ไอที ธุรกิจ

งบการเงินส่วนบุคคล

Finnomena
อัพเดต 29 ต.ค. 2562 เวลา 06.40 น. • เผยแพร่ 29 ต.ค. 2562 เวลา 04.00 น. • AddMoney

หากพูดถึง “งบการเงิน" แล้วหลายท่านคงคิดถึงเรื่องการทำบัญชี ที่มีแต่ตัวเลข รายรับ รายจ่าย สินทรัพย์ หนี้สิน ที่มีรูปแบบเป็นของกิจการหรือบริษัทมากกว่า ที่มีหน้าที่ต้องจัดทำงบการเงิน เพื่อรู้สถานะการเงินในการบริหารกิจการ และยื่นเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย

แต่หากพูดถึง “งบการเงินส่วนบุคคล" หลายท่านอาจมองข้าม หรืออาจยังไม่เข้าใจว่าแท้จริงแล้วคืออะไร มีความสำคัญ และมีประโยชน์อย่างไรกับเรา ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกันก่อนนะคะ ว่า “งบการเงินส่วนบุคคล" คืออะไร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“งบการเงินส่วนบุคคล" คือ งบการเงินส่วนตัว หรือ งบการเงินครอบครัวของเรานั่นเอง ประโยชน์ของงบนี้ คือ จะสามารถทำให้เราเห็นถึง ทรัพย์สินที่เรามี มีอะไรบ้าง มีหนี้สิน ภาระผูกพันมากน้อยเพียงใด มีรายรับ รายจ่ายอะไรบ้าง และมีกระแสเงินสดเหลือหรือไม่ ในแต่ละเดือน หรือแต่ละปี หลายท่านอาจจะมองว่า เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซับซ้อน หรืออาจจะยังไม่รู้จักงบนี้เลยก็ได้นะคะ แต่วันนี้เราจะทำให้ท่านสามารถทำงบการเงินของท่าน ง่าย ๆ เพื่อประเมินสถานะการเงินด้วยตัวเองกันค่ะ

ซึ่งงบการเงินของเรา ประกอบด้วย 2 งบหลัก ๆ คือ งบแสดงสถานะทางการเงิน และ งบกระแสเงินสด

*งบแสดงสถานะทางการเงินส่วนบุคคล ( Personal Balance Sheet ) *

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จะมีรายการประเภท สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของความมั่งคั่งสุทธิ ทำให้เรารู้ว่า เรามี สินทรัพย์ หนี้สิน ทั้งหมดเท่าไหร่

เรามาเริ่มต้นทำงบการเงิน งบแรกของเรากันค่ะ

ด้านสินทรัพย์ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

1. สินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร ที่เรามีไว้ใช้หรือสำรองไว้ใช้ในครอบครัว

( ควรมีสินทรัพย์สภาพคล่องขั้นต่ำ 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน )

2. สินทรัพย์เพื่อการออมและลงทุน เช่น กองทุนรวม หุ้นกู้ หุ้นสามัญ ที่ดิน คอนโด

( ควรมีสัดส่วนการออมขั้นต่ำ 10 % ของรายได้ )

3. สินทรัพย์เพื่อใช้ส่วนตัว เช่น รถ บ้าน เครื่องประดับ

ด้านหนี้สิน ไม่ควรมีหนี้ผ่อนชำระเกิน 35% ของรายได้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

หนี้สินระยะสั้น เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนสินค้า

หนี้สินระยะยาว เช่น หนี้บ้าน คอนโด

ด้านความมั่งคั่งสุทธิ ควรมีสินทรัพย์ในการลงทุนไม่ต่ำกว่า 50% ของความมั่งคั่งสุทธิ

ตัวเลขในส่วนนี้จะมาจาก ( สินทรัพย์รวม – หนี้สินรวม = ความมั่งคั่งสุทธิ )

“ความมั่งคั่งสุทธิ" จะทำให้เราเห็นถึง ส่วนที่เป็นสินทรัพย์ของเราจริง ๆ นั่นเองนะคะ

ตัวอย่าง เช่น สินทรัพย์ คือ บ้าน มูลค่าตามราคาซื้อขายตลาด เท่ากับ 2 ล้านบาท แต่เรายังมีหนี้บ้านที่ยังผ่อนกับธนาคารคงค้างอีก 5 แสนบาท เท่ากับว่า มูลค่าบ้านหลังนี้ ที่เป็นส่วนของเราแท้จริงแล้วคือ 1.5 ล้านบาท

และเมื่อเรานำ สินทรัพย์รวม หักลบ ด้วยหนี้สินรวม เราจะสามารถรู้ได้ว่า มูลค่าที่เป็นส่วนของเรานั้น มูลค่าแท้จริงเท่ากับเท่าไหร่

ตัวอย่าง งบแสดงสถานะทางการเงินส่วนบุคคล

*งบกระแสเงินสด ( Cash Flow Statement ) *

คือ งบที่แสดงให้เห็นถึง กระแสเงินสดรับ และจ่ายของเรา ว่ามี รายรับ และค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง สิ่งสำคัญ งบนี้ควรมีกระแสเงินสดคงเหลือ ระวังห้ามติดลบ เพราะแสดงให้เห็นถึงภาระค่าใช้จ่ายที่มากกว่ารายได้ที่รับเข้ามา เราจะแบ่งงบกระแสเงินสด เป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนของรายได้ คือ รายรับของเราทั้งหมดที่เป็นกระแสเงินสดรับเข้ามา

ส่วนของรายจ่าย แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

รายจ่ายคงที่ คือ รายจ่ายที่ต้องจ่ายคงที่ทุก ๆ เดือน เช่น ค่าบ้าน ค่ารถ

รายจ่ายผันแปร คือ รายจ่ายที่ผันแปรไม่เท่ากันในแต่ละเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว

รายจ่ายเพื่อการออมและลงทุน คือ เงินฝาก กองทุนรวม หุ้น

ตัวอย่าง…งบกระแสเงินสด

ประโยชน์ที่เราได้รับจากการทำงบการเงินทั้ง 2 งบ ทำให้เราสามารถสรุปสถานะการเงินของเรา ณ ปัจจุบัน ว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง เพื่อวางแผนการเงินของเราต่อไปได้

ด้านสภาพคล่อง เงินสด เงินฝากที่มีอยู่ เมื่อเทียบสภาพคล่องขั้นต่ำที่ควรมีเรามีไว้แล้ว หรือยังขาดอีกเท่าไหร่ ต้องวางแผนเพิ่มส่วนนี้อีกเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพื่อไว้ใช้จ่ายในครอบครัว

ด้านเงินออมและลงทุน เรามีการออมเฉลี่ยต่อเดือนเท่าไหร่ อย่างน้อยขั้น 10% หรือไม่ รวมถึงการลงทุน มีการลงทุนอะไรบ้าง เพราะการลงทุนเป็นการต่อยอดเงินที่มี เพื่อสร้างความมั่งคั่งในอนาคต

ด้านหนี้สิน ทำให้เห็นถึงภาระหนี้สินที่มีอยู่ในปัจจุบัน ว่ามีสัดส่วนมากน้อยเพียงใด ซึ่งสามารถประเมินได้ว่า ภาระหนี้สินต่อเดือน ณ ปัจจุบัน มียอดผ่อนชำระต่อเดือนเกิน 35% แล้วหรือไม่ เพราะหากเรามีหนี้เพิ่ม จะทำให้ภาระหนี้สินอยู่ในระดับสูง อนาคตมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้

“งบการเงินส่วนบุคคล" ของท่านเป็นอย่างไรบ้างคะ หวังว่างบการเงินทั้ง 2 งบนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนการเงินของทุกท่านต่อไป

ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จทางการเงิน มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งในปัจจุบันและอนาคตค่ะ

By Thidarat Keereeta, Finance Coach.

ติดตาม Add Money ได้ในเพจ https://www.facebook.com/AddMoney.Coach/**

ดูข่าวต้นฉบับ