ไอที

“ประเสริฐ”ประชุม WEF 2025 หารือร่วมนานาชาติ ยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

เดลินิวส์
อัพเดต 24 ม.ค. เวลา 20.05 น. • เผยแพร่ 24 ม.ค. เวลา 12.44 น. • เดลินิวส์
การประชุม WEF 2025 รมว.ดีอี หารือผู้นำจากทั่วโลก และภาคเอกชน บริษัทชั้นนำต่าง ๆ ยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) 2025 ร่วมกับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะ ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในระหว่างวันที่ 20-24 มกราคม 2568 โดยการประชุม WEF 2025 ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้ธีม “Collaboration for the Intelligent Age”

ซึ่งเน้นการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพผ่านการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศในยุคดิจิทัลที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้นำทางการเมือง นักธุรกิจชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่าง ๆ และผู้มีวิสัยทัศน์จากทั่วโลกเข้าร่วม เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหารือแนวทางการเปลี่ยนแปลงผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning), และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยในช่วงวันที่ 21–22 ม.ค. กระทรวงดีอีได้เข้าร่วมการประชุมหารือทวิภาคีกับ H.E. Abdullah AlSwaha รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศของซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ได้แก่ บริษัท Cisco Systems, AstraZeneca, Salesforce, META, Google และ AWS รวมทั้งได้มีการหารือกับ World Bank’s Global Director for Water ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย

สำหรับประเด็นสำคัญในการหารือทวิภาคีกับบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ได้แก่ 1. ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในหลากหลายมิติ 2. การพัฒนาเมืองอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย 3. การยกระดับทักษะด้านดิจิทัลผ่านการฝึกอบรมในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 4. ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ 5. การพัฒนาระบบไอทีของหน่วยงานภาครัฐผ่านนโยบาย Cloud First Policy

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

6. การส่งเสริมการลงทุนในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล 7. การส่งเสริม digital literacy ของหน่วยงานรัฐและของประชาชน 8. การพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ไทย รวมถึงการสนับสนุน digital startups ให้เข้าถึงตลาดระหว่างประเทศ 9. การส่งเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่ของไทยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคต 10. การพัฒนาทักษะแรงงานด้านดิจิทัล 11. การเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล 12. แนวทางการทำงานเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ และ 13. มาตรฐานชุมชนและเครื่องมือความปลอดภัยในการใช้งานแพลตฟอร์ม

ขณะที่ในวันที่ 23 ม.ค. กระทรวงดีอีได้เข้าร่วมการประชุมในหัวข้อ Meeting of the Jobs Champion ซึ่งเป็นการประชุมเสวนาผู้นำ (Leaders Dialogue Meeting) ที่มีผู้บริหารระดับสูงจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และผู้นำระดับสูงจากทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคประชาชน เข้าร่วมหารือประเด็นระดับโลกที่สำคัญ โดยมีการรายงานผลการวิจัยใหม่เรื่อง “อนาคตของงาน” ที่กล่าวถึงผลกระทบของ AI ต่องานและการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อทุกคน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมสำคัญ “Thailand Reception” ซึ่งเป็นงานเลี้ยงต้อนรับอาหารกลางวัน ระหว่างผู้นำประเทศต่างๆ และนายกรัฐมนตรีประเทศไทย โดยมีการนำเสนออาหารไทยและการเฉลิมฉลองวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ และการต้อนรับอันอบอุ่นของประเทศไทย ในธีม Nourishing the Future for ALL เน้นเรื่องอาหารและศักยภาพของประเทศไทย โดยนำเสนอวัฒนธรรมและความเป็นไทย ผ่านอาหารไทย เพื่อส่งเสริม Soft Power และศักยภาพของประเทศไทยในฐานะ “ครัวของโลก”

" สำหรับในวันที่ 24 ม.ค. 68 ผมจะเข้าร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับ EFTA และการเสวนาของนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ “Not Losing Sight of Soft Power” ที่จะกล่าวถึงการสร้างแรงกระเพื่อมในวัฒนธรรมสมัยนิยม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ได้รับการกระตุ้นโดยเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมทั้งเข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อ Country Strategy Dialogue on Thailand โดยท่านนายกฯ จะกล่าวถึงจุดแข็งของประเทศไทยโดยรวม ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร การใช้เทคโนโลยีด้านเกษตร และการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล" นายประเสริฐ กล่าว

ดูข่าวต้นฉบับ