ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ทัวร์จีน 4 แสนล้านสะดุดยาว ยอดไฮซีซั่นนิ่งสนิท ทุบเป้า 5 ล้านคน

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 23 ส.ค. 2566 เวลา 12.25 น. • เผยแพร่ 15 ส.ค. 2566 เวลา 23.22 น.

ทัวร์จีน 4 แสนล้านซึมยาว ! เอเย่นต์รายใหญ่ส่งสัญญาณ “กรุ๊ปทัวร์” ยังชะลอเดินทางออกต่างประเทศ เผยช่วงหยุดยาววันชาติจีนเดือน ต.ค. ต่อเนื่องไฮซีซั่นปลายปียอดจองแพ็กเกจทัวร์เข้าเมืองไทยเงียบสนิท สมาคม ATTA เผยเป้าหมาย 5 ล้านคนปีนี้เป็นไปได้ยาก อุปสรรคเพียบ ทั้งเรื่องวีซ่า ปัญหาเศรษฐกิจ คู่แข่งหลัก “ญี่ปุ่น-อเมริกา-ยุโรป” เปิดแล้ว ด้านการบินไทยรับผู้โดยสารไม่ขยับ เลื่อนแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินไปปลายปี ขณะที่ “กรมการกงสุล” เร่งเคลียร์ปมวีซ่า ททท.โหมอัดโปรโมตทุกช่องทาง

แหล่งข่าวจากบริษัทนำเที่ยวรายใหญ่ในกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์คนจีนเที่ยวต่างประเทศว่า ขณะนี้แม้ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเปิดประเทศและอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวได้ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา และประเทศไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศนำร่อง แต่ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทำให้คนจีนส่วนใหญ่ยังเน้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศและท่องเที่ยวระหว่างมณฑลเป็นหลัก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คนจีนแห่เที่ยวในประเทศ

แหล่งข่าวระบุว่า บรรยากาศการท่องเที่ยวภายในประเทศจีนนั้นเริ่มกลับมาคึกคักตั้งแต่ปี 2565 หลังจากที่รัฐบาลเปิดให้สามารถเดินทางข้ามมณฑลได้ กระทั่งปัจจุบันคนจีนส่วนใหญ่ก็ยังนิยมเดินทางภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ซีอาน เฉิงตู กว่างโจว กุ้ยหลิน คุนหมิง ลี่เจียงซูโจว แชงกรี-ลา ฯลฯ ส่วนการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มเดินทางเพื่อธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลจีนส่งเสริมให้กลุ่มนักธุรกิจออกเดินทางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน

“ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี จะเป็นช่วงปิดเทอมของนักเรียนจีน ซึ่งตามปกติแล้วพ่อแม่คนจีนจะนิยมพาลูกไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ปีนี้คนส่วนใหญ่ก็ยังคงพาลูกเที่ยวภายในประเทศ และใช้จ่ายภายในประเทศมากกว่า” แหล่งข่าวกล่าว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ไฮซีซั่น ต.ค.-ธ.ค.ยังเงียบสนิท

แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ยังพบว่ายอดการขายแพ็กเกจทัวร์ล่วงหน้าเข้าประเทศไทยในช่วงเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงวันหยุดวันชาติจีนจนถึงเดือนธันวาคม ที่เป็นไฮซีซั่นอีกช่วงหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมออกเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศจำนวนมากยังเงียบมาก

“ปกติผู้ประกอบการจะเริ่มทำการตลาดและขายล่วงหน้า รวมถึงวางแผนเหมาชาร์เตอร์ไฟลต์สำหรับออกเดินทางในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีกันตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป และประกอบกับราคาแพ็กเกจทัวร์ที่สูงขึ้น 2-3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 ก่อนโควิด ยิ่งทำให้การขายแพ็กเกจทัวร์ล่วงหน้ายิ่งยากขึ้น”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แหล่งข่าวรายนี้ยังเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันราคาแพ็กเกจเที่ยวประเทศไทยมีระดับราคาต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 3,000 หยวน สำหรับโปรแกรม 7 วัน เส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-เกาะเสม็ด (เข้าร้านช็อปปิ้ง) และสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6,000 หยวน (7 วัน) พักโรงแรม 5 ดาว ไม่เข้าร้านช็อปปิ้ง ไม่มีขายออปชั่นเสริม เป็นต้น แต่ตอนนี้คนจีนที่มีเงินนิยมไปเที่ยวล่องเรือเส้นทางยุโรป อิตาลี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเป็นของใหม่

ขณะที่เส้นทางเข้าเมืองไทยยังกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าเมื่อรัฐบาลเปิดให้ไปเที่ยวญี่ปุ่น อเมริกาได้ คนจีนก็น่าจะเปลี่ยนเดสติเนชั่นจากเมืองไทยไปเมืองใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย

เส้นทางที่ได้รับความนิยมของคนจีนขณะนี้คือ เส้นทางท่องเที่ยวโดยการล่องเรือ เส้นทางสู่ยุโรป อิตาลี โดยเส้นทางยุโรป 11 ประเทศ ราคาอยู่ที่ประมาณ 50,000-60,000 หยวน ส่วนเส้นทางสู่อิตาลี/กรีซ ระดับราคาอยู่ที่ประมาณ 32,000-40,000 หยวน เป็นต้น

ปัจจัยลบเพียบ-เป้า 5 ล้านคนยาก

ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวในเรื่องนี้ว่า ตอนนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เริ่มทบทวนเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ตั้งไว้ว่าในกรณี worst case หรือแย่ที่สุดปีนี้ ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวจีนจำนวน 5 ล้านคน และกรณี best case อาจมีจำนวนสูงถึง 7-8 ล้านคน

ปัจจุบัน ททท.ได้ปรับลดเป้านักท่องเที่ยวจีนมาอยู่ที่กรณี worst case หรือที่ 5 ล้านคนแล้ว และล่าสุดหลาย ๆ ฝ่ายก็เริ่มประเมินแล้วว่าโอกาสที่ประเทศไทยจะได้นักท่องเที่ยวจีนถึง 5 ล้านคนตามเป้าหมายในปีนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก จากตัวแปร 3 เรื่องหลัก ๆ คือ 1.ความไม่สะดวกในการขอวีซ่า ที่มีมาตรการคัดกรองและพิจารณาอนุมัติมาตรฐานเดียวกับยุโรป ทำให้เป็นอุปสรรคในการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีน

2.ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนที่มีปัญหาและมีผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ และ 3.รัฐบาลจีนออกประกาศให้คนจีนออกไปเที่ยวได้ในอีกหลายประเทศในลอตที่ 2 โดยเฉพาะในยุโรป รวมถึงญี่ปุ่น เกาหลี ทำให้ประเทศไทยมีคู่แข่งมากขึ้น

ตัวเลข ATTA จีนกลับมาแค่ 1 ใน 3

ดร.อดิษฐ์กล่าวอีกว่า ทางการจีนคาดการณ์ว่าปี 2566 นี้จะมีคนจีนเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศประมาณ 95-100 ล้านคน ลดลงจากปี 2562 มีจำนวน 155 ล้านคน ในจำนวนนี้เดินทางเข้ามาประเทศไทย 10 ล้านคน หรือประมาณ 7% หากเทียบตามอัตราส่วนดังกล่าว ปี 2566 นี้ประเทศไทยน่าจะได้นักท่องเที่ยวจีนที่ประมาณ 6-7 ล้านคน

“การตั้งเป้าไว้ที่ 5 ล้านคนของ ททท. นั้นเป็นการคาดการณ์ตัวเลขที่ต่ำกว่าสัดส่วนที่ควรจะเป็น แต่ล่าสุดหลายฝ่ายได้ปรับเป้าลงมาอยู่ที่ 4 ล้านคนแล้ว ซึ่งสะท้อนว่าสถานการณ์ในปัจจุบันไม่ปกติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประเมินว่ามีข้อจำกัด หรือมีความคาดเคลื่อนในการบริหารจัดการในฝั่งเราหรือไม่” ดร.อดิษฐ์กล่าว

ดร.อดิษฐ์กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองผ่านบริหารของสมาคมมีประมาณกว่า 6,000 คนต่อวัน จากเป้าที่คาดว่าจะได้ประมาณ 10,000 คนต่อวัน แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ที่มีประมาณ 3,000-4,000 คนต่อวัน ขณะที่ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาถึง 16,000-17,000 คนต่อวัน

“ตัวเลขนี้สะท้อนชัดเจนว่านักท่องเที่ยวทั่วไปมาแค่ประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น ส่วนที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง ตั๋วกรุ๊ปที่เคยทำให้ต้นทุนการเดินทางถูกลงก็ไม่มี หรือเที่ยวบินชาร์เตอร์ไฟลต์ต่าง ๆ ก็ไม่ได้มีเพิ่มขึ้น” ดร.อดิษฐ์กล่าว

“บินไทย” เลื่อนแผนเพิ่มไฟลต์บิน

นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดจีนมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของตลาดเอเชีย-แปซิฟิกเท่านั้น จากเดิมที่มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 20% สะท้อนชัดเจนว่าตลาดจีนยังไม่กลับมา หลังจากที่จีนประกาศเปิดประเทศ การบินไทยได้ทำการบินสู่ 5 เส้นทางหลักของจีน รวม 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2566

ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-คุนหมิง สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน เส้นทางกรุงเทพฯ-กว่างโจว สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เส้นทางกรุงเทพฯ-เฉิงตู สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน เส้นทางกรุงเทพฯ-เซี่ยงไฮ้ สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน และเส้นทางกรุงเทพฯ-ปักกิ่ง สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน และมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินสู่จีนให้เป็นวันละ 1 เที่ยวบิน (daily flight) ทุกเส้นทาง ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

“สำหรับตลาดจีนวันนี้กระแสตอบรับยังไม่ชัดเจน เราได้มาเพียงแค่ประมาณ 45-50% ของปี 2562 เท่านั้น และตลาดก็ยังฟื้นกลับมาได้ไม่ดีนัก จึงขยับแผนเพิ่มเที่ยวบินสู่จีนให้เป็น daily flight ทุกเส้นทางในเดือนธันวาคม 2566”

“กงสุล” เร่งเคลียร์ปมวีซ่า

ขณะที่นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงประเด็นที่เอกชนท่องเที่ยวได้รายงานถึงปัญหาเรื่องความยุ่งยากในการขอวีซ่าของนักท่องเที่ยวจีนว่า ที่ผ่านมากรมการกงสุลตระหนักถึงความสำคัญการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาระบบการยื่นขอวีซ่าสู่รูปแบบ e-Visa ถือเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว

เพื่อให้ระบบ e-Visa มีศักยภาพในการรองรับผู้ลงทะเบียนยื่นขอวีซ่าออนไลน์มากขึ้น กรมการกงสุลอยู่ระหว่างการพัฒนาและยกระดับให้ระบบ e-Visa รองรับได้ถึง 8 ภาษา รวมทั้งภาษาจีนด้วย รวมทั้งมีระบบคัดกรอง รับคำร้อง และการดาวน์โหลดเอกสารในปริมาณมากได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจะเสร็จและสามารถใช้งานได้ในช่วงต้นปี 2567

“เราเน้นย้ำกับสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ในจีนเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านการตรวจลงตราที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และดำเนินการให้เสร็จภายใน 7 วัน โดยคำนึงถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและความมั่นคงของประเทศ”

ททท.โหมโปรโมตทุกช่องทาง

นายชูวิทย์ ศิริเวชกุล ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เคยระบุเมื่อก่อนหน้านี้ว่า ยังเชื่อมั่นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนปีนี้จะยังเป็นไปตามเป้าหมาย 5 ล้านคน และคาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนอยู่ที่ประมาณ 4.46 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาได้พยายามทำการตลาดในทุกช่องทาง ทั้งฝั่ง demand และ supply ให้ฟื้นตัวอย่างสมดุล และปรับโครงการนักท่องเที่ยวไปสู่กลุ่มคุณภาพมากขึ้น รวมถึงร่วมมือกับสายการบินจีน ขยายเส้นทางบินระหว่าง 2 ประเทศ โดยเฉพาะเที่ยวบินสู่เมืองรอง

ขณะที่นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนเข้ามาแล้วราว 2 ล้านคน คงต้องลุ้นกันต่อว่าอีก 3 ล้านคนกับเวลาที่เหลือ 5 เดือนจะเป็นไปตามเป้าได้หรือไม่ หากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนไม่เป็นไปตามเป้าจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายรวม 25 ล้านคนด้วย

ลดเป้ารายได้เหลือ 4.46 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อต้นปี 2566 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยในปี 2566 จำนวน 5-8 ล้านคน ล่าสุดได้ปรับคาดการณ์เป้าหมายลงมาอยู่ที่ 5 ล้านคน สร้างรายได้ 4.46 แสนล้านบาท

จากข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 กรกฎาคม 2566 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมรวม 15.32 ล้านคน จำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรกคือ มาเลเซีย 2.44 ล้านคน ตามด้วยจีน 1.84 ล้านคน เกาหลีใต้ 9.07 แสนคน อินเดีย 8.86 แสนคน และรัสเซีย 8.54 แสนคน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 รัฐบาลจีนได้ยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางท่องเที่ยวแบบหมู่คณะ (กรุ๊ปทัวร์) โดยอนุญาตให้จัดกรุ๊ปทัวร์ออกไปยัง 78 ประเทศ (ตามประกาศ) ครอบคลุมหลายประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลียได้ มีผลในวันที่ 11 สิงหาคม 2566 การประกาศยกเลิกข้อจำกัดครั้งนี้ของจีน นับเป็นการประกาศอนุญาตกรุ๊ปทัวร์ขาออกรอบที่ 3 หลังจากที่ก่อนหน้านี้อนุญาต 2 รอบ รวม 60 ประเทศ ส่งผลให้ตอนนี้จีนอนุญาตให้จัดกรุ๊ปทัวร์ออกไปยังต่างประเทศได้รวม 138 ประเทศ/เขตการปกครอง

https://www.youtube.com/watch?v=Occ0K59N6hY

youtube
ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • ST_Boon
    สรุปประเทศไทยมีแต่คนจีนเข้ามาเที่ยว
    16 ส.ค. 2566 เวลา 02.22 น.
  • T.cho
    ตังค์หมดมั่ง..เศรษฐกิจเขาก็เริ่มมีปัญหา ที่จริงชวนเขามาดูประท้วงบ้านเราก็ได้ ประท้วงแบบงงๆเรื่องไรของมึงว่ะ
    16 ส.ค. 2566 เวลา 00.43 น.
ดูทั้งหมด