เมื่อเกิดข้อพิพาทหรือมีข้อขัดแย้งขึ้นระหว่างคนสองคนหรือคู่ขัดแย้ง
หลายท่านนึงถึงการฟ้องร้องในศาล หรือแจ้งความที่สถานีตำรวจ ท่านทราบหรือไม่ว่า
ถึงจะฟ้องร้องกันก็ตาม หากปราศจากการจัดการข้อยัดแย้งที่ดีแล้ว ความขัดแย้งเพียงเรื่องเล็กน้อยจะพัฒนากลายเป็นความขัดแย้งระดับรุนแรง เกิดความเสียหายทั้งร่างกายและจิตใจ เราจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดข้อพิพาทและข้อขัดแย้งหรือถ้าเกิดข้อพิพาทแล้ว จะต้องบริหารจัดการอย่างไร ไม่ให้เกิดความรุนแรงและเสียหายใหญ่หลวง ใครควรเป็นผู้จัดการระงับข้อพิพาทนั้น เพื่อสร้างความพึงพอใจและเยียวยาความรู้สึกของคู่พิพาทให้จบลงอย่างสันติ
หลายท่านอาจเคยได้ยินนักระงับข้อพิพาท เรียกว่า “ผู้ไกล่เกลี่ย” คือ ผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพในการจัดการระงับความขัดแย้งหรือข้อพิพาท บางองค์กรเรียกว่า นักจัดการความขัดแย้ง ส่วนผู้ไกล่เกลี่ยที่ทำหน้าที่ในศาลเรียกว่า ผู้ประนีประนอม สำหรับหลายท่านอาจฟังดูไม่คุ้นหู เพราะศาสตร์การจัดการความขัดแย้ง ยังจำกัดเฉพาะกลุ่มผู้สนใจด้านสันติศึกษาและความขัดแย้ง เช่น นักสันติวิธี นักสิทธิมนุษยชน ผู้ประนีประนอม นักสังคมสงเคราะห์ และนักกิจกรรมด้านสันติภาพ
ผู้ไกล่เกลี่ย เป็นคนกลางที่ช่วยอำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ เสนอแนวทาง และหาทางออกที่ทั้งคู่พิพาทพึงพอใจ นำมาสู่การมีข้อตกลงร่วมกันอย่างสมานฉันท์ อาศัยกระบวนการพูดคุยและกระบวนการสานเสวนาด้วยสันติวิธี ค้นหาความต้องการที่แท้จริงของคู่พิพาท โดยคนกลางไม่เป็นผู้ตัดสินใจแทน ไม่เอียงเอนสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเด็ดขาด และไม่สามารถชี้ผิดชี้ถูกหรือตัดสินว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด
ในอดีต การเป็นผู้ไกล่เกลี่ยไม่ได้เปิดกว้าง และไม่ใช่เรื่องปกติที่ใครก็สามารถเข้าถึง ส่วนใหญ่ผู้ไกล่เกลี่ยจะสังกัดประจำตามศาลต่าง ๆ เช่น ศาลแรงงาน ศาลแพ่ง และศาลอาญา ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยในศาลเรียกว่า “ผู้ประนีประนอม” มีคุณสมบัติหลายข้อ เช่น ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์ การศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี มีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี มีความพร้อมที่จะอาสาในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เป็นผู้ล้มละลายไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมเสื่อมเสียหรือพกพร่องในศีลธรรมอันดี เป็นต้น
คุณสมบัติเบื้องต้นเป็นตัวกำหนดคุณวุฒิและวัยวุฒิ เหมาะสมต่อการเป็นผู้ไกล่เกลี่ย สร้างความภูมิฐานและให้ความน่าเชื่อถือต่อคู่พิพาท ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ส่วนใหญ่จึงเป็นผู้เกษียณอายุ เจ้าของกิจการ ผู้มีธุรกิจส่วนตัว และมีจิตอาสา ผ่านประสบการณ์ชีวิตและเผชิญการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ สามารถประยุกต์และเป็นประโยชน์ต่อการไกล่เกลี่ย ในแต่ละปีศาลจะเปิดรับสมัครบุคคลภายนอก ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ไม่ใช่บุคลากรของศาลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ประนีประนอมตามวาระที่ศาลกำหนด ดังนั้นการจะเป็นผู้ประนีประนอมหรือผู้ไกล่เกลี่ยประจำศาลจึงมีเงื่อนไขที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
นอกจากผู้ประนีประนอมประจำศาล ยังมีผู้ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาท อีกแบบหนึ่งที่ไม่ต้อง ทำหน้าที่ประจำศาล แต่ได้รับการแต่งตั้งจากราชการให้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้เช่นกัน ในปัจจุบันพบว่า คนรุ่นใหม่ สนใจเข้าฝึกอบรมและขอขึ้นทะเบียนมากยิ่งขึ้น คือ ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ประชาชนทั่วไปอาสาเข้ามาทำหน้า ที่เป็นตัวกลางระงับข้อพิพาท ในชุมชนของตนเอง โดยไม่ต้องไปตกลงแบบขึ้นโรงขึ้นศาล สามารถตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างคู่พิพาท และใช้เป็นหลักฐานบังคับตามกฎหมายได้
ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน เป็นบุคคลทั่วไป ต้องผ่านหลักสูตรอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เมื่อผ่านหลักสูตรแล้ว สามารถขอขึ้นทะเบียนผู้ไกล่เกลี่ย โดยมีคุณสมบัติเบื้องต้น คือ อายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี ไม่เคยต้องคดีร้ายแรงและถูกตัดสินจำคุก ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย และไม่จำกัดระดับการศึกษา ซึ่งต่างจากผู้ประนีประนอมประจำศาลจะกำหนดขั้นต่ำที่ปริญญาตรี
ผู้ไกล่เกลี่ยมีหน้าที่และอำนาจ ในการกำหนดแนวทางและจัดให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างคู่พิพาทหรือคู่ขัดแย้งที่สมัครใจเข้ารับการไกล่เกลี่ย ให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก และเสนอแนะคู่พิพาท ในการแสวงหาแนวทางยุติข้อพิพาทโดยสันติวิธี โดยดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วยความเป็นธรรม หากไกล่เกลี่ยสำเร็จมีหน้าที่จัดทำข้อตกลงระงับข้อพิพาทตามผลของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งเกิดขึ้น จากความพึงพอใจของคู่พิพาท
ผู้ไกล่เกลี่ยต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างดีก่อนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย เช่น
- มีความรู้ความเข้าใจในพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562
- เข้าใจระเบียบกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน
- มีความรู้เกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีความขัดแย้งและการระงับข้อพิพาท
- ได้รับการฝึกทักษะการเป็นผู้ไกล่เกลี่ย
- เข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาท
- ต้องยึดจริยธรรมของผู้ไกล่เกลี่ย
ผู้ไกล่เกลี่ยสามารถระงับและช่วยยุติข้อพิพาทหรือความขัดแย้งได้สำเร็จ ประโยชน์จึงเกิดขึ้นต่อคู่ขัดแย้งที่กำลังเดือดร้อนให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางเลือกได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยความยินยอมของคู่กรณี มีผลให้ปริมาณคดีที่ต้องฟ้องร้องต่อศาลลดลง ลดปัญหาความขัดแย้ง สร้างความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม และเสริมสร้างวัฒนธรรมสันติ ยิ่งไปกว่านั้น
ผู้สมัครใจเข้ารับการไกล่เกลี่ยจะไม่เสียค่าใช้จ่าย
สิ่งที่คนรุ่นใหม่สนใจ คือ การได้ใช้ทักษะการสื่อสาร การเจรจาสมัยใหม่ การใช้กระบวนการสานเสวนา และการใช้หลักสันติเสวนา ประยุกต์ใช้แก้ข้อขัดแย้งจริง และสามารถพัฒนาเป็นอาชีพใหม่ได้ ในต่างประเทศ เอกชนสามารถเปิดรับการไกล่เกลี่ยและเก็บค่าบริการ มีอัตราค่อยข้างสูง ในประเทศไทย หากการไกล่เกลี่ยมีพัฒนาการมากยิ่งขึ้น อาจมีวิชาชีพนักไกล่เกลี่ยก็เป็นได้ในอนาคต ยิ่งในสภาพและสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน คนรุ่นใหม่แสวงหาความลงตัวและสนใจเป็นผู้นำสันติและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงมากมาย การเป็นผู้ไกล่เกลี่ยจึงเป็นอีกอาชีพหนึ่ง ที่คนรุ่นใหม่ที่มีไฟ มีความเป็นผู้นำ รู้เท่าทันทางเทคโนโลยี จึงเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพร้อมกับการเป็นผู้รักษาคู่ขัดแย้ง เพื่อสังคมที่สงบสันติ ลดความรุนแรงทางสังคมลงไปได้ไม่มากก็น้อย
.
ที่มาของภาพและข้อมูลเพิ่มเติม
- Legal Studies. “Being a Mediator: Helping People Resolve Disputes Without Coming to Blows” เข้าถึงได้จาก https://www.legalstudies.com/being-a-mediator-helping-people-resolve-disputes-without-coming-to-blows/
- พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 เข้าถึงได้จาก https://www.ocpb.go.th/download/article/article_20190524081102.pdf
- ไทยแลนด์พลัสทีวี. “กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ภาคประชาชน “เร่งสร้างสังคมสมานฉันท์ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ปี 2565 ให้ประชาชน”. เข้าถึงได้จาก https://www.thailandplus.tv/archives/452728