายเดือน รายไตรมาส รายครึ่งปี และรายปี การสำรวจมากมายนี้เริ่มทำจริงจังตั้งแต่ยุครัฐบาล David Cameron
ในช่วงวันที่ 1 พฤษภาคม – 15 มิถุนายน 2563 โครงการวิจัยนโยบายสาธารณะและความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 ได้ทำการสำรวจความพึงพอใจชีวิตของคนไทย การสำรวจเป็นแบบถามตัวต่อตัวและการถามทางออนไลน์จำนวน 3,880 คนทั่วประเทศ โดยใช้คำถามความพึงพอใจในชีวิตและความสุข 4 ข้อเช่นเดียวกับที่ถามโดยสำนักงานสถิติของประเทศอังกฤษ
ผลการสำรวจพบว่าโดยรวมประมาณร้อยละ 48 ของคนไทยมีความพึงพอใจในชีวิตตั้งแต่ระดับ 8 ขึ้นไป โดยที่ 0 คือ ไม่มีความพึงพอใจในชีวิตเลย และ 10 มีความพึงพอใจในชีวิตมากที่สุด แต่เมื่อแบ่งคนเป็นตามรุ่นแล้วพบว่า คนที่มักมีความพึงพอใจในชีวิตระดับสูงคือ รุ่น Baby boomer มีความพึงพอใจในชีวิตระดับ 9-10 ประมาณ 36% ซึ่งในระดับความพึงพอใจเดียวกันนี้ของคนรุ่น Gen Y มีเพียง 20% และ Gen Z มีเพียง 7% เท่านั้น
เมื่อถามภาวะทางอารมณ์สุขและเครียด พบว่า คนรุ่น Baby boomer โดยรวมมีความสุขมากกว่าและเครียดน้อยกว่าคนรุ่นอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่น Gen Y และ Gen Z คนสองรุ่นนี้ยังมีความรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่าค่อนข้างต่ำกว่ารุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย อีกด้วย การพยายามสร้างบทบาททางสังคมจึงอาจเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น
ถ้าให้มองว่าคนไทยจะมีความสุขเพิ่มขึ้นหรือลดลงในอีกหนึ่งหรือสองปีข้างหน้า เราคงคาดเดาได้ยาก การคาดเดาก็คงเป็นไปตามอคติของผู้ที่เดา อย่ากระนั้นเลย เราน่าจะมีการวัดระดับความสุขเชิงอัตวิสัยหรือความพึงพอใจในชีวิต ความสุข ความวิตกกังวล และการมีชีวิตที่มีคุณค่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นแนวโน้มว่าคนไทยรู้สึกอย่างไรในแต่ละปี ทำไมคนไทยถึงมีหรือไม่มีความสุข สิ่งที่รัฐทำมีส่วนช่วยให้คนไทยรู้สึกดีขึ้นหรือแย่ลง ถ้าต้องการให้คนไทยมีความสุขมากขึ้นรัฐต้องทำหรือไม่ทำอะไร
ข้อคำถามความพึงพอใจในชีวิตและความสุขสี่ข้อนี้สามารถเพิ่มเข้าไปในการสำรวจที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เช่น การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน การสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร การสำรวจเด็กและเยาวชน การสำรวจอนามัยและสวัสดิการสังคม การสำรวจประชากรผู้สูงอายุ การสำรวจผู้พิการ และการสำรวจสังคมและวัฒนธรรม ข้อคำถามสี่ข้อนี้จะช่วยให้เชื่อมโยงความสุขของคนในประเทศเข้ากับประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ วัฒนธรรม และ อื่นๆ และช่วยให้ติดตามความอยู่ดีมีสุขของคนไทย เพิ่มเติมไปจากการติดตามภาวะทางเศรษฐกิจที่มักได้รับการพูดถึงกันอยู่ตลอดเวลา
ถ้าจะคืนความสุขให้ประชาชน เราต้องรู้ก่อนว่าประชาชนมีความสุขระดับใดอยู่ และอะไรบ้างทำให้เขามีความสุขมากขึ้น
[1] ความสุขในที่นี้ นิยามแบบกว้างในความหมายของความพึงพอใจในชีวิตหรือความสุขเชิงอัตวิสัย
ขอบคุณเรื่องจาก
https://tdri.or.th/2020/11/the-happiness-survey/

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 31
  • winai
    เป็นธรรมดาไม่เคยมีเคยได้ก็อยากมาก อยากมากก็ผิดหวังมาก แต่เด็กมันโตมากับการได้ตามต้องการเพราะพ่อแม่รัก ไม่ค่อยได้เจอกับความผิดหวัง
    07 พ.ย. 2563 เวลา 04.15 น.
  • Wat Goodluckday
    มันก็ลดทั้งโลกนั้นแหละ
    07 พ.ย. 2563 เวลา 04.08 น.
  • l e o
    ความสุขของเด็กคืออะไร? มีเงินใช้(โดยที่ไม่ต้องหา) มีเสื้อผ้าสวยๆใส่ มีมือถือแพงๆ มีอินเตอร์เน็ตมีเกมส์ให้เล่น มีเที่ยว มีปาร์ตี้ มีแฟน ไม่โดนผู้ใหญ่หรือครูคอยตามจุกจิก โตขึ้นมาหน่อย มีรถขับ มีเงินเดือนพอหมุนเที่ยว จ่ายบัตรเครดิต ส่วนใหญ่ก็คงคิดตามนี้หละ และส่วนใหญ่ก็คงไม่มีความสุขหรอกครับ... เด็กทั่วโลกก็คงอยากเป็นแบบนี้ ต่างแค่เค้าไม่มีเวลามานั่งคิดเรื่องความสุขหรอกครับ เพราะบ้านเขา 13-14 ก็หาเงินเอง 18-20 ก็ พ่อแม่ไล่ออกจากบ้านแล้วครับ ชีวิตคือการเอาตัวรอด บ้านเรา...เลี้ยงกันจนแก่เลยบางที
    07 พ.ย. 2563 เวลา 04.18 น.
  • ชัยณรงค์
    แล้วประเทศไหนมีความสุขเพิ่มบ้างครับ บางคนชอบหาความทุกข์ใส่ตัวโดยไม่รู้ตัว พอเพียงเท่านั้นครับ
    07 พ.ย. 2563 เวลา 04.18 น.
  • A-liza
    ประเทศไหนมีความสุขบ้างวะ
    07 พ.ย. 2563 เวลา 04.22 น.
ดูทั้งหมด