(26 ม.ค.66) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดตัวโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์แปลผลอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ ตับ ไต หัวใจ ตับอ่อนจากผลตรวจเลือด สะท้อนภาวะร่างกายแบบเข้าใจง่าย โดยมีศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยศาสตราจารย์พัชรี เจียรนัยกร นักวิจัยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหัวหน้าโครงการดัชนีความเยาว์วัยของร่างกายแบบองค์รวมจากปัญญาประดิษฐ์ข้อมูลสุขภาพ รองศาสตราจารย์ จุรีรัตน์ ดาดวง คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ และมีผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย เชื้อวัชรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (Center of Excellence on Medical Biotechnology : CEMB) ศาตราจารย์ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ อาทิ อุปกรณ์ทางการแพทย์ (medical device) ชุดตรวจโรค (Lab diagnostics) และ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนชาวไทยและระดับนานาชาติ เพื่อรองรับ medical hub ที่กำลังจะเกิดขึ้น ฉะนั้น โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์แปลผลอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ ตับ ไต หัวใจ ตับอ่อนจากผลตรวจเลือด สะท้อนภาวะร่างกายแบบเข้าใจง่าย (Health AI for Biological Age and Importance organs) หรือ AI for healthcare จึงเกิดขึ้น โดยความร่วมมือจากทีมนักวิจัยจากหลากหลายคณะ บูรณาการสร้างนวัตกรรมจากฐานข้อมูลสุขภาพที่มีอยู่ซึ่งครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตัวโปรแกรมนี้เป็นตัวช่วยให้บุคคลระมัดระวังเรื่องการพักผ่อน พฤติกรรมและการบริโภค โดยหวังว่าโปรแกรมนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนโดยรวมของประเทศได้
ศาสตราจารย์พัชรี เจียรนัยกร นักวิจัยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหัวหน้าโครงการดัชนีความเยาว์วัยของร่างกายแบบองค์รวมจากปัญญาประดิษฐ์ข้อมูลสุขภาพ เผยว่า การวิจัยเป็นการนำฐานข้อมูลสุขภาพที่มีอยู่ซึ่งครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากเขตสุขภาพ 7 8 9 10 โดยใช้ข้อมูลผู้มีสุขภาพดี 59,675 ชุด และฐานข้อมูลจากผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพเชิงลึกอีกประมาณ 3,000 ราย ข้อมูลที่เก็บใหม่จะมีการเก็บสมการพยากรณ์อายุชีวภาพจากความยาวเทโลเมียร์ หรือส่วนปลายของโคโมโซม เมื่อร่างกายเรามีการแบ่งตัวไปเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น ส่วนปลายหรือที่เรียกว่าเทโลเมียร์ จะมีการหดสั้นลง ในทุก ๆ รอบในการแบ่งตัว
ผลการวิจัยพบว่าค่าการตรวจผลเลือดมีสมการเกี่ยวเนื่องกับอายุที่เพิ่มขึ้นตามวัย เมื่อนำมาประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ จนกระทั่งนำมาสู่การใช้ได้จริงในการประเมินอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ 4 อวัยวะได้แก่ ตับ ตับอ่อน ไต หัวใจ มีความแม่นยำเมื่อเทียบกับวิธีมาตรฐาน ร้อยละ 83.7 ในเพศหญิง และ 81.5 ในเพศชาย โปรแกรม Health AI จะทำหน้าที่ประมวลข้อมูลที่ได้จากผลตรวจเลือด ประมวลออกมาเป็นค่าอายุร่างกาย เช่นผลทดสอบการทำงานของหัวใจ จะประมวลค่าไขมันในเลือด คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันเลว และไขมันดี ในโปรแกรมจะแสดงค่าผลเลือดความเสี่ยงการทำงานของหัวใจ ค่าปกติจะอยู่ที่สีเหลือง หรือเขียว ยิ่งอยู่ไปทางสีแดงแปลว่า อันตรายต้องรีบปรึกษาแพทย์ อัลกอริทึมจะแปลคำแนะนำตามผลแลปที่ได้ในแต่ละบุคคล โดยมีเป้าหมายว่า ถ้าเราจะส่งเสริม ให้คนมีสุขภาพดี จึงทำให้ร่างกายใกล้เคียงกับอายุจริง หรือจะส่งเสริมให้ดีกว่านั้นคือการชะลอวัย ทำให้อายุร่างกายอ่อนเยาว์กว่าอายุจริงของเรา กระตุ้นเตือนให้ประชาชนใส่ใจรักสุขภาพมากขึ้น นั่นคือเป้าหมายของโครงการ
ศาสตราจารย์ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า “Health AI เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ยกระดับเป็นนวัตกรรมจนสู่การเปิดบริการเชิงพาณิชย์ภายใต้การดำเนินงานของเครือข่ายศูนย์ชุดตรวจวินิจฉัยโรค โดย บพข. ให้การสนับสนุนงานประมาณดำเนินงานของศูนย์พัฒนานวัตกรรมและมาตรฐานทางเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด (Center for Innovation and Standard for Medical Technology and Physical Therapy; CISMaP) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 เครือข่ายศูนย์ชุดตรวจวินิจฉัยโรค ทั้งนี้แผนงานสุขภาพและการแพทย์ บพข. มีพันธกิจสำคัญในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องมือแพทย์ (Medical Devices) และเพิ่มทักษะ (Skills) ด้านการวิจัยจนถึงระบบมาตรฐานสากล โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิตและยกระดับสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติ”
ทั้งนี้ โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์แปลผลอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ ตับ ไต หัวใจ ตับอ่อนจากผลตรวจเลือด สะท้อนภาวะร่างกายแบบเข้าใจง่าย (Health AI for Biological Age and Importance organs) หรือ AI for healthcare ได้เปิดข้อตกลงความร่วมมือรองรับการใช้งานในกลุ่มสถานบริการสุขภาพ/บริษัท health technology สถานประกอบการที่สนใจติดต่อผ่านฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คลิกhttps://innoprise.kku.ac.th/ รวมถึงการใช้งานรายบุคคลในรูปแบบแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ โดยประชาชนที่มีผลตรวจเลือดแล้วสามารถใช้บริการโปรแกรมผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดด้านล่าง