20 ปีเปลี่ยน“รมต. ศึกษาฯ”20 คน! การเมืองแฝงอยู่ในการศึกษาแล้วการพัฒนาอยู่ตรงไหน?
ถึงช่วงนี้ข่าวเกี่ยวกับการศึกษาที่กำลังเป็นกระแส จะเทไปทางเรื่องของเครื่องแต่งกายที่โรงเรียนเอกชนชายล้วนชื่อดังทดลองให้เด็ก ๆ เลิกแต่งชุดนักเรียน แต่ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนอาจมองข้ามไป นั่นคือเรื่องของ "นโยบายการศึกษาไทย"ที่เปลี่ยนไปมาไม่หยุดหย่อน
ผู้ใหญ่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าเป็นน้อง ๆ นักเรียนมัธยม อาจจะพอรู้กัน เพราะระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่หยุดหย่อน ส่วนหนึ่งก็มีผลมาจากนโยบายของเจ้ากระทรวงที่นั่งอยู่ในตำแหน่งปีนั้น ๆ
เชื่อหรือเปล่าว่าถ้าเรานับย้อนลงไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยของเรามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาแล้วถึง 20 คน!
นี่ไม่ใช่เกมเก็บแต้มที่ได้คะแนนเยอะ ๆ แปลว่าชนะ แต่ในทางกลับกัน ตัวเลขนี้กลับเป็นปัญหาเรื้อรังของการศึกษาไทยในระดับนโยบาย เพราะการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีในระดับเฉลี่ยปีละ 1 คนขนาดนี้ ย่อมหมายถึง "ความไม่ต่อเนื่อง"ของนโยบายพัฒนาเยาวชนในชาติ ที่เปลี่ยนไปมาแล้วแต่ว่าหัวหน้าของรัฐมนตรีคนนั้นต้องการอะไร
"ดร. วรากรณ์สามโกเศศ"นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เคยกล่าวถึงปัญหาการศึกษาไทยเอาไว้ว่ามี 6 ด้านใหญ่ ๆ ด้วยกัน สองข้อที่น่าสนใจคือ การเมืองที่อยู่ในการศึกษาและ การขาดความมุ่งมั่นและต่อเนื่องในการยกระดับคุณภาพการศึกษา
ทั้งสองปัจจัยนี้เกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อรัฐมนตรีผู้ทำหน้าที่นำนโยบายของรัฐบาลมาดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง ก็ย่อมมี‘ภาระ’ ที่จะต้องทำตามเพื่อรักษาตำแหน่งของตัวเองเอาไว้ และในแต่ละวาระของรัฐบาลก็มีการหาเสียงนโยบายการศึกษาแตกต่างกัน ทำให้การศึกษาของเด็กไทย เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเมืองของผู้ใหญ่ในสภาไปโดยปริยาย
และอีกหนึ่งสาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือเสถียรภาพของการเมืองไทยอย่างที่รู้กัน ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีการรัฐประหารไปแล้วถึง 2 ครั้งโดยกลุ่มผู้นำเผด็จการทหาร ทำให้รัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนต้องลาออกจากตำแหน่ง ถูกรัฐบาลจากการแต่งตั้งของทหารมานั่งทำหน้าที่ต่อ
ซึ่งนั่นหมายถึงการล้มงานที่เคยทำมา
เสียงจากนักวิชาการอีกหลายคนเสนอว่า รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ ควรเป็นตำแหน่งที่อยู่กันยาว ๆ เพื่อวางนโยบายระยะยาว โดยคนที่เข้ามาทำหน้าที่ ควรมีความตั้งใจที่แน่วแน่ในการปฏิรูปการศึกษาให้ดีขึ้น ไม่ต้องอยู่ยาวเป็นสิบปี แต่อยู่ให้ครบวาระของรัฐบาลก็พอ (ถ้าไม่ถูกรัฐประหารเสียก่อน)
ลองมาดูในความเป็นจริง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาที่มีรัฐบาลอยู่ครบวาระ 4 ปีเพียงครั้งเดียวคือรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณชินวัตรแต่แค่สมัยแรก ก็เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการไปถึง 6 คน! โดยมีระยะเวลาการอยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดเพียง 4 เดือน ในสมัยของ ศ.นพ. เกษมวัฒนชัย
เรียกได้ว่า ยังไม่ทันจะจัดห้องทำงานเสร็จ ก็ต้องเก็บของกลับบ้านกันแล้ว
ส่วนคนที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด คือ ชวนหลีกภัยที่อยู่นาน 3 ปี 4 เดือน ในรัฐบาลของ พลเอกเปรมติณสูลานนท์ส่วนคนที่อยู่วางรากฐานการศึกษาไทยอย่างยาวนานที่สุดในรัฐบาลถึง 3 สมัย คือ หม่อมหลวงปิ่นมาลากุลที่ดำรงตำแหน่งรวมกันถึง 11 ปีด้วยกัน
แม้ปัจจุบันนี้ การที่จะมีผู้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียาวข้ามสมัยเป็นสิบ ๆ ปีจะเกิดขึ้นได้ยากจนถึงขั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว แต่สิ่งที่ควรจะเป็น คือความตั้งใจที่จะสานต่อนโยบายด้านการศึกษาให้เป็นไปตามแผนระยะยาว ที่มุ่งเป้าที่เยาวชนเป็นหลัก มากกว่าจะเลือกนโยบายที่คนชอบเก็บไว้ และปัดทิ้งนโยบายที่ดำเนินการมาแล้ว แต่ไม่เห็นประโยชน์กับตัวเองและพรรค
หากย้อนกลับไป มีเพียงสองนโยบายเท่านั้นที่ได้รับการสานต่ออย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือการขยายการศึกษาภาคบังคับจากช่วงทศวรรษ 2530 ที่บังคับเพียง 6 ปี เป็น 15 ปีในปัจจุบัน และนโยบายจัดตั้งกองทุนกู้ยืมทางการศึกษา เพื่อสนับสนุนเงินทุนกับเยาวชนที่อาจไม่มีทุนทรัพย์เรียนต่อชั้น ปวส. หรือมหาวิทยาลัย
ทว่านอกจากสองนโยบายที่ประสบความสำเร็จและอยู่ยาวจนถึงปัจจุบัน เรากลับไม่เห็นภาพที่ชัดเจนของนโยบายการศึกษาที่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจอยากเห็นเยาวชนไทยเติบโตไปในอนาคต เรายังมีเกณฑ์การคัดเลือกนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไปมาบ่อยพอ ๆ กับนายก, ระบบการสอนแบบ Child Center ที่เป็นคำฮิตติดหูอยู่ช่วงหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ยังศูนย์กลางอยู่ที่ครูอยู่ดี และนโยบายอื่น ๆ ที่ยกขึ้นมาอย่างงง ๆ และถูกปัดทิ้งอย่างงง ๆ เมื่อหัวหน้าคนใหม่มาประจำการ
เราเห็นภาพการศึกษาไทยเป็นอย่างไรในอีก 20 ปีข้างหน้า ลูกหลานของเราจะเดินหน้าไปแบบไหน?
คำถามนี้จะตอบได้ ก็ต่อเมื่ออีก 20 ปี เราไม่ใช้รัฐมนตรีอย่างสิ้นเปลือง และเลือกคนที่จะมาทำหน้าที่วางรากฐานการศึกษาอย่างตั้งใจจริง ไม่ใช่แค่รับใบสั่งจากรัฐบาลอย่างที่เป็นมา!
🎸🎶🎶🎼🎶🎶🎸 นโยบาย คือ หากประชาชนมีความรู้มันปกครอง ยาก
(🤮🤮🤮)
09 ม.ค. 2562 เวลา 01.21 น.
ชัยฅนหล่ม081-7853248 ใครเป็นร.ม.ต.ไม่แปลก แต่นักวิชาการศึกษาที่อ้างว่าตนเองมีความรู้และมีวิสัยทัศน์แต่กลับทำตัวเป็นควายถึกให้นักการเมืองจูงจมูก หาแต่การสร้างนโยบายขายฝันหาเงินประเคนนักการเมืองต่างหากที่สมควรลาออกไปกินหญ้า มากกว่าที่จะมาแฝงตัวเป็นนักวิชาการศึกษาต้องดู ม.ล.ปิ่น มาลากุล ณ.อยุธยาเป็นต้นแบบของการทำงานบ้าง
09 ม.ค. 2562 เวลา 01.22 น.
wichat เอา รมต.ที่ไม่รู้ลึกซึ้งถึงการจัดระบบการศึกษามันจึงออกมาอย่างที่เห็น ว่าสุดก็เอา นพ.มาเป็นรมต.บ้าไหม
09 ม.ค. 2562 เวลา 01.08 น.
Natenaa เป็นห่วงอนาคตลูกหลาน เพราะเปลี่ยนแปลงนโยบายการเรียนการศึกษาทุกครั้งที่เปลี่ยน รมต. เมื่อไหร่จะมีคนมาหยุดวงจรอุบาทว์ซะที แล้วหันมาแก้ไขอย่างจริงจัง
09 ม.ค. 2562 เวลา 01.27 น.
OAKLAND นโยบายที่ไม่เข้าใจระบบการศึกษา และเป้าหมายของการจัดการศึกษา รวมถึงสารพัดการประเมิน ล้วนดึงครูออกจากนักเรียน กี่คนๆ ที่มาบริหารนโยบายกระทรวงก็ไม่ต่างกัน. สุดท้ายมาลงที่ครู...ลองบริหารแบบไม่ต้องมีแบบ เน้นเป้าหมายที่นักเรียนเก่ง ดี มีความสุข ครูคนไหนทำไม่ได้ก็พิจารณาด้านสมรรถภาพการทำงาน ยิ่งครูคศ.สูงๆ ถ้ายังมีเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ควรต้องพิจารณาว่ายังสมควรได้ค่าตอบแทนมากๆ อยู่ไหม
09 ม.ค. 2562 เวลา 01.53 น.
ดูทั้งหมด