ทั่วไป

นักวิจัย มข.ขับเคลื่อน BCG Model นำถั่วเหลืองมข.60 ปรับปรุงดินเพิ่มผลผลิตอ้อย

Manager Online
เผยแพร่ 28 ส.ค. เวลา 06.13 น. • MGR Online

ศูนย์ข่าวขอนแก่น-นักวิจัยมข. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ตามแนวทาง BCG Model ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองมข.60 เน้นใช้ประโยชน์จากถั่วเหลือง พัฒนาความสมบูรณ์ของดินในแปลงปลูกอ้อยภาคอีสาน สนองความต้องการเกษตรกรมุ่งเพิ่มผลผลิตและยกระดับความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ไร่บัวพักเกวียน บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ตามแนวทาง BCG Model ที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากถั่วเหลืองเพื่อการจัดการและพัฒนาความสมบูรณ์ของดินในพื้นที่ปลูกอ้อย ที่ แปลงทดลองการผลิต “เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองพันธุ์ มข 60” ในฤดูฝน ที่ไร่บัวพักเกวียนฯ

สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ตามแนวทาง BCG Model มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากถั่วเหลือง เพื่อการจัดการและพัฒนาความสมบูรณ์ของดินในพื้นที่ปลูกอ้อย เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างเครือข่ายวิจัย บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด มีวัตถุประสงค์ เพื่อการผลิต “เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองพันธุ์ มข 60” ฤดูฝน ในอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ สำหรับการขยายการผลิตถั่วเหลืองหลังการทำนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ก่อนฤดูกาลปลูกอ้อยและเพิ่มผลผลิตอ้อย รวมทั้งช่วยเพิ่มปริมาณกักเก็บคาร์บอนในดิน

ผศ.ดร.สมพงศ์ จันทร์แก้ว หัวหน้าสาขาวิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ หัวหน้าทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า “ถั่วเหลืองพันธุ์ มข 60” เป็นถั่วเหลืองพันธุ์ใหม่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีศักยภาพการให้ผลผลิตในพื้นที่ หากสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองพันธุ์ มข 60 หมุนเวียนตลอดปี ทั้งในพื้นที่ดอนช่วงหน้าฝนในแปลงอ้อยที่รื้อตอและพักแปลง และฤดูแล้งหลังทำนา สามารถส่งเสริมและขยายพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองเป็นวงกว้างได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ไม่มีปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์และความไม่เหมาะสมของพันธุ์ต่อพื้นที่ ซึ่งการลงพื้นที่ติดตามครั้งนี้ ถือเป็นการตรวจสอบความก้าวหน้า และตรวจสอบประสิทธิภาพของโครงการที่มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในท้องถิ่น และเป็นการยืนยันถึงความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคเอกชนในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ต่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ด้านศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน กล่าวว่าการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในด้าน SDG 2 และ SDG 15 ซึ่งเน้นการพัฒนาพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูงและมีประสิทธิภาพบำรุงดิน เป็นการตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิตและยกระดับความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่

นอกจากนี้การสร้างความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ถั่วเหลือง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของดินและอาหารสัตว์ ยังเป็นการสนับสนุน SDG 9 โดยการนำเสนอวิธีการใหม่ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นและบริษัทมิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ผ่านการวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมต่อไป

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

ดูข่าวต้นฉบับ