หุ้น การลงทุน

ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 'ฟรีแลนซ์' ต้องรู้! ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามกั๊ก 'ภาษีเงินได้'

กรุงเทพธุรกิจ
อัพเดต 15 มี.ค. 2564 เวลา 07.26 น. • เผยแพร่ 15 มี.ค. 2564 เวลา 10.00 น.

เข้าสู่ฤดูกาลเสียภาษีกันแล้ว สำหรับปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขยายระยะเวลาการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2563 รวมถึงภาษีเงิน ณ​ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม จากเดิมกำหนดไว้ว่าต้องยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ขยายเวลาออกไปถึง 30 มิถุนายน 2564 

ซึ่งสำหรับ"ฟรีแลนซ์" หรือกลุ่มอาชีพอิสระ ที่มีรายได้เกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว ไม่ได้มีรายได้ประจำ ไม่มีบริษัทหรือนายจ้างที่จะมาบริหารจัดการเงินให้ จำเป็นต้องยื่น "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" หรือไม่? หากต้องเสียภาษีต้องคำนวณอย่างไร? แล้วเวลาที่รับเงินจากผู้จ้างงาน จ่ายภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว ยังต้องเสียภาษีอยู่อีกหรือไม่? สรุปว่าฟรีแลนซ์ต้องยื่นภาษี 2 รอบจริงไหม "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จะพาไปไขคำตอบกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ะแน่นอนว่าผู้ที่มีเงินได้ทุกคน เป็นหน้าที่ที่ต้องรู้ว่า จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยตามกฎหมายผู้ที่มีเงินได้เกิน 10,000 บาทต่อเดือน หรือ 60,000 บาทต่อปี จำเป็นต้องยื่นภาษีทุกคน โดยเงินได้ของฟรีแลนซ์จะเข้าข่าย "เงินได้ประเภทที่ 2" ตามประมวลรัษฎากร หรือ "เงินได้มาตรา 40 (2)" 

หลายคนเกิดคำถามขึ้นมาว่าจะรู้ "ประเภทเงินได้" ไปทำไม จริงๆ เป็นเรื่องจำเป็น เพราะเงินได้แต่ละประเภทสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกัน โดยประเภทเงินได้แบ่งออกดังนี้

มาตรา 40 (1) เงินได้จากการจ้างแรงงาน ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ฯลฯ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

มาตรา 40 (2) เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน หรือจากการรับทำงานให้นั้นไม่ว่าหน้าที่ หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว ฯลฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

มาตรา 40 (3) ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

มาตรา 40 (4) เงินได้ที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากัน หรือรับช่วงกัน หรือเลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน ฯลฯ *ไม่สามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายได้

มาตรา 40 (5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่น เช่น การให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน

มาตรา 40 (6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอิสระอื่น ซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้

มาตรา 40 (7) เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ

มาตรา 40 (8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว

ที่สำคัญเมื่อได้เงินจากการทำงานแล้ว อย่าลืมเก็บเอกสาร "ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย" หรือที่เรียกว่า "ใบ 50 ทวิ" ไว้ด้วยทุกครั้ง เนื่องจากต้องนำเอาข้อมูลในเอกสารนี้ไปยื่นภาษี หากฟรีแลนซ์คนไหนที่ไม่ได้ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็ควรที่จะทวงถามจากผู้ว่าจ้างทุกครั้ง โดยกรณีนี้จะต้องเป็นรายได้ที่เกิน 1,000 บาทขึ้นไป

ซึ่งโดยปกติแล้ว หากรับงานฟรีแลนซ์ ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่จะ หักภาษี ณ ที่จ่าย ทันที โดยผู้ว่าจ้างจาก 2 รูปแบบ คือ

1. หัก 3% ของเงินที่จ่ายทุกครั้ง

2. คำนวณภาษีจากรายได้สะสมที่ได้รับจากผู้ว่าจ้าง เช่น ผู้ว่าจ้างหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ซึ่งตรงส่วน 3% นี้เหมือนเป็นการจ่ายภาษีล่วงหน้าไปแล้ว แต่ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการเสียภาษี เนื่องจากต้องดูว่า เงินได้อยู่ในลำดับขั้นใดของเงินได้สุทธิ หากคำนวณแล้วภาษีที่ต้องจ่าย มากกว่า 3% ที่โดนหัก ณ ที่จ่ายไป ฟรีแลนซ์จะต้องจ่ายภาษีเพิ่ม หรือหากน้อยกว่า ก็สามารถขอคืนภาษีได้ด้วย

157838623586

โดยกรอบเวลาการยื่นและจ่ายภาษีมีทั้งช่วงต้นปี ตั้งแต่มกราคม-มีนาคมของปีถัดไป

แต่!! หากฟรีแลนซ์มีรายได้จากเงินได้ประเภท 40(5)-(8) ต้องนำรายได้ส่วนนั้นที่ได้รับในครึ่งปีแรกไปยื่นภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.94 ในช่วงกรกฎาคม–กันยายน ของปีนั้นๆ

เมื่อกี้พูดถึงการคำนวณภาษีที่ต้องดูจาก "เงินได้สุทธิ" ไป ขออธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่า เงินได้สุทธิ มาจาก เงินได้พึงประเมิน หรือเรียกง่ายๆ ก็คือรายได้ทั้งหมดที่เรารับตลอดปี หักลบด้วยค่าใช้จ่าย และหักลบด้วยค่าลดหย่อนเพิ่มเติม เช่น มาจากการซื้อกองทุน LTF RMF ประกันสังคม ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เป็นต้น หรือจะเข้าใจง่ายขึ้นด้วยสมการนี้

เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน

ส่วนเรื่องของค่าใช้จ่ายนั้น สำหรับฟรีแลนซ์จะเป็นรูปแบบ “การหักแบบเหมา” ซึ่งรูปแบบนี้ไม่ต้องมีเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่ายมายืนยัน

สำหรับรายได้ประเภท 40 (2) สามารถหักเหมา 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ประเภท 40 (6) หักเหมาได้ 30% และประเภท 40 (8) สามารถหักเหมาได้ 30-60% แต่ไม่เกิน 600,000 บาท ส่วนของการลดหย่อนนั้นจะมีรูปแบบที่หลากหลาย หรืออ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่ > เตรียมตัวก่อน ‘ยื่นภาษี 2563’ อะไร ‘ลดหย่อนภาษี’ ได้บ้าง?

หลังจากเข้าใจที่มาในแต่ละส่วนแล้ว การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งกรมสรรพากรได้กำหนดเกณฑ์อัตราภาษีตามขั้นเงินได้สุทธิต่อปี ดังนี้

วิธีคำนวณ 'เงินได้สุทธิ' ก่อน 'ยื่นภาษี' ปี62

ส่วนวิธีการคำนวณภาษี ก็คือ นำ เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี (ตามตารางด้านบน)

ทั้งนี้สำหรับยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 สามารถทำได้ 3 รูปแบบ คือ

1.ยื่นแบบกระดาษด้วยตัวเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา 

2.ยื่นที่ทำการไปรษณีย์ แต่รูปแบบนี้มีเงื่อนไขว่าต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพเท่านั้น และต้องแนบเช็ค หรือธนาณัติ (ตามจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย) เพื่อส่งไปที่กองบริหารการคลังและรายได้ กรมสรรพากร อาคารสรรพากร เลขที่ 90 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพ 10400

3.ยื่นออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร 

สำหรับวิธีการจ่ายเงิน ใครสะดวกจ่ายเงินสดก็ได้ หรือจ่ายด้วยบัตรเครดิตก็มี ทั้งของธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ รวมถึงสามารถชำระด้วยเช็คและธนาณัติ นอกจากนี้หากภาษีที่ต้องจ่ายตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ทั้งภาษีครึ่งปีและภาษีสิ้นปี ผู้เสียภาษีสามารถผ่อนชำระได้เป็น 3 งวด แต่ถ้าไม่ได้ชำระภายในกำหนด ผู้เสียภาษีหมดสิทธิที่จะชำระภาษีเป็นรายงวด และต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ

157838749838

ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ต้องจำให้ได้คือ ระยะเวลาในการยื่นและจ่ายภาษีของแต่ปี หากเลยกำหนด หรือไม่ครบถ้วน อาจต้องเสียเพิ่มและเบี้ยปรับตามกฎหมายกำหนด ซึ่งเมื่อเป็นแบบนั้นจริงๆ อาจต้องแบกภาระรายจ่ายหลังเดาะได้แน่ๆ
ที่มา : กรมสรรพากร, iTax, Freelance Bay, wealthmeup

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • Tonかに....
    เตรียม​ตัว​เลยยืนภาษี​ อาชีพ​อิสระ​ ข้อมูล​โครงการ​ คนละ​ครึ่ง​ เราชนะ​ อยู่​ที่​กรุงไทย​ ข้อมูล​ทั้งหมด​คงหมอบ​ให้​ กรมสรรพากร​ให้เก็บ​ภาษี
    09 เม.ย. 2564 เวลา 20.23 น.
  • มา
    แล้วร้านค้าที่ร่วมโครงการรัฐบัตรคนจนคนละครึ่งเราชนะต้องยื่นไหม
    19 มี.ค. 2564 เวลา 08.43 น.
ดูทั้งหมด