ทีเส็บเตรียมจัดงาน WORLD TEA & COFFEE EXPO 2024 มุ่งปั้นเชียงรายเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยว-ด้านชากาแฟของภูมิภาคอาเซียน หนุนศักยภาพพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทยให้เป็นศูนย์กลางการค้า-การลงทุน-อุตสาหกรรม ระหว่างวันที่ 28-30 ก.ย.นี้ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
วันที่ 10 กันยายน 2567 นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ได้ร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน สานต่อโครงการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสินค้าชุมชน โดยการจัดงาน WORLD TEA & COFFEE EXPO 2024 ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2567 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ภายใต้แนวคิด เชียงรายมีดี ชาดี กาแฟดี ชูจุดแข็งจังหวัดเชียงรายในการเป็นจุดหมายปลายทาง Destination Branding ของการจัดงานไมซ์ (MICE) ด้านชาและกาแฟ ในระดับนานาชาติ สานต่อยุทธศาสตร์ความร่วมมือในทุกมิติเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เชื่อมโยงทุกห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพื่อสนับสนุนศักยภาพพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทยให้เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวด้านชา-กาแฟของภูมิภาคอาเซียน
นายจิรุตถ์กล่าวว่าปีพุทธศักราช 2517 หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนิน ในพื้นที่ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โครงการหลวง ทั่วพื้นที่ภาคเหนือจึงรับพระราโชบาย ให้เกษตรกรริเริ่มปลูกกาแฟในฐานะของพืชทดแทนพืชเสพติด ซึ่งนำมาสู่ความหมายสำคัญ ในการแก้ปัญหายุทธศาสตร์ของชาติ จนประเทศไทยหลุดพ้นจากรายชื่อประเทศผู้ผลิตฝิ่น จากมุมมองขององค์กรระหว่างประเทศได้สำเร็จ
ปีนี้จึงถือเป็นการครบ 50 ปี ของเส้นทางสายพันธุ์กาแฟอาราบิก้ายุคใหม่ ที่มีการค้นคว้า พัฒนาอย่างจริงจัง ส่งผลให้ปัจจุบันตลาดกาแฟของประเทศไทย เติบโตขยายใหญ่มากขึ้น ผลผลิตได้รับการยอมรับจากทั้งในระดับประเทศและสากล ชา กาแฟ จึงไม่ใช่แค่เครื่องดื่ม แต่มีความสำคัญต่อเรื่องราววิถีชีวิต ที่เกี่ยวพันกับชุมชน จากขุนเขาสู่เมืองใหญ่ จากไร่ชา กาแฟ สู่คาเฟ่หลายหมื่นแห่งทั่วประเทศ และทวีความหมายอย่างยิ่งต่อพี่น้องเกษตรกรตลอดจนผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้
และด้วยศักยภาพของจังหวัดเชียงราย ทีเส็บจึงได้ส่งเสริมการสร้างชื่อเสียง หรือ Destination Branding ตอกย้ำให้เชียงรายเป็นแหล่งผลิตชาและกาแฟคุณภาพชั้นเลิศ ครอบคลุมการดำเนินงานในทุกมิติอย่างยั่งยืน ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้แปรรูป ตลอดจนผู้ประกอบการ นับเป็นส่วนหนึ่งของการขยายขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติของประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางการจัดงานไมซ์ ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่มีศักยภาพให้เชียงรายเป็นอีกหนึ่งจุดดึงดูดนักเดินทางไมซ์จากต่างประเทศ
ด้านหม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับ ชา-กาแฟ จังหวัดเชียงราย ในครั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีภารกิจต่อการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถอดบทเรียนความรู้ จากวิกฤติในแต่ละช่วงเวลาของ ชา-กาแฟ สร้างองค์ความรู้ที่สำคัญให้แก่ชุมชนและจังหวัดเชียงรายได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
สำหรับงาน WORLD TEA & COFFEE EXPO ครั้งนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจัดการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจจากจังหวัดเป้าหมาย มาร่วมเรียนรู้เส้นทางกาแฟในกิจกรรมเส้นทางเชิงสร้างสรรค์ และการสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกร เชื่อมโยงการจัดงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ในโครงการดอยตุง ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนจากภารกิจของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
เพื่อร่วมสื่อสารผ่านกิจกรรมการจัดงานแสดงสินค้า การจัดการประชุมนานาชาติ และกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายธุรกิจ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาต่อยอดให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสินค้าชุมชน ที่สร้างสรรค์จากชาและกาแฟอันเป็นเลิศของจังหวัดเชียงราย เป็นหมุดหมายสำคัญของผู้คนทั่วไปที่จะเข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้ศักยภาพของจังหวัดเชียงรายต่อไปในอนาคต
ขณะที่ นางสุพัตรา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักนโยบายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ บริษัทกลุ่ม เซ็นทรัล จำกัด กล่าวเพิ่มเติมถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ในฐานะภาคีเครือข่ายชา-กาแฟ เชียงราย เซ็นทรัล ได้ให้การสนับสนุนผ่านโครงการ CENTRAL THAM ที่ได้ส่งเสริมเกษตรกรอย่างครบวงจร
โดยได้กลุ่มพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ปลูกกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ลดการตัดต้นไม้ทำลายป่าลดหมอกควันเพิ่มพื้นที่สีเขียว พัฒนาชุมชนภูชี้เดือน ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ที่ประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนจากการผลิตกาแฟพันธุ์
รวมถึงการทำโรงคั่วกาแฟ ขยายช่องทางการขาย ส่งเสริมการทำการตลาด จนสร้างแบรนด์ “ภูชี้เดือน” ได้สำเร็จ การจัดงาน WORLD TEA & COFFEE EXPO 2024 ในครั้งนี้ เซ็นทรัล พร้อมที่จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์เดียวกัน
เช่นเดียวกับ นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวถึงรายละเอียดการจัดงาน WORLD TEA & COFFEE EXPO 2024 ว่าการจัดงานครั้งนี้ประกอบไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย เป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของเครือข่ายเกษตรกร นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และนักลงทุนจากทั่วประเทศ ที่จะมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองต่ออุตสาหกรรมชาและกาแฟของไทย
การจัดนิทรรศการจากองค์กร เครือข่ายแสดงศักยภาพของชากาแฟภาคเหนือ, โซนองค์ความรู้ 50 ปี เรื่องราวกาแฟบนภูดอย, การออกร้านจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์จากชาและกาแฟร้านท้องถิ่นของจังหวัดเชียงราย และภาคเหนือรวมกว่า 50 บูธ
เช่น สวรรค์บนดิน โรงงานชาสุวิรุฬห์, กิจกรรมเวิร์คช้อปการชงชา การดริปกาแฟสายพันธุ์พิเศษ, กิจกรรมการชิมชา 36 ชนิด, กิจกรรมการ โชว์ลาเต้ อาร์ตศิลปะบนแก้วกาแฟอันน่าทึ่ง พร้อมดื่มด่ำไปกับบทเพลงจาก แก้ม-วิชญาณี และกิจกรรมร่วมสนุกรับของรางวัลมากมาย
นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาให้ความรู้เรื่อง ชา-กาแฟ รวมไปถึง กิจกรรมการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมชากาแฟ พร้อมนำเสนอเส้นทาง การท่องเที่ยวที่จะมอบประสบการณ์ครั้งใหม่ที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์บนเส้นทางสายไมซ์
การจัดงานในครั้งนี้ จึงเป็นการส่งเสริมระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของอุตสาหกรรมชาและกาแฟ ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้ประกอบการ สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทางการตลาด พร้อมสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศได้อย่างครบวงจร
ทั้งนี้ ร่วมยกระดับศักยภาพชาและกาแฟเชียงราย ต่อยอดสู่การเป็นหมุดหมายของการจัดงานไมซ์ด้านชาและกาแฟระดับนานาชาติ ในงาน WORLD TEA & COFFEE EXPO 2024 ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2567 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ทีเส็บ ปั้นเชียงรายเป็นจุดหมายปลายทางด้านท่องเที่ยว-ชากาแฟของภูมิภาคอาเซียน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net