ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (23 พฤศจิกายน 2566) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน กทม .มีแนวคิดจะมอบโครงการลงทุนใหม่ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบการลงทุน ทั้งนี้ กทม. เห็นถึงปัจจัยเรื่องอื่นที่ต้องเร่งจัดการมากกว่า รถไฟฟ้า อาทิ ด้านการศึกษา และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
ทั้งนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานและระบบรถไฟฟ้า และ กทม. เองเชื่อว่าภาครัฐจะมีงบประมาณเร่งดำเนินการอยู่แล้วจึงมอบให้ รฟม. กลับไปผลักดันต่อจึงถือเป็นเรื่องที่ดีกว่าและเชื่อว่าจะสามารถวางแผนการพัฒนาโครงขายระบบรางให้เป็นระบบเชื่อมกันอย่างไร้รอยต่ออีกทั้งเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการใช้บริการ เนื่องจากรถไฟฟ้าที่ กทม.ศึกษาอยู่มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าหลายสายที่อยู่ภายใต้การดูแลของ รฟม. และเปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง รถไฟฟ้าสายสีชมพู รวมไปถึงรถไฟฟ้าสายสีส้ม
“โดยกทม.มีเรื่องอื่นอีกเยอะที่ต้องทำ การมอบให้ รฟม.ไปดำเนินการด้ายรถไฟฟ้าก็เป็นเรื่องที่ทำได้ดีกว่า สร้างระบบรถไฟที่เชื่อมต่อกันได้ แต่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นก็คงต้องหารือในระดับนโยบายระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมก่อนจะเสนอแนวคิดไปยังนายกรัฐมนตรี ในคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)” นายชัชชาติ กล่าว
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ กทม. และมีแนวคิดจะมอบให้ รฟม.นำไปดำเนินการลงทุนนั้น อาทิ โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (LRT-Light Rail Transit), สายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน กทม.จะเสนอ คจร. เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ รฟม.รับผิดชอบการลงทุนรวมไปถึงบริหารสัญญาโครงการทั้งหมด
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าที่ กทม.ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ พบว่าต้องจัดใช้วงเงินลงทุนมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท อีกทั้งโครงการโมโนเรลสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ มีระยะทาง 16.3 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 2.75 หมื่นล้านบาท ผลการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นซึ่งจะใช้การร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยเอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านรายได้ และเป็นผู้จ่ายค่าสัมปทานหรือส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ภาครัฐ ในระยะเวลา 30 ปี
ทั้งนี้ กทม.เคยคาดการณ์จะเสนอกระทรวงมหาดไทยและขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปี 2566 พร้อมคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารจะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการในปี 2573 ซึ่งเป็นปีที่เปิดให้บริการ จำนวน 97,000 คนเที่ยวต่อวัน
รวมไปถึงโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากผลการศึกษามีระยะทาง 19.7 กิโลเมตร ประเมินใช้วงเงินลงทุน 1.3 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธาและระบบรถไฟฟ้า วงเงิน 36,020 ล้านบาท ค่างานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า วงเงิน 6,720 ล้านบาท ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา วงเงิน 91,767 ล้านบาท ค่างานเกี่ยวกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 1,186 ล้านบาท ซึ่งเดิม กทม.คาดการณ์ว่าจสนอกระทรวงมหาดไทยพิจารณาและนำเสนอต่อ ครม.อนุมัติโครงการภายในปี 2566
โดยผลการศึกษารูปแบบลงทุนจะจัดทำลักษณะ PPP Net Cost อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี คาดว่าปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายนี้ในปี 2572 ที่เปิดใช้บริการจะสูงถึง 82,695 คนเที่ยวต่อวัน และปี 2576 จะเพิ่มสูงขึ้นราว 138,744 คนเที่ยวต่อวัน อีกทั้งในปี 2578 กรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซึ่งเปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้จะทำให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 165,363 คนเที่ยวต่อวัน
นอกจากนี้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล กทม. ในฐานะผู้รับผิดชอบสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีนโยบายที่จะผลักดันการลดค่าครองชีพประชาชนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญของรถไฟฟ้าสายสีเขียวในขณะนี้ คือการแก้ปัญหาภาระหนี้สินที่มีอยู่กับเอกชนคู่สัญญา รวมถึงเรื่องการเสนอให้รัฐฯ ช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายงานโยธารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเหมือนเงื่อนไขการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายอื่น ยอมรับว่าเรื่องค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายเจรจาได้ แต่เป็นเรื่องยาก เนื่องจากยังติดสัญญาสัมปทาน ซึ่งหากให้เก็บ 20 บาทตลอดสาย รัฐบาลก็ต้องเป็นผู้อุดหนุนในส่วนของรายได้ที่ลดลงไป