ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการอนุรักษ์ ชายคนหนึ่งเพียรพยายามสื่อสารให้คนทั่วไป เห็นความสำคัญของศิลปะไทยโบราณ ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป
เขาเขียนถึงวัดไชยวัฒนาราม วัดสำคัญสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งถูกทิ้งร้างกลางป่ารกชัฏไร้คนเหลียวแล เขียนถึงจิตรกรรมฝาผนังที่ครูช่างประชันฝีมือกัน ซึ่งขณะนั้นเริ่มกะเทาะหลุดร่อน เขียนถึงความงามวิเศษของศิลปกรรมตามวัดวาอารามต่างๆ ที่กำลังต่อสู้กับการบูรณสังขรณ์โดยผู้ไม่รู้คุณค่า จนไม่เหลือเค้าเดิม
หลายคนแปลกใจ เพราะก่อนหน้านั้นเขานิยมศิลปะตะวันตก เคยได้คะแนนผลงานศิลปะอิมเพรสชันนิสต์สูงลิ่วจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี และเป็นเจ้าของผลงาน จันทบุรี งานโพสท์อิมเพรสชันนิสม์แบบไทยที่คว้ารางวัลศิลปกรรมดีเด่นแห่งชาติ
แต่แล้วชีวิตก็หักเห เมื่อถูกไล่ออกจากราชการ ศิลปินหนุ่มใช้ช่วงตกอับเดินทางสำรวจซากเจดีย์รกร้างในพื้นที่ภาคกลางของประเทศ และเริ่มมองเห็นความงามของศิลปะบนแผ่นดินเกิด อันนำไปสู่การอุทิศเวลาศึกษาค้นคว้า เผยแพร่ความรู้ด้านศิลปะโบราณ จนถึงช่วงท้ายของชีวิต
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับประยูร อุลุชาฎะ หรือที่รู้จักกันในนามปากกา น. ณ ปากน้ำ บรมครูผู้มีความรู้หลายด้าน ทั้งศิลปะ โหราศาสตร์ วัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่เขาทุ่มเทลงแรงเพื่อจุดประกายให้คนไทย เห็นความสำคัญและช่วยกันอนุรักษ์ศิลปะไทย
-1-
“..สักวันหนึ่งนายจะเสียใจ”
ประยูรเกิดในครอบครัวที่ไม่มีใครเป็นศิลปิน เขาค้นพบว่าตนเองชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก และฝึกเขียนรูปด้วยวิธีลอกจากหนังสือฝรั่ง ครูเห็นว่ามีฝีมือเลยมักใช้ให้เขียนแผนที่ในกระดานดำ เขียนรูปตับไตไส้พุง เครื่องมือวิทยาศาสตร์ จนมีชื่อว่าเป็นช่างวาดของโรงเรียน
สมัยเรียนมัธยมที่ปากน้ำ ประยูรเคยตามผู้ใหญ่มาเที่ยวงานรัฐธรรมนูญที่วังสราญรมย์ และมีโอกาสได้เห็นรูปปั้นอนุสาวรีย์ของนักเรียนศิลปากร ทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นและอยากเรียนที่ศิลปากรให้ได้ วันหนึ่งอ่านหนังสือพบว่า มีครูคนหนึ่งรับสอนเขียนรูปทางไปรษณีย์อยู่ที่มหาชัย จึงรบเร้าให้แม่พาไปเรียน ยื่นคำขาดว่าหากไม่พาไปจะไม่เรียนต่อ แต่เมื่อไปถึงกลับพบครูคนนั้นนุ่งกางเกงแพรออกมาด้วยใบหน้ายับยู่ยี่เหมือนคนเพิ่งตื่น บอกว่าไม่รับสอนตัวต่อตัว ทำให้เด็กหนุ่มที่ดั้นด้นมาจากปากน้ำกลับไปอย่างผิดหวัง
ด้วยความมุมานะ เขาเรียนต่อที่เพาะช่าง ก่อนเข้ามาเรียนที่ศิลปากรได้สมดังใจ ยุคนั้นอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ใช้หลักสูตรที่นำมาจากอะคาเดมีในฟลอเรนซ์ จึงสอนอย่างเข้มข้นไม่ให้ตกมาตรฐานอิตาลี นักเรียนหลายคนพากันถอดใจ จากทั้งรุ่นที่มี 40 กว่าคน เมื่อเรียนปี 4 ก็หายไปจนเหลือแค่ 5 คน
ช่วงนั้นเป็นเวลาเฟื่องฟูของศิลปะแนวใหม่จากตะวันตก ทั้งอิมเพรสชันนิสม์และโพสต์อิมเพรสชันนิสม์ คือ คิวบิสม์ โฟวิสม์ เอกซเพรสชันนิสม์ เซอเรียลลิสม์ บางครั้งอาจารย์ศิลป์ก็นำภาพเหล่านั้นมาสอน แต่ท่านกลับไม่อนุญาตให้ลูกศิษย์ทดลองทำงานรุ่นใหม่ เพราะเห็นว่าการฝึกหัดศิลปินควรเริ่มต้นจากแนวทางคลาสสิกก่อน
ประยูรและพรรคพวกในรุ่น ต่างหลงใหลมนต์เสน่ห์ของศิลปะใหม่ ๆ จนถอนตัวไม่ขึ้น ไม่ยอมเชื่ออาจารย์ฝรั่ง กลับดึงดันวาดภาพแนวทางที่พวกเขาอยากเขียนไปส่ง จากคะแนนเต็ม 100 บางครั้งกลุ่มของประยูรจึงได้เพียง 10 หรือ 15 คะแนนเท่านั้น
จนเมื่อถึงเวลาสอบปลายภาค พวกเขาก็ยังคงส่งงานแบบเดิม ถือคติว่าตกเป็นตก ตายด้วยกัน แต่ผิดคาด อาจารย์ศิลป์เห็นแก่ความเด็ดเดี่ยวของลูกศิษย์จึงให้คะแนนสูงสุดถึง 100 + 10 มากกว่าคะแนนเต็ม
แต่เหตุการณ์ที่ประยูรไม่เคยลืม คือวันที่เขาเอางานชิ้นหนึ่งไปส่งอาจารย์ศิลป์ ยุคนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าวของจากเมืองนอกขาดแคลน รวมถึงกระดาษวาดเขียน เขาจึงเอาหนังสือเก่าที่ซื้อมาจากเวิ้งนาครเขษม ฉีกเอาด้านสีขาวมาใช้วาดรูป
“พอท่านตรวจงานมาถึงของผมก็พูดขึ้นว่า กระดาษอะไรนี่นาย..ดีมาก แล้วท่านก็พลิกกลับมาดูด้านหลังภาพ Composition ของผม ผมเห็นท่านรู้สึกโกรธขึ้นมาทันที.. โกรธมาก โกรธจริง ๆ พูดออกมาเสียงดังว่า
“นี่ภาพพระพุทธบาทสมัยสุโขทัย ทำไมนายเอามาทำอย่างนี้.. สักวันหนึ่งนายจะต้องเสียใจ”
กระดาษจากหนังสือภาษาเยอรมันมือสอง ราคาไม่กี่บาท ทำให้อาจารย์ฝรั่งหัวเสียถึงขั้นไม่ยอมตรวจให้คะแนนกับเขา เหมือนกับลงโทษให้หลาบจำที่ไม่เห็นคุณค่าศิลปะไทย
ตอนนั้นเขาไม่ได้สนใจใยดีอะไรนัก เพราะใจยังนิยมศิลปะตะวันตก กระทั่งหลายปีต่อมาเมื่อต้องกลับมาศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ ขลุกอยู่กับโบราณคดี โบราณวัตถุ ลงพื้นที่ดูรอยพระพุทธบาท เขานึกถึงเรื่องนี้แล้วก็รู้สึกว่าคำพูดนั้นเป็นเหมือน ‘คำสาป’
คำสาปของอาจารย์ศิลป์ที่ทำให้เขากลับมารักศิลปะไทย
-2-
ความงามในศิลปะไทย
สุดท้ายแล้วประยูรเรียนไม่จบปี 5 เพราะการเรียนการสอนมาตรฐานสูงจนไม่มีใครได้ปริญญา เขาออกไปหางาน เริ่มจากเขียนป้ายโฆษณา ต่อมาเป็นครูสอนวาดเขียนที่โรงเรียนศิริศาสตร์ เมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนศิลปศึกษาให้เป็นโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ศิลป์ก็นึกถึงเขาและให้คนไปตามกลับมาช่วยสอน
ภายในไม่กี่ปี ประยูรเลื่อนตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน เขาต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งงานสอนงานบริหาร และยังต้องมาช่วยสอนที่ศิลปากร ด้วยความสำเร็จในหน้าที่การงาน ประยูรก้าวขึ้นมารับตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยศิลปากร ในวัยยังไม่เต็มสามสิบ
ช่วงนี้เองที่เขาเริ่มมีชื่อเสียงในทางงานจิตรกรรม เมื่อผลงานสีน้ำมันชื่อ ‘จันทบุรี’ แนวโพสท์อิมเพรสชันนิสม์แบบไทย คว้ารางวัลรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ
งานชุดนี้ประยูรเขียนขึ้นระหว่างไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่เมืองจันท์ ทุกเช้าเขาจะเอาเฟรมสะพายหลัง ปั่นจักรยานขึ้นเขาไปหามุมวาดรูป จนได้ผลงานที่น่าพอใจ ตอนขากลับกรุงเทพฯ ต้องนั่งรถสองแถว เขาจึงเอาเฟรมภาพมัดแล้วซ้อนๆ กันไว้บนหลังคารถ เดชะบุญ เด็กกระเป๋ารถสองแถวที่ปีนขึ้นไปหยิบสัมภาระไม่รู้ว่ามีงานที่มีค่าอยู่ตรงนั้น จึงเหยียบย่ำป่นปี้แทบทั้งหมด เหลือรอดมาเพียงรูปเดียวคือชิ้นที่ได้เหรียญทอง ประยูรจำได้ว่าเคยมีรูปอื่นที่ดีกว่า แต่ไม่อาจเอาคืนกลับมาได้แล้ว
หลังจากได้รับเกียรติยศยิ่งใหญ่ไม่ถึงสองปี ชีวิตจิตรกรคนนี้ก็หันเห ลงถึงจุดต่ำสุด เมื่อผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยไม่พอใจที่เขาปล่อยให้นักศึกษาทำหนังสือกระทบกระเทียบอธิการบดี จึงสั่งให้ลาออกจากราชการ พร้อมทั้งนำความผิดพลาดด้านการเงินของเขาไปดำเนินคดีทางกฎหมาย
ปีนั้นตรงกับปี 2500 ประยูรจำต้องหนีไปให้ไกล เขาใช้เวลาว่างตระเวนศึกษาศิลปะโบราณตามที่ต่างๆ เพื่อหวังจะลืมเรื่องร้าย บางวันไปถึงเมืองเสมาที่โคราชซึ่งตอนนั้นเป็นป่า เพียงคนเดียว ย่ำไปทั่วนครสวรรค์ ปีนขึ้นไปจนถึงยอดเขาหน่อเพื่อศึกษาพระพุทธบาทศิลาสมัยทวารวดี
“จริง ๆ แล้วศิลปะโบราณนั้น ผมเพิ่งมาสนใจตอนออกจากราชการที่มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว สมัยที่เรียนอยู่ก็ได้ไปทัศนศึกษาบ้าง 5 - 6 ครั้ง ดูของโบราณกันมากหน่อยเพราะสมัยนั้นไม่มีอะไรจะดูนี่ ครั้งหลังที่ไปผมเกิดความรักความหลงใหลขึ้นมา จึงตระเวนดูไปทั่ว
“..แล้วก็เลยเอาความรู้ที่เคยใช้กับการศึกษาสัตว์ทะเลมาใช้กับการศึกษางานประวัติศาสตร์ คือก่อนหน้านี้ ผมสนใจทางด้านชีววิทยาอยู่ด้วย เคยศึกษาพวกสัตว์ทะเล หอยปู ทำบันทึกว่าตัวนี้อยู่ในไฟลัมอะไร แฟมิลีไหน เป็นระบบวิทยาศาสตร์ทีเดียว..จากระบบการศึกษาอันนี้แหละ เมื่อผมเอามาศึกษาเจดีย์ใบเสมา มันก็ได้ผลดี แยกแยะได้ง่ายเข้า..”
เมื่อไม่มีรายได้ ประยูรค่อนข้างเดือดร้อนเรื่องเงิน ตอนนั้นเขามีลูกสองคนและมีครอบครัวต้องดูแล แต่จะให้กลับไปเขียนภาพขายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงลองส่งเรื่องไปลงที่นิตยสาร ต่อมาประมูล อุณหธูป นักเขียนชื่อดังได้สนับสนุนให้เขาเขียนบทความทางศิลปะลงหนังสือชาวกรุงรายเดือน แถมยังตั้งนามปากกา น. ณ ปากน้ำ ให้ด้วย โดยคำว่า น. นั้น ย่อมาจาก รัชนี เป็นชื่อเดิมที่พ่อตั้งให้ก่อนเกิด เขาเห็นว่าเป็นมงคลนามจึงนำมาตั้งเป็นนามปากกา
จากนั้นมา คนก็ได้รู้จักกับ น. ณ ปากน้ำ ในฐานะของนักเขียนด้านศิลปะ
-3-
ห้าเดือนกลางซากอิฐปูน
ช่วงเกือบสิบปีแรกหลังพ้นชีวิตข้าราชการ ประยูรเขียนบทความทางศิลปะจำนวนไม่น้อย แต่เพราะไม่ได้ร่ำเรียนด้านโบราณคดีมาโดยตรง งานรุ่นแรกๆ เหล่านั้น ยังมีหลายประเด็นที่คลาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิด
เมื่อถึงวาระใกล้ครบรอบ 200 ปี แห่งการเสียกรุงศรีอยุธยา คณะกรรมการจัดงานอนุสรณ์อยุธยา มอบโอกาสสำคัญให้เขาไปค้นคว้าศิลปกรรมโบราณของเมืองกรุงเก่าเพื่อนำมาจัดนิทรรศการ การออกสำรวจในช่วง 5 เดือนของปี 2509-2510 ครั้งนั้นเปลี่ยนแปลงวิธีคิดวิธีการทำงานของเขาไปตลอดกาล
ด้วยความที่โบราณสถานต่างๆ ยังไม่มีการสำรวจและบูรณะอย่างจริงจัง ถูกปล่อยทิ้งร้างในป่า ประยูรในวัย 38 บอกกับตนเองว่า “ข้าพเจ้าต้องการสำรวจอยุธยาให้มากที่สุด โดยจะตะลุยค้นให้หมดไม่ให้เหลือ แม้จะบุกป่าฝ่ารกลำบากขนาดไหนก็ต้องไปให้ได้”
เขาลงทุนซื้อเรือมาลำหนึ่งเพราะเส้นทางคมนาคมหลักไปสู่วัดโบราณคือแม่น้ำลำคลอง แทบทุกวันประยูรและลูกน้องต้องบุกป่าฝ่าดง เดินตากแดดกลางทุ่งนาไปสำรวจ หลายครั้งที่มองเห็นยอดเจดีย์อยู่เบื้องหน้าแต่หาทางเข้าไม่ได้ หรือหลงป่าอยู่นาน บางทีต้องรอจนหมดหน้านาถึงจะเข้าไปได้ เพราะจะได้ไม่ไปเหยียบนาของชาวบ้าน เป็นเช่นนี้วันแล้ววันเล่าโดยไม่มีการพักผ่อน เพื่อเร่งทำงานให้เสร็จทันเวลา
ประยูรใช้แผนที่อยุธยาของกรมแผนที่ทหารเป็นลายแทง กางเทียบกับแผนที่โบราณ บางครั้งใช้วิธีสอบถามเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรในพื้นที่ ชาวบ้าน และพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพบหลักฐานก็จะถ่ายภาพ สเก็ตช์แผนผัง เขียนลายเส้น บางครั้งก็มุดเข้าไปในโพรงเจดีย์ที่มืดมิดเพื่อตรวจสอบโครงสร้าง โดยไม่หวั่นกลัวสัตว์ร้ายที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน ก่อนจะบันทึกและนำมาเทียบเคียงกับเอกสารสมัยเก่าต่างๆ
การสำรวจอยุธยา 5 เดือนครั้งนั้น นับเป็นหมุดหมายสำคัญในชีวิต เพราะเขาพบว่าการลงพื้นที่ทำให้เข้าใจชัดแจ้งขึ้น ประยูรค้นพบวัดจำนวนมากที่ไม่ได้เคยระบุไว้ในแผนที่โบราณ ต่อมาเขายังคงเน้นงานภาคสนาม เช่นการสำรวจวัดในฝั่งธนบุรี ช่วงฤดูฝนทุกวันภายในเวลา 3 เดือน
“ถ้าเกิดข้อสงสัยจะต้องออกไปเห็นของจริงเลย ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน ไม่ใช่นั่งโต๊ะเป็นนักวิชาการแบบ arm chair study รูปถ่ายมันแบน แล้วเรื่องขนาดของรูปก็อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้มาก..
“ตอนผมไปวัดช้างที่อยุธยาเหมือนกัน ข้างหน้าโน่นมีเจดีย์ ชาวบ้านก็บอกว่า อย่าเข้าไป มีเสือ หรือบางทีก็เจอบึงกว้าง ๆ อะไรทำนองนี้ ผมก็ลุยน้ำแค่หน้าอกข้ามไป เพื่อดูด้วยตาตัวเองให้ได้ ถ้าเรามัวมากลัวก็อดดูของจริง”
อีกสิ่งหนึ่งที่ไปเห็นกับตา คือความละเลยของภาครัฐ ที่ไม่เพียงปล่อยทิ้งให้นักล่าสมบัติไปขุดเอาของดีไปขาย แต่ยังให้มีการประมูลอิฐเก่าไปใช้เป็นวัสดุก่อสร้างโดยไม่มีการควบคุม วัดหลายแห่งที่ทีมสำรวจบุกบั่นเข้าไปอย่างยากลำบาก กลับเป็นว่ามาช้าไป เพราะเหลือเพียงเศษอิฐไม่กี่แผ่นเท่านั้น
ข้อมูลจากการสำรวจ เขานำมาเขียนเป็นบทความและรวมเล่มเป็นหนังสือ ‘ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา’ นอกจากรายละเอียดการค้นพบแล้ว ประยูรยังเขียนวิจารณ์การทำงานของหน่วยงานอนุรักษ์ไว้ว่า
“..อยากจะแปลงร่างเป็นทหารอยุธยาโบราณ จับดาบวิ่งเข้าห้ำหั่นฟันมันให้ระยำยับไปทั้งเมือง ทั้งๆ ที่มีกรมกองรับผิดชอบ แต่ไม่มีใครเอาใจใส่ ไม่มีใครเสนอต่อรัฐบาลถึงความสำคัญในสิ่งเหล่านี้ อยุธยาเรามีสมบัติมหาศาลเหลือคณานับ เพียงแต่จัดสถานที่ให้ดี ทำถนนหนทางให้สะดวก มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษา..
“ศิลปวัตถุอันเป็นหัวใจของชาติแท้ๆ เขากลับไม่เหลียวแลเอาใจใส่กันเลย เป็นเรื่องน่าอดสูใจยิ่งนัก วัดมหาธาตุซึ่งอยู่กลางเกาะอยุธยาแท้ๆ ยังเต็มไปด้วยกระถิน วัดไชยวัฒนารามอันรุ่งเรืองสุดยอดในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีป่าทึบปกคลุมอยู่ ไม่ผิดอะไรกับวัดมเหยงคณ์..”
หลายปีหลังการตีพิมพ์ ข้อเรียกร้องหลายอย่างในหนังสือก็กลายเป็นความจริง เช่น วัดต่างๆ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร วัดไชยวัฒนารามและวัดมเหยงคณ์ที่เคยอยู่ภายใต้ป่ารกก็มีการปรับปรุงพื้นที่ทำให้คนได้เห็นความงดงามแห่งอดีต
-4-
รอยเท้าของครู
หลังจากนั้น น. ณ ปากน้ำ ยังคงมุ่งมั่นผลิตงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเผยแพร่ความรู้ให้คนเข้าถึงสุนทรียภาพของศิลปะไทย พร้อมกับเรียกร้องให้อนุรักษ์บูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานวัตถุ โดยรักษาภูมิปัญญาของคนในอดีตเอาไว้
บทความเหล่านี้เองที่ช่วยจุดประกายไฟแห่งศิลปะให้กับคนรุ่นหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย เริ่มหันมาสนใจและหลงรักศิลปะโบราณ งานโบราณคดี หนึ่งในนั้นคือ เอนก นาวิกมูล นักประวัติศาสตร์ ซึ่งเคยออกสำรวจวัดร้างโดยได้แรงบันดาลใจจากประยูร ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ไว้ว่า
“ตอนเรียนที่สงขลาเคยได้อ่านงานของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ..อ่านแล้วสะเทือนใจมาก เพราะวัดโบราณถูกรื้อทำลายตลอดเวลา เกิดความเสียดาย คิดว่านี่คืองานขั้นแรกที่จะต้องทำเมื่อเข้ากรุงเทพฯ..
“ผมเคยเขียนจดหมายถึงอาจารย์ น. ถามว่าการขออนุญาตชมโบสถ์วิหารต้องทำอย่างไรบ้าง อีกนานมากจึงได้รับโปสการ์ดตอบกลับมาว่า ป่านนี้คุณคงออกสำรวจไปแล้ว ส่วนการขออนุญาตขึ้นกับจังหวะ ผมดีใจที่ได้รับโปสการ์ดจากอาจารย์ ยังเก็บโปสการ์ดแผ่นนั้นไว้จนบัดนี้”
ในช่วงท้ายของชีวิต ประยูรยังคงร่วมกับทีมงานวารสารเมืองโบราณ ออกสำรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับสร้างลูกศิษย์ลูกหาให้เข้ามารับสืบทอดงานอนุรักษ์จำนวนมากมาย
“ผมก็ยังทำงานของผมต่อไปอย่างต่อเนื่อง ..เหมือนหมาไล่เนื้อ ผมถือหลักว่าเราหมาไล่เนื้อถ้ามันกัดจมเขี้ยวแล้ว จะไม่ยอมปล่อยไม่ว่าเรื่องไหน ประวัติศาสตร์ โบราณคดีหรือโหราศาสตร์ เรื่องดวงดาวเนปจูน พลูโตที่ผมค้นคว้า จะต้องทำจนได้ผลน่าพอใจถึงจะเลิกทำ”
ถึงวันนี้ถ้าใครได้พลิกอ่านงานเขียนของประยูร ก็เหมือนได้ตามเขาไปสัมผัสความงดงามของศิลปะไทย ที่มีทั้งสุนทรียภาพ ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ งานเหล่านี้เป็นเหมือนรอยเท้าของครูผู้ยิ่งใหญ่ ที่ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังที่สนใจศิลปะได้เดินตาม
ติดตามบทความของ เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์
เรียบเรียงข้อมูลและรูปภาพจาก
- หนังสือที่รฦกเนื่องในการพระราชทานเพลิงศพ นายประยุูร อุลุชาฎะ จ.ม. ศิลปินแห่งชาติ
- หนังสือห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา โดย น. ณ ปากน้ำ
- หนังสือ อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์
- บทความ ปีที่เจ็ดสิบสองของชีวิต: ประยูร อุลุชาฎะ นิตยสารสารคดี พฤศจิกายน 2543
- บทสัมภาษณ์ บางเสี้ยวตอนของประยูร อุลุชาฎะ ในความเป็น น. ณ ปากน้ำ และพลูหลวง นิตยสารสารคดี กรกฎาคม 2530
- บทสัมภาษณ์ เอนก นาวิกมูล "ผมเปรียบตัวเองเป็นคนปะชุนประวัติศาสตร์" นิตยสารสารคดี มิถุนายน 2553
*~*~ Nokie ~*~* นานๆทีจะลงข่าวมีสาระ ขอบคุณค่ะ
17 พ.ย. 2562 เวลา 06.21 น.
€¥£ หนังสือของอาจารย์ราคาไม่แพง ข้อมูลแน่น บางเล่มยังมีขายที่พิพิฑภัณฑ์สถานแห่งชาติ
17 พ.ย. 2562 เวลา 06.07 น.
กบ นฤชยา อินตะนัย รัฐบาลมันไม่สนใจ ไม่มีประโยชน์กับมัน
17 พ.ย. 2562 เวลา 07.03 น.
สวยงามมากเลย เก่งนะคนไทย ฝีมือดีจัง
17 พ.ย. 2562 เวลา 09.18 น.
บอลรักสา ดี
17 พ.ย. 2562 เวลา 06.18 น.
ดูทั้งหมด