การเมือง

เปิดทีมบริการเสริม “ทำเนียบเศรษฐา” แบ็กอัพกฎหมาย-ที่ปรึกษาราชสำนัก

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 09 ก.ย 2566 เวลา 00.55 น. • เผยแพร่ 09 ก.ย 2566 เวลา 00.38 น.

มือไม้รอบกาย “เศรษฐา ทวีสิน” นอกจากทีมการเมืองที่มาจาก “ทีมงานชินวัตร” แล้ว ยังมี “บริวาร-ลูกน้องเก่า” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯรุ่นพี่ ที่สแตนด์บายให้เรียกใช้บริการเป็น “กำลังเสริม”

คนแรกที่ “ร่วมหัวจมท้าย” รัฐบาลประยุทธ์ ตลอด 9 ปี ตั้งแต่เป็นรองเลขาฯ ครม. เป็น “ลูกหม้อ สลค.” ตั้งแต่อยู่หน้าห้อง “วิษณุ เครืองาม” สมัยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการ ครม. คือ “ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส” ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตั้งแต่ปี’57 เป็นต้นมา “ปลัดกิ๊ก” อัพเลเวลจากผู้อำนวยการสำนักงาน สำนักวิเคราะห์เรื่องเสนอ ครม. เป็นที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการ ครม.

โดยได้รับการประเมินจาก สำนักงาน ก.พ. เป็นผู้มีคุณสมบัติ-ผลงานที่แสดงถึงความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญเหมาะสมกับตำแหน่ง

ปี’58 ธีระพงษ์ ได้รับการโปรโมตจาก “เลขาฯ กบ” อำพน กิตติอำพน องคมนตรี ให้เป็น “รองเลขาฯ ครม.” และได้รับความไว้วางใจให้เป็น “โฆษกหน่วยงาน” จากรายชื่อระดับ “หัวกะทิ” ที่คัดมาเป็น โฆษกกระทรวง 15 หน่วยงาน ตาม “ข้อสั่งการ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการปรับปรุงงานประชาสัมพันธ์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ก่อนจะขยับขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสูงสุดคือ เลขาธิการ ครม. และไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการสำคัญชุดต่าง ๆ ทั้งในหน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ

เมื่อดำรงตำแหน่งเลขาฯ ครม.ครบวาระ 4 ปี ได้รับการ “ต่ออายุ” ต่อไปอีก 1 ปี “เพื่อประโยชน์ทางราชการ” ก่อนจะโอนย้ายไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ

ก่อนที่ “ธีระพงษ์” จะจอดป้ายสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจนมาถึงปัจจุบัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์” เลขาธิการ ครม. “รุ่นน้อง” เป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่ในไลน์ “ทีมงานตึกไทยคู่ฟ้า” ได้รับการแต่งตั้งจากผู้อำนวยการกองวิเคราะห์เรื่องเสนอ ครม. ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ก่อนจะขยับขึ้นมาเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตเลขาฯ ครม. ในตำแหน่ง รองเลขาธิการ ครม. และโอนมาดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “ณัฏฐ์จารี” เป็นคนเดียวที่ถูกดึงตัวขึ้นไปเรียนรู้งานกับ “เลขาฯ กิ๊ก” บนตึกไทยคู่ฟ้า และขึ้นแท่น เลขาฯ ครม. ในที่สุด

อีกคนคือ“ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อาจกล่าวได้ว่าเป็นศิษย์ก้นกุฏิสำนัก มีชัย ฤชุพันธุ์ อีกคนต่อจากเนติบริกร-วิษณุ เครืองาม และ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ”

“ปกรณ์” ไต่ระดับจากกรรมการร่างกฎหมายประจำ “นักกฎหมายกฤษฎีกาเชี่ยวชาญ” ตำแหน่งเลขที่ 10 กลุ่มร่างกฎหมายและให้ความเห็นทางกฎหมาย เป็นนักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิตำแหน่งเลขที่ 9 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

“ปกรณ์” ลับคมมีดวิชากฎหมายอยู่ในสำนักที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาลอยู่ 5 ปี เขาถูกเสนอชื่อให้เป็น “รองเลขาฯกฤษฎีกา” ในฐานะเป็นผู้มีความรู้-ความสามารถทางด้านกฎหมาย และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั้งภายใน-ภายนอก

“โดยเฉพาะในด้านการพัฒนากฎหมายและการวิจัย และมีความประพฤติดี มีประวัติการทำงานดีเด่น มีความอุตสาหะวิริยะในการปฏิบัติงาน ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ให้เป็นผลสำเร็จอย่างดี-มีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์แก่ทางราชการตลอดมา”

เป็นคำสาธยายตามลายลักษณ์อักษรของนายดิสทัต โหรตระกิตย์ เลขาธิการกฤษฎีกาในขณะนั้น บรรยายคุณสมบัติแนบประวัติใส่แฟ้มเสนอนายวิษณุ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ครม.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์นั่งหัวโต๊ะ

ในปี’59 พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีให้ “ปกรณ์” ดำรงตำแหน่ง “รองเลขาฯ ครม.” อีกตำแหน่งหนึ่งเป็นการชั่วคราว

แต่ไม่ถึง 3 เดือน นายวิษณุก็ขอความเห็นชอบ ครม.ให้ “ทบทวนมติ” ให้เหลือรองเลขาฯกฤษฎีกา “ตำแหน่งเดียว” ในช่วงเวลานั้นยังได้รับหน้าที่-บทบาทสำคัญในฐานะ “เลขานุการกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” ปี’60

หลังจากนั้น 1 ปี “ปกรณ์” ได้รับโอนไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) แทน “ทศพร ศิริสัมพันธ์”

เพราะถูก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจขณะนั้น ดึงไปช่วยงานเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนที่จะกลับมาผงาดในตำแหน่งสูงสุด เป็น “เลขาฯกฤษฎีกาคนที่ 20”

“ปกรณ์” มีบทบาทออกมาตอบโต้การเมืองปั่นกระแสรุกไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อย่างถึงพริกถึงขิง เช่น กรณีการออกร่างกฎกระทรวงให้ต่างชาติซื้อที่ดิน ที่ถูกประทับตราบาปว่าเป็น “กฎหมายขายชาติ” และถูกปั่นกระแสลักหลับ-ลักไก่” ตัดเบี้ยผู้สูงอายุในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

เขาเคยตัดพ้อดัง ๆ ถึงกระแสข่าว “เด้ง” ออกจากเก้าอี้เลขาฯกฤษฎีกาว่า “เหมือนเมื่อก่อนที่จะมีข่าวย้ายผม ถ้าเห็นว่าผมไม่เหมาะกับนโยบายของเขา เขาก็ย้ายผมไปประจำสำนักนายกฯ แล้วเขาก็ตั้งคนใหม่มาแทน เกมไม่มีอะไร”

นอกจาก “สามทหารเสือ” ประจำทำเนียบรัฐบาล ที่ร่วมรบ-เคียงบ่าเคียงไหล่กับ พล.อ.ประยุทธ์ บนตึกไทยคู่ฟ้า ตลอดระยะเวลา 9 ปี

ยังมีบุคคลที่ พล.อ.ประยุทธ์ “ไม่ทิ้งไว้ข้างหลัง” อย่าง “นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ขยับขึ้นจาก ผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2559

“นิชา” เป็นภรรยาของ “พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม” อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.21 รอ.) ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์จากการชุมนุมปี 2553

แต่มีอีกคนที่เป็นเสมือน “แมวเก้าชีวิต” คือ “นัทรียา ทวีวงศ์” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ปรับตัวอยู่ได้กับทุกขั้ว-ทุกข้าง ทั้งสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์-รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และกลับมาอยู่ในแสงสปอตไลต์ในรัฐบาลเศรษฐา 1

นางนัทรียาเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักโฆษก-เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ด้านประสานกิจการภายในประเทศ และในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการการไฟฟ้านครหลวง

คำฝากฝังของ พล.อ.ประยุทธ์วัน “เปิดทำเนียบ” ทิ้งคำสั่งเสียกับเศรษฐาให้เก็บอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา ที่เป็นที่ปรึกษาระเบียบ-ข้อกฎหมาย ตลอดระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินในทำเนียบ ตลอดจนธรรมเนียม ประเพณีปฏิบัติ-จารีตในราชสำนัก

ดูข่าวต้นฉบับ