SMEs-การเกษตร

หงส์ดำ สัตว์เลี้ยง เสียงทรัมเป็ต

เทคโนโลยีชาวบ้าน
อัพเดต 09 ก.พ. เวลา 05.12 น. • เผยแพร่ 06 ก.พ. 2565 เวลา 08.00 น.

ขึ้นชื่อว่า “หงส์” ความรู้สึกสง่างาม ทรงพลัง มีอำนาจในการต่อรอง ยิ่งเมื่อผนวกเข้ากับความเชื่อของชาวจีนด้วยแล้ว หงส์ จัดเป็นสัตว์สิริมงคลและศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งดวงอาทิตย์และความอบอุ่นสำหรับฤดูร้อน และฤดูเก็บเกี่ยวพืชไร่ ทั้งยังเป็นเครื่องหมายแห่งคุณงามความดี

แต่หงส์ที่กำลังจะกล่าวถึงในที่นี้ อาจต้องพิเคราะห์อีกครั้งว่า จะมีนัยหรือความหมายตามความเชื่อของชาวจีนหรือไม่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เพราะสีขนของหงส์แปรเปลี่ยนเป็นสีดำ จึงเรียกกันว่า “หงส์ดำ”

บางท่านอาจเคยเห็นแต่หงส์ขาว หงส์ที่มีขนสีขาวตลอดทั้งตัว คราวนี้ หงส์ขาวละไว้ก่อน ขอยกหงส์ดำ หงส์ที่มีขนสีดำตลอดทั้งตัวขึ้นมาแทน

อันที่จริง มีหงส์ที่ขนตลอดลำตัวสีขาว ส่วนขนช่วงลำคอกลับเป็นสีดำ ด้วย แต่ก็ขอกล่าวถึงเฉพาะ “หงส์ดำ” เพียงชนิดเดียวก่อน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หงส์ดำ (Black Swan) เป็นสัตว์สวยงามชนิดหนึ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Cygnus atratus” เป็นสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปออสเตรเลีย เป็นสัตว์ปีกที่มีความสง่างาม เวลาว่ายน้ำลำคอจะโค้งเป็นรูปตัวเอส มีลำคอที่ยาวระหง มีขนสีดำตลอดลำตัว มีขนสีขาวแซมอยู่เล็กน้อยบริเวณปีก ลูกตามีสีแดง ที่ปากจะมีสีแดงสดและมีแถบขาวตรงปลายปาก

ธรรมชาติของหงส์ดำรักการอยู่รวมเป็นฝูง อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น ทะเลสาบ แม่น้ำ หนอง บึง ลำน้ำ ที่ไม่ลึกนัก เพราะหงส์ดำจะดำน้ำลงไปจับสัตว์น้ำหรือพืชน้ำกินเป็นอาหาร

แม้หงส์ดำ จะมีถิ่นกำเนิดในทวีปออสเตรเลีย คนไทยก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าเครื่องบินลัดฟ้าไปชมถึงถิ่นแล้ว เพราะหงส์ดำ มีฟาร์มที่มีระบบการจัดการที่ได้มาตรฐาน เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์หงส์ดำอยู่ในประเทศไทยแล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หนองจอก เขตชานเมืองของกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ แม้จะไม่ทั้งหมดของพื้นที่ แต่ก็ยังคงเหมาะกับการทำเกษตรกรรมอยู่

คุณถาวร สมานตระกูล เจ้าของลำไทรฟาร์ม ฟาร์มที่เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ปีกหลายชนิด “หงส์ดำ” เป็นสัตว์ปีกชนิดหนึ่งที่ดึงดูดและเรียกความสนใจให้กับฟาร์มได้ดีทีเดียว

คุณถาวร เล่าว่า กลุ่มสัตว์ปีกเป็นกลุ่มสัตว์ที่รักและนิยมเลี้ยงมานาน นับแต่วัยรุ่น ถึงเข้าสู่วัยชรา แต่ยังไม่คิดละทิ้งหรือเลิกเลี้ยง แม้จะเริ่มต้นจากสัตว์ปีกทั่วไปที่คนนิยมเลี้ยงในประเทศ เช่น ไก่ นก เป็ด ห่าน หงส์ขาว และเป็นต้นตำรับของผู้ค้าส่งสัตว์ปีกให้กับแหล่งจำหน่ายสัตว์ปีกสวยงามให้กับตลาดนัดสนามหลวง ตลาดนัดจตุจักร ก็ตาม

เมื่อมีสัตว์ปีกตามจำนวนที่ต้องการเกือบครบทุกชนิดแล้ว คุณถาวร มองว่า ความแตกต่างของสัตว์ที่เพาะเลี้ยง น่าจะสร้างประสบการณ์เพิ่มขึ้น จึงมองหาสัตว์ปีกต่างประเทศที่ไม่พบในประเทศไทย และตัดสินใจซื้อ เมื่อพบ “หงส์ดำ” ขายที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) คู่แรก

“เลี้ยงหงส์ดำคู่แรกก็หวังจะได้ลูก เลี้ยงมานาน 2 ปี เพิ่งรู้ว่า คู่แรกที่ซื้อมาเป็นเพศผู้ทั้งคู่”

ด้วยเหตุนี้ ทำให้คุณถาวร แสวงหาแหล่งเพาะเลี้ยงหงส์ดำ และซื้อเพศเมียมาอีก 2 ตัว เพื่อให้เข้าคู่กับหงส์ดำเพศผู้ 2 ตัว ที่มีอยู่

ไม่นานนัก ธรรมชาติของสัตว์ก็ส่งผลให้ลูกหงส์ดำครอกแรกเกิดขึ้น

คุณถาวร ขายพ่อและแม่หงส์ดำ พร้อมลูกอีกจำนวน 5 ตัว วัย 2 เดือน ให้กับลูกค้าที่มาติดต่อขอซื้อ รวมเม็ดเงินที่ได้รับครั้งนั้นเกือบ 1 แสนบาท

คุณถาวร บอกว่า ในยุคนั้น ไม่เคยคิดว่าจะจับเงินแสน และการขายหงส์ดำครั้งนี้จุดประกายให้ตัดสินใจขยายพันธุ์หงส์ดำเพื่อการพาณิชย์

“การสั่งซื้อจากแหล่งเพาะขยายพันธุ์ในต่างประเทศ น่าจะได้หงส์ดำสายพันธุ์ที่ดี จึงสั่งซื้อจากเนเธอร์แลนด์ แม้ว่าจะไม่ใช่ประเทศต้นกำเนิดหงส์ดำ แต่ก็เป็นประเทศที่มีนักวิจัย ทำงานวิจัยและรวบรวมพันธุ์สัตว์เข้ามาเพาะขยายพันธุ์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก”

หงส์ดำ จำนวน 10 ตัว ถูกส่งมาจากเนเธอร์แลนด์มายังลำไทรฟาร์ม ทำให้ลำไทรฟาร์มเป็นสถานที่ที่เพาะเลี้ยงหงส์ดำมากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศไทย

“ความพิเศษของหงส์ดำ คือ การใช้ชีวิตเป็นคู่ เมื่อได้รักแล้วจะไม่เปลี่ยนคู่รักเด็ดขาด ยกเว้นคู่ของมันจะตาย ซึ่งถ้าตายจะนำคู่ใหม่มาทดแทนให้ได้ แต่ถ้ายังไม่เคยมีคู่มาก่อน จับให้คู่กัน หงส์ดำก็จะรักกันไปเอง ” คุณถาวร บอก

ตลอดทุกเย็น หงส์ดำ จะลอยตัวในน้ำ พร้อมกับส่งเสียงร้องไพเราะก้องหู สำเนียงเสียงร้องดังคล้ายเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่ชื่อ “ทรัมเป็ต” หากเลี้ยงไว้เปรียบเสมือนหนึ่ง มีเครื่องดนตรีประโคมให้ฟังในเวลาเย็น

พื้นที่ทั้งหมดของลำไทรฟาร์ม ราว 10 ไร่ แบ่งออกเป็นพื้นที่บ้านพักของปลูกต้นไม้ ส่วนที่เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ปีกราว 7 ไร่ เป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ 5 ไร่ ถูกกั้นด้วยตาข่ายเป็นล็อก ขนาดล็อกละ 30-40 ตารางเมตรต่อหงส์ดำ 1 คู่

พื้นที่เลี้ยงหงส์ดำ ควรเป็นน้ำ 80 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่บก 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะธรรมชาติของหงส์ดำจะอาศัยอยู่ในน้ำช่วงเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ จะขึ้นบกเมื่อต้องการกินอาหารหรือพักผ่อนเท่านั้น

คุณถาวรใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปสำหรับไก่ เลี้ยงหงส์ดำด้วย ให้อาหารเสริมเป็นผัก เช่น ผักตบชวา ผักบุ้ง ซึ่งผักที่หงส์กินเข้าไปจะช่วยระบบขับถ่าย ทั้งนี้ การให้อาหารจะให้วันละ 2 รอบ เช้าและเย็น ปริมาณอาหารต่อรอบ 1 กิโลกรัม แม้หงส์จะเป็นสัตว์สวยงาม แต่เวลากินจะเลอะเทอะไปทั่วบริเวณเลี้ยง เพราะเป็นสัตว์ปากแบน เวลากินจะใช้ปากคีบอาหารเม็ดจุ่มลงในน้ำก่อนกลืน ทำให้อาหารละลายไปกับน้ำบ้าง ดังนั้น อาหารเม็ดที่ให้ไว้ 1 กิโลกรัม ต่อรอบ หงส์จะกินเข้าไปไม่ถึงตามจำนวน

การให้วิตามินสำหรับสัตว์ปีก คุณถาวร เลือกให้เฉพาะหงส์เกิดใหม่ หลังออกจากไข่ในวันที่ 3 ส่วนวิตามินบำรุงขนเลือกให้ได้ทุกฤดู ยกเว้นฤดูร้อนที่หงส์จะผลัดขน

วัยเจริญพันธุ์ของหงส์อยู่ที่อายุ 2 ปี ขึ้นไป

“การดูเพศในหงส์ เป็นเรื่องยาก” คุณถาวร บอก

การดูเพศที่แน่ชัด ต้องขึ้นกับความชำนาญของผู้เลี้ยง แต่การสังเกตเบื้องต้นดูได้จาก หงส์เพศผู้จะคอยาวกว่าเพศเมีย ส่วนเพศเมียนอกจากจะคอสั้นกว่าแล้ว ลำตัวยังป้อมกว่าอีกด้วย นอกจากนี้ พฤติกรรมของหงส์ยังบ่งบอกเพศได้ เช่น เพศเมียจะดูเรียบร้อย อ่อนแอและนุ่มนวลกว่า ส่วนเพศผู้ มักแสดงอาการก้าวร้าว เป็นต้น

การผสมพันธุ์ของหงส์ เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อหงส์จับคู่แล้วจะผสมพันธุ์กัน เมื่อหงส์เพศเมียตั้งท้อง ทั้งคู่จะช่วยกันทำรัง โดยเก็บหญ้าแห้ง เศษฟาง ใบไม้แห้ง มาทำรัง และออกไข่ครั้งละ 5-6 ฟอง ขนาดของไข่หงส์จะใหญ่กว่าไข่เป็ดประมาณ 2 เท่า

ในแต่ละปี หงส์ดำจะผสมพันธุ์และตั้งท้อง 4 รอบ

การฟักไข่ พ่อแม่หงส์จะผลัดเวรยามกันกกไข่ หงส์เป็นสัตว์ที่หวงไข่มาก ไม่เหมือนสัตว์ปีกบางชนิดที่ออกไปหาอาหารและทิ้งไข่ไว้ในรัง โดยไม่มีพ่อหรือแม่กก

คุณถาวร อธิบายว่า อัตราการรอดของลูกหงส์มีน้อย หากให้พ่อและแม่หงส์ฟักไข่เอง บางครั้งจากจำนวน 5-6 ฟอง อาจไม่เหลือลูกหงส์รอดสักตัว ดังนั้น เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการรอดของลูกหงส์ จึงใช้วิธีให้พ่อและแม่หงส์ดำกกไข่เองประมาณ 7 วัน จากนั้นนำมาตรวจหาเชื้อ หากพบว่ามีเชื้อก็จะเจาะรูเล็กๆ ที่ไข่ นำกลับไปให้พ่อแม่หงส์กกไข่เองต่ออีก 20 วัน จากนั้นนำเข้าตู้ฟัก 5-7 วัน ใช้อุณหภูมิภายในตู้ 105 องศาฟาเรนไฮต์ หมั่นกลับไข่ภายในตู้ฟักเรื่อยๆ

การดูเชื้อภายในไข่หงส์ ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณถาวร บอกว่า จำเป็นต้องใช้ความชำนาญ เพราะเปลือกไข่หงส์หนากว่าเปลือกไข่ไก่หรือไข่เป็ดปกติ การส่องไฟในบางครั้งก็ไม่ได้ประโยชน์

“อัตราการรอดของลูกหงส์มีน้อยมาก แม้จะนำเข้าตู้ฟักแล้วก็ตาม หากจะปล่อยให้พ่อแม่หงส์ฟักเอง โอกาสเหยียบลูกตายมีสูง และลูกหงส์อาจถูกมดเข้าไปกัดก่อนฟักเป็นตัวด้วย”

คุณถาวร เล่าว่า ลูกหงส์เกิดใหม่จะขี้เหร่ ไม่สวย สีเทาหม่น ไม่น่ารักเหมือนพ่อแม่ แต่เมื่อลูกหงส์มีอายุประมาณ 2 เดือน เริ่มถ่ายขน ขนใหม่ขึ้นมา ทางฟาร์มจะตัดปลายปีก เพื่อไม่ให้บิน จะแยกลูกหงส์ไว้ นำไปอนุบาล และเริ่มจำหน่ายเมื่ออายุ 3 เดือน ในราคาคู่ละประมาณ 20,000 บาท

การตัดปีก ไม่มีผลใดๆ ต่อหงส์ ยกเว้นทำให้หงส์บินไม่ได้เท่านั้น และลูกค้าที่ซื้อไปเลี้ยงจะสังเกตว่าหงส์ถูกตัดปีกก็ต่อเมื่อ หงส์กางปีก จึงจะทราบว่าปีกทั้งสองข้างไม่เท่ากัน

คุณถาวร ย้ำชัดเจนว่า การเลี้ยงหงส์ดำ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นสัตว์ที่ปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ เลี้ยงไว้สวยงาม ลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม ลูกค้าจำนวนหนึ่งอยู่ในกลุ่มมีฐานะ เพราะหงส์เป็นสัตว์ที่อยู่ในตระกูลสูง จะเสริมบารมีให้กับผู้เลี้ยง

สำหรับ ลำไทรฟาร์ม คุณถาวร บอกว่า ไม่ได้มีขึ้นเพื่อเป็นสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์ปีก เพื่อจำหน่ายเท่านั้น แต่พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สำหรับผู้สนใจ เพราะนอกเหนือจากหงส์ดำที่กล่าวมาแล้ว ยังมีสัตว์ปีกหาชมได้ยากอีกหลากชนิด อาทิ นกมาคอว์บลูแอนโกล์ด นกแอฟริกันเกรย์ นกเลิฟเบิร์ด เป็นต้น

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันพฤหัสที่ 20 กันยายน พ.ศ.2561

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : หงส์ดำ สัตว์เลี้ยง เสียงทรัมเป็ต

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.technologychaoban.com

ดูข่าวต้นฉบับ