ไลฟ์สไตล์

ชาร์ลี แชปลิน : ชายผู้ถูกกล่าวหาว่าชังชาติ และต่อสู้ความอยุติธรรมผ่านเสียงหัวเราะ

The MATTER
เผยแพร่ 13 ธ.ค. 2562 เวลา 02.43 น. • End of the Road

1

ในสายตาของ เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ (J. Edgar Hoover) 'ชาร์ลี แชปลิน' อาจเป็น ‘คนชังชาติ’ ที่สมควรต้องกำจัดและไล่ออกไปนอกประเทศ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ คืออัยการสูงสุดของสหรัฐอเมริกา (United States Attorney General) ซึ่งแม้ตำแหน่งจะเป็นอัยการ ทว่าก็ไม่ใช่ข้าราชการทั่วไป ทว่าเป็น ‘ข้าราชการการเมือง’ ที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี แต่เป็นตำแหน่งเดียวที่ไม่ได้เรียกว่า ‘รัฐมนตรี’ (หรือ Secretary) และใช้คำว่า Attorney โดยมีหน้าที่เป็นเหมือนหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงยังเป็นผู้นำทนายแผ่นดินของรัฐบาล จึงมีความคาบเกี่ยวเป็นได้ทั้งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงมหาดไทยกลายๆ

ยิ่งในยุคของ เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ด้วยแล้ว ตำแหน่งนี้แทบจะมีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน

2

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1952 ชาร์ลี แชปลิน นักแสดงตลกที่ถือว่าเป็นอัจฉริยะแห่งวงการภาพยนตร์และเป็นที่รักของคนทั่วโลก ได้ขึ้นเรือควีนเอลิซาเบธเพื่อมุ่งหน้าไปยังยุโรป เขาจะไปประชาสัมพันธ์หนังเรื่องใหม่ของตัวเองที่ชื่อ 'Monsieur Verdoux'

เมื่ออยู่บนเรือ แชปลินได้รับหนังสือแจ้งแก่เขาว่า เมื่อออกไปจากสหรัฐอเมริกาแล้ว เขาจะกลับมาที่นี่อีกไม่ได้

ที่จริงแล้ว ชาร์ลี แชปลิน ไม่ได้เป็นคนอเมริกัน อเมริกาไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนของเขา เขาเกิดในปี ค.ศ. 1869 ที่ลอนดอน จึงนับเป็นคนอังกฤษแท้ๆ เขาเริ่มต้นอาชีพนักแสดงในอังกฤษ และโด่งดังถึงขั้นได้ออกตระเวนทัวร์ไปกับคณะแสดงในอเมริกาเหนือ ซึ่งนั่นนำไปสู่อาชีพนักแสดงบนจอภาพยนตร์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แม้ในตอนแรก ชาร์ลี แชปลิน จะไม่ชอบการแสดงภาพยนตร์ (ในตอนนั้นคือ ‘หนังเงียบ’) แต่เขาก็รู้วิธีหยิบจับ และเลือกเครื่องแต่งกายให้กับตัวเองตั้งแต่การปรากฏตัวต่อหน้ากล้องในครั้งที่สอง จนกระทั่งกลายเป็นเอกลักษณ์ และต่อมาก็คืออัตลักษณ์ของความเป็นชาร์ลี แชปลิน ที่ผู้คนหลงรักไปทั่วโลก

เขาใช้เวลาไม่กี่ปี ก็ได้กลายเป็น ‘ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม’ และทำรายได้มากมายมหาศาล นั่นทำให้เขาตัดสินใจอยู่ในสหรัฐอเมริกาเพื่อทำงานภาพยนตร์ตลอดมา แม้เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และถูกประนามจากคนอังกฤษว่าไม่ยอมกลับบ้านมาช่วยรบ แต่แชปลินก็ยังคงทำงานที่เขารักต่อไป เขาบอกกับสาธารณชนว่า เขายินดีกลับไปร่วมรบในอังกฤษถ้าหากถูกเรียกตัว ทั้งยังลงทะเบียนเผื่อทางอเมริกาจะเรียกตัวไปเป็นทหารด้วย เขายินดีไปรบในนามประเทศไหนก็ได้ทั้งนั้น แต่โชคร้าย (หรือโชคดีก็ไม่รู้) ที่ไม่มีประเทศไหนเรียกตัวเขาไปรบเลย แชปลินจึงทำงาน แต่งงาน มีลูก เสียลูก

และในงานแจกรางวัลออสการ์ครั้งแรก เขาก็ได้รับรางวัลพิเศษ

ในฐานะอัจฉริยะผู้สร้างหนังแสนวิเศษอย่าง 'The Circus' ด้วย

แชปลินมีชีวิตอยู่กับยุคของหนังเงียบ มาจนกระทั่งถึงหนังเสียง เช่นเคย เขาไม่ชอบหนังที่มีเสียง เขาล้อเลียนมัน และเชื่อว่าการพูดในหนังจะทำลายศิลปะแห่งหนังเงียบ แต่ในที่สุด เขาก็ยอมรับ และใช้ประโยชน์จากมันอย่างชาญฉลาดอีกครั้ง ด้วยการที่เขาลุกขึ้นมาแต่งเพลงและดนตรีประกอบภาพยนตร์เองเสียเลย กับหนังอย่าง 'City Lights' ที่แม้ตัวละครไม่ได้พูดจาส่งเสียง ทว่าดนตรีประกอบและความชาญฉลาดในการสร้างหนังเรื่องนี้ก็ทำให้กลายเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งยุค ก่อนจะมาถึงหนังที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบการผลิตแบบสายพานอย่างเจ็บแสบและขำลึกอย่าง 'Modern Times' รวมถึงหนังที่จิกกัด อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ไว้เจ็บแสบอย่าง 'The Great Dictator'

พูดได้ว่า แม้ ชาร์ลี แชปลิน จะไม่ใช่คนอเมริกัน แต่สิ่งที่เขาได้สร้างและทำไว้ให้กับวงการภาพยนตร์อเมริกันนั้น อาจมีคุณค่ามากยิ่งกว่าการไปออกรบในสงครามโลกครั้งไหนๆ จนตัวตายเสียอีก

มากกว่าสามสิบปี ที่ชาร์ลี แชปลิน อุทิศตัวเพื่อศิลปะภาพยนตร์ สร้างชื่อเสียงให้ตัวเองและประเทศ รวมทั้งสร้างงานศิลปะชิ้นสำคัญเอาไว้ให้โลก ดังนั้น การถูกสั่งห้ามเข้าประเทศซึ่งเท่ากับเป็นการ ‘เนรเทศ’ กลายๆ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก

เขาเป็นคน ‘ชังชาติ’ ขนาดนั้นเลยหรือ?

3

ทำไม เจ. เอ็ดการ์. ฮูเวอร์ ในนามของรัฐบาลอเมริกัน ถึงได้ ‘ขับ’ ชาร์ลี แชปลิน ออกนอกประเทศ

เรื่องนี้มีความเป็นมายาวนาน รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้สืบสวนเรื่องราวของแชปลินมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1922 แล้ว เพราะสงสัยว่า แชปลินจะมีความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ มีรายงานราว 1,900 หน้า เต็มไปด้วยคำกล่าวหาและใส่ร้ายจากการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูล แต่เมื่อสอบไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ไม่พบหลักฐานว่าแชปลินมีความสัมพันธ์ สนับสนุน หรือเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์

ทว่าเรื่องคอมมิวนิสต์ไม่ใช่เรื่องเดียวเท่านั้นที่มีการปั่นขึ้นมาใส่ร้ายแชปลิน อีกเรื่องหนึ่งที่แลดูจริงจังกว่านั้น ก็คือปัญหาการค้ามนุษย์ เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะแชปลินว่าจ้างนักแสดงสาวคนหนึ่งผู้มีชื่อว่า โจน บาร์รี (Joan Barry) แล้วมีความสัมพันธ์กับเธอ ต่อมา บาร์รีอ้างว่าเธอท้องกับแชปลิน แล้วเขาไม่ยอมรับ นั่นทำให้ เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ที่สงสัยอยู่แล้วว่า แชปลินน่าจะมีความโน้มเอียงทางการเมือง หรือมีอุดมการณ์ทางการเมืองไม่พึงปรารถนาต่อความเป็นคนอเมริกัน (ในยุคนั้น) หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นใหญ่

ในตอนนั้น มีกฎหมายที่เรียกว่า Mann Act หรือกฎหมายว่าด้วยการค้า ‘ทาสผิวขาว’ (ซึ่งก็คือการค้ามนุษย์) ฮูเวอร์ใช้กฎหมายนี้จัดการกับแชปลิน ด้วยการตั้งข้อกล่าวหาในเรื่องนี้กับแชปลิน

เรื่องของเรื่องก็คือ แชปลินซื้อตั๋วเรือโดยสารให้กับบาร์รี เพื่อให้เธอเดินทางไปทำงานร่วมกับเขา แต่ฮูเวอร์ใช้การซื้อตั๋วนี้เป็นหลักฐานกล่าวหาว่า - นี่ไง แชปลินกำลังกระทำสิ่งที่เรียกว่า Human Trafficking คือการเคลื่อนย้ายมนุษย์อีกคนหนึ่งเพื่อเป้าหมายทางเพศ

แน่นอน - ในปีค.ศ. 1944 แชปลินก็รอดพ้นจากคดี เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และกระทั่งนักประวัติศาสตร์หลายคนก็ยังบอกเลยว่า คดีนี้เป็นเรื่อง absurd หรือไร้สาระอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม - แชปลินก็ตระหนักแน่ตั้งแต่นั้นมา

ว่าใครคือศัตรูที่ตามล่าล้างผลาญเขาในทุกเรื่อง

4

ฮูเวอร์มีหลักฐานมากมายตามใจคิด เขาพยายามค้นหาทุกวิถีทางที่จะกำจัด เนรเทศ หรือ ‘ไล่’ ชาร์ลี แชปลิน ออกนอกประเทศไปให้ได้

แน่นอน - ชาร์ลี แชปลิน เป็น ‘ฝ่ายซ้าย’ เขาเป็นคนหัวก้าวหน้า เขามาถึงสหรัฐอเมริกาหลังเกิดการปฏิวัติรัสเซียไม่นานนัก เขาได้เห็นความเจ็บปวดของการว่างงาน ความแร้นแค้นและกระวนกระวายของผู้คนในสหรัฐอเมริกา คนว่างงานในอเมริกาเพิ่มจาก 950,000 คนในปีค.ศ. 1919 มาเป็นกว่าห้าล้านคนในปีค.ศ. 1921 นั่นคือยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำกำลังใกล้จะกรายเข้ามา

หนังตลกของชาร์ลี แชปลิน คือวาล์วเปิดให้ผู้คนได้หนีออกจากความคับแค้น ความยากจน และความยากลำบากของชีวิต ให้ได้หัวเราะ และมองเห็นว่าชีวิตยังพอมีความหวังอยู่บ้าง

หลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าชาร์ลี แชปลิน เห็นด้วยกับลัทธิคอมมิวนิสม์ก็คือเมื่อเขาบอกกับเพื่อนนักแสดงอย่าง บัสเตอร์ คีตัน ว่า ถ้าหาก ‘หลักการ’ แบบคอมมิวนิสม์เป็นจริงขึ้นมาได้ จะเกิดความเท่าเทียมในสังคม ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป ความยากจนจะหายไป

สิ่งเดียวที่แชปลินต้องการ ก็คือให้เด็กทุกคนมีอาหารกินมากพอ มีรองเท้าใส่ และมีหลังคาคุ้มหัวพวกเขาเอาไว้

นั่นเป็นคำขอที่มากเกินไปสำหรับมนุษย์หรือเปล่า - สำหรับแชปลิน เขาคิดว่านั่นไม่ได้ ‘มากเกินไป’ 

“แต่ชาร์ลี” บัสเตอร์ คีตัน บอกเขา “นายไม่คิดเหรอว่าจะมีใครบางคนไม่อยากให้สังคมเป็นอย่างนั้น”

และใครคนนั้น - ก็คือคนอย่าง เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์

5

เสื้อผ้าที่ชาร์ลี แชปลิน เลือกใส่ คือเสื้อผ้าแบบคนจรหมอนหมิ่นหรือที่เรียกว่า Tramp Figure มันคือเสื้อผ้าของคนจน ของคนเหงา ของคน ‘นอกสังคม’ ที่ถูกทอดทิ้ง แต่เขาเลือกที่จะสร้างความตลกขึ้นบนอัตลักษณ์ที่แสนเจ็บปวดนี้ และแฝงเร้นเนื้อหาวิพากษ์สังคมเอาไว้อย่างแนบเนียนและแยบยล

“ประเด็นสำคัญของบุคลิกแบบนี้” แชปลินเคยพูดไว้ในปีค.ศ. 1925 ถึงตัวตนแบบ The Tramp “ก็คือไม่ว่าเขาจะตกต่ำหมดตูดแค่ไหน ไม่ว่าพวกอันธพาลจะประสบความสำเร็จในการฉีกทึ้งเขาเป็นชิ้นๆ มากแค่ไหน เขาก็ยังคงมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์”

*แชปลินอยู่ข้างคนใช้แรงงานตลอดมา *

นั่นทำให้เกิดความนิยมล้นเหลือในตัวเขา

แต่ก็เป็นความนิยมเดียวกันนี้เอง ที่ก่อความกังวลให้กับผู้มีอำนาจ กับเอฟบีไอ และกับฮูเวอร์ - ผู้กุมอำนาจแห่ง ‘ความยุติธรรม’ เอาไว้เหนือหัวผู้คนในสังคมอเมริกันทั้งปวง

เอฟบีไอเคยมีรายงานเขียนไว้ว่า

มีชายหญิงมากมายในที่ห่างไกลของโลก ที่ไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อของพระเยซู แต่คนเหล่านี้กลับรู้จักและรัก ชาร์ลี แชปลิน

และนั่นคือเรื่องอันตราย

6

เมื่อเกิดลัทธิฟาสซิสม์และความหลงชาติขึ้นในยุโรป ไม่ว่าจะกับนาซีเยอรมันหรือกับมุสโสลินีในอิตาลี ทำให้แชปลินยิ่งถูกดูดเข้าสู่ฝั่งตรงข้าม นั่นคือแนวคิดแบบเสรีนิยมที่ถูกเรียกว่า ‘ฝ่ายซ้าย’

เขาบินไปนิวยอร์กเพื่อพูดในงานที่ถูกมองว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์ เขาขึ้นเวทีที่คาร์เนกี้ฮอลล์ และเรียกผู้ชมว่า comrades หรือ ‘สหาย’ อันเป็นศัพท์คอมมิวนิสต์ และบอกกับคนอื่นๆ ว่า คอมมิวนิสต์ก็คือมนุษย์ธรรมดาๆ เหมือนพวกเราทุกคน เป็นคนที่รักความงาม และรักชีวิตเหมือนกันกับเรานี่เอง

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อเมริกากับรัสเซียก่อสงครามเย็นระหว่างกัน นั่นทำให้เลือดรักชาติอีกแบบที่ไม่ต่างอะไรนักกับลัทธิฟาสซิสม์เติบโตขึ้นในอเมริกา กระทั่งกลายเป็นลัทธิ ‘ล่าคอมมิวนิสต์’ หรือที่หลายคนเรียกว่า McCarthyism อันเป็นวิธีปฏิบัติในการกล่าวหาผู้คนดะไปหมด เกิดจากวิธีการของวุฒิสมาชิกชื่อ โจเซฟ แม็คคาร์ธี (Joseph McCarthy)

*จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดเลย *

ที่แชปลินจะถูก ‘ไล่ออกนอกประเทศ’ ในปีค.ศ. 1952

ที่จริงเขาสามารถกลับเข้าสหรัฐอเมริกาได้ ถ้าหากจะมาผ่านกระบวนการสอบสวนที่เรียกว่า Naturalization เสียก่อน แต่แชปลินปฏิเสธ เขาไม่ได้กลับไปสหรัฐอเมริกาอีกเลยจนกระทั่งถึงปีค.ศ. 1972

นั่นคือปีประวัติศาสตร์ เพราะมันคือปีเดียวกับที่ เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ เสียชีวิต แต่ก็เป็นปีเดียวกันด้วยที่เวทีออสการ์มอบรางวัลเกียรติยศยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ศิลปินคนหนึ่งจะมีได้ นั่นคือรางวัลเกียรติยศ Lifetime Achievement ให้กับชาร์ลี แชปลิน

แล้วอีกห้าปีถัดมา ชาร์ลี แชปลิน ก็เสียชีวิตลงในวันคริสต์มาส

ไม่ - ไม่ใช่ที่อเมริกา ไม่ใช่อังกฤษบ้านเกิด และไม่ใช่ดินแดนคอมมิวนิสต์ที่ไหน

แต่คือดินแดนที่เป็นกลางที่สุดในโลกเท่าที่จะเป็นได้

นั่นคือสวิตเซอร์แลนด์

7

ในตอนแรก ชาร์ลี แชปลิน ลังเล

เขาไม่อยากไปรับรางวัลเกียรติยศนั่นจากเวทีออสการ์ อเมริกาคงสร้างบาดแผลไว้ในใจเขาไม่น้อยทีเดียว

แต่ที่สุด แชปลินก็ตัดสินใจจะไป ผู้เขียนชีวประวัติของแชปลินบอกว่า เขาตัดสินใจไปก็เพื่อ ‘ซ่อมแซม’ ความสัมพันธ์ หรือเพื่อแสดงสัญญาณ ‘คืนดี’ กับอเมริกา ซึ่งก็ประจวบเหมาะมากที่บังเอิญมันคือปีสุดท้ายในชีวิตของฮูเวอร์พอดี

ในงานนั้น ผู้คนยืนปรบมือให้เขานานถึง 12 นาที ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ออสการ์

หลังจากนั้น แชปลินก็อ่อนแอลง เขาอายุมากแล้ว และพูดได้ว่าชีวิตของเขาสมบูรณ์แบบ ผ่านร้อนหนาวมาแล้วทุกแบบ และกระทั่งในวาระสุดท้าย เขาก็ยังสู้ เขามีอาการเส้นเลือดในสมองแตก - ไม่ใช่ครั้งเดียว, ทว่าหลายครั้ง และนั่นทำให้เขาต้องนั่งรถเข็น

ในปีค.ศ. 1975 สถาบันกษัตริย์อังกฤษ ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นอัศวิน แต่เขาอ่อนแอเกินกว่าจะคุกเข่าลง จึงได้รับการแต่งตั้งจากควีนเอลิซาเบธที่สองทั้งที่อยู่บนรถเข็น

เขาเสียชีวิตในเช้าตรู่ของวันคริสต์มาสปีค.ศ. 1977 ในห้อมล้อมของภรรยาคนสุดท้ายและลูกๆ แปดคน

งานศพเล็กๆ จัดข้ึนในวันที่ 27 ธันวาคม ร่างของเขาถูกฝังอยู่ที่สุสาน Corsier-sur-Vevey ในสวิตเซอร์แลนด์ แต่เรื่องราวของเขาก็ยังไม่จบ

ในปีค.ศ. 1978 มีชายสองคนมาขโมยขุดศพของชาร์ลี แชปลิน ไป ด้วยหมายจะเรียกเงินค่าไถ่ศพจากภรรยาของเขา แต่ในที่สุดก็ถูกจับได้ แชปลินถูกชายสองคนนั่นพาร่างไปฝังไว้ในหมู่บ้านใกล้ๆ และสุดท้ายก็มีการนำร่างของเขากลับมายังสุสานเดิม แต่คราวนี้ต้องสร้างรั้วคอนกรีตล้อม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาอีก

ชีวิตของเขาจึงแสนโลดโผน แม้หลังผ่านวาระสุดท้ายไปแล้ว

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • Surapun
    เเชปปลิ้นคือศิลปินสากล​ ทำหนังชีวิตคนจน​ ล้อเลียนยุคปฎิวัติอุตสหกรรม​ ไม่ได้มีประเด็นการเมืองชังชาติป่าวประกาศให้โลกชังประเทศตน​ เพียงแต่อเมริกันยุคนั้นกลัวคอมมิวนิสต์เหมือนขี้ขึ้นสมอง​ .. จะเทียบกับไอ้คนชังชาติไทยแลนด์ที่สิ้นคิดแล้ว​ มันคนละประเด็น​ คนละบริบทกันเลย​ ..
    13 ธ.ค. 2562 เวลา 05.06 น.
  • KungCoffee ☕
    ขอคารวะต่อ ชาร์ลี แชปลิน🙏
    13 ธ.ค. 2562 เวลา 07.54 น.
ดูทั้งหมด