8% ของจีดีพีเม็กซิโก คือสัดส่วนของ ‘หนี้’ ที่บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของประเทศอย่าง ‘Pemex’ มีอยู่ โดยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.62 ล้านล้านบาท)
ต้องเกริ่นก่อนว่า เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 14 ของโลก มีมูลค่าจีดีพีทั้งหมด 1,663 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 60,325 ล้านล้านบาท)
ความน่าสนใจของ Pemex คือ แม้จะเป็นบริษัทที่มีหนี้สินมากมายขนาดนี้ แต่รัฐบาลเม็กซิโกยังคงอุ้มไว้
[ จุดเริ่มต้นของ ‘Pemex’ ]
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2444 เม็กซิโกเป็นหนึ่งใน 4 ของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในโลก ผ่านการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ
แต่อีก 30 ปีถัดมา (พ.ศ. 2474) การผลิตน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกกลางเริ่มสะดุด แหล่งกักเก็บน้ำมันในเม็กซิโกเริ่มหมดไวกว่าที่ควร ทำให้เริ่มเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเม็กซิโกและบริษัทน้ำมัน
‘Lázaro Cárdenas’ ประธานาธิบดีเม็กซิโกในสมัยนั้น ได้ตระเวนคืนผลประโยชน์จากธุรกิจน้ำมัน พร้อมอนุญาตให้ตั้งบริษัท Pemex ขึ้น เพื่อค้นหาแหล่งทรัพยากรน้ำมัน รวมถึงดำเนินธุรกิจการกลั่นและการส่งออกอย่างครบครัน
ในปี พ.ศ. 2513 บริษัทค้นพบแหล่งทรัพยากรน้ำมันที่อ่าว ‘Cantarell’ ทางตอนใต้ของประเทศ โดยที่กลุ่มนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่านี่คือแหล่งทรัพยากรที่มีมากพอจะใช้ในระยะยาว และสามารถสร้างรายได้มากมายให้แก่บริษัทตลอดระยะเวลาหลายปี
[ จุดเริ่มต้นของหายนะ ]
ด้วยรายได้ที่สูงของบริษัททำให้รัฐบาลเริ่มมองข้าม ‘ปัญหาภาษี’ ที่เก็บกับ Pemex โดยรัฐบาลเก็บภาษีน้ำมันสูงถึง 65% ทำให้บริษัทไม่สามารถนำเงินไปพัฒนาธุรกิจต่อได้
โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี การค้นหาทรัพยากรใหม่ๆ และการกลั่นน้ำมัน ทำให้บริษัทยังคงเป็นบริษัทพลังงานแบบเก่าที่ไม่ได้เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในปัจจุบัน
ตามด้วย ‘การบริหารที่ไม่เป็นระบบ’ ภายในบริษัท แถมมีการฉ้อโกงเกิดขึ้น มีเรื่องอื้อฉาวของกลุ่มผู้บริหาร ทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง รายได้จึงค่อยๆ ลดน้อยลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายและหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ประกอบกับ ‘ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ’ ที่ค่อยๆ หมดลง จากเดิมที่เคยผลิตน้ำมันได้มากถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ในปัจจุบันกลับลดลงเหลือ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น
[ รัฐบาลตัดสินใจเข้าอุ้มธุรกิจ ]
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2555 ‘Enrique Peña Nieto’ ประธานาธิบดีเม็กซิโกพยายามจะฟื้นฟูธุรกิจของ Pemex
ที่ตัดสินใจแบบนี้ เพราะกว่า 16% ของจีดีพีเม็กซิโกมาจากธุรกิจพลังงาน ประกอบกับในอดีตมีชื่อเสียงและผลกำไรที่สูง ทำให้รัฐบาลยังคงต้องการฟื้นฟู
ประธานาธิบดี ต้องการเพิ่มผลผลิตน้ำมันขึ้น 45% หรือให้กลับไปสามารถผลิตได้เกือบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันเหมือนเดิม
ตามด้วยการลดอัตราภาษีของบริษัทลงจาก 65% ให้เหลือเพียง 35% ภายในปี 2567 (ปัจจุบันอยู่ที่ 40%)
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้เงินสนับสนุน Pemex มูลค่า 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.6 ล้านล้านบาท) และคาดการณ์จะเพิ่มงบประมาณขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ได้รับการฟื้นฟูจากรัฐบาล แต่หนี้ของบริษัทก็ยังไม่ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ โดยในปี พ.ศ. 2555 หนี้ของบริษัทอยู่ที่ 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 22,000 ล้านล้านบาท)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.06 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งบริษัทยังไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในบราซิลและยังคงอยู่ในขั้นตอนสอบสวน
[ ผลลัพธ์จากการฟื้นฟูกิจการ ]
ต้องยอมรับว่า แรงสนับสนุนจากรัฐบาลและอานิสงส์จากราคาน้ำมัน ก็มีส่วนช่วยให้บริษัทกลับมามีกำไรขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2565 ราวๆ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 36 หมื่นล้านบาท) พร้อมกับหนี้สินที่ลดน้อยลง
แต่ถึงอย่างนั้น บริษัทก็ยังคงมีหนี้สินและปัญหาอีกมากมายที่ยังคงต้องเผชิญ อาทิ บริษัทยังคงผลิตพลังงานแบบเก่า ไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาสู่พลังงานสะอาดได้แบบที่โลกปัจจุบันต้องการ หรือเรียกง่ายๆ ว่าบริษัทไม่ได้ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้ขนาดนั้น
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เป็นที่น่าติดตามว่า หากรัฐบาลเม็กซิโกเปลี่ยนยุคสมัยไปแล้ว การสนับสนุนธุรกิจ Pemex จะเป็นอย่างไร การอุ้มกิจการที่ล้มเหลวจะคุ้มค่าหรือไม่ แล้วบริษัทจะสามารถกลับมาฟื้นคืนดั่งในอดีตได้อย่างไร…
ที่มา
- https://www.economist.com/the-americas/2023/10/12/pemex-is-the-worlds-most-indebted-oil-companyPemex is the world’s most indebted oil company from TheEconomist
- https://www.britannica.com/topic/Petroleos-Mexicanos
- https://www.britannica.com/place/Mexico
- https://www.imf.org/en/Countries/MEX