ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

วงการโฆษณามีหนาว! ยักษ์ใหญ่ Tech Company อย่าง Alibaba - Amazon แห่รุกธุรกิจ

Brandbuffet
อัพเดต 21 ก.ค. 2561 เวลา 16.49 น. • เผยแพร่ 20 ก.ค. 2561 เวลา 10.27 น. • Creativity

Alibaba Group ลุยเข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นของFocus Media Information Technology ประเทศจีนเพื่อมองโอกาสใหม่ทางธุรกิจ โดย Alibaba จะจ่ายเงินทั้งหมด 1.43 พันล้านดอลลาร์สำหรับหุ้นจำนวน 6.62% ของ Focus Media ซึ่งปัจจุบันบริษัทแห่งนี้เป็นเจ้าของจอโฆษณาดิจิทัลบนท้องถนน รถไฟใต้ดิน และในลิฟท์ในกว่า 300 เมืองทั่วประเทศจีน มีศักยภาพเข้าถึงชนชั้นกลางจำนวน 200 ล้านคน และ Alibaba ยังประกาศอีกว่ามีแผนที่จะซื้อหุ้นเพิ่มอีก 5% ภายใน 12 เดือนนี้ด้วย

ไม่ใช่เพียงแค่ Alibaba โดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีการซื้อหุ้นภายใต้ชื่อ New Retail Strategic Opportunities Fund กองทุนที่ Alibaba ลงทุน ก็เข้าซื้อหุ้น Focus Media อีก 1.37% ด้วยเช่นกัน ทำให้การลงทุนทั้งหมดของ Alibaba ใน Focus Media รวมเป็น 2.23 พันล้านดอลลาร์ หรือ 10.32% ทั้งนี้ยังไม่รวมกับอีกการเข้าซื้อในอนาคตอีก 5%

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การเข้าซื้อ Focus Media นี้ ก็เพื่อทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน ของ Alimama (บริษัทดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่ใหญ่ที่สุดของ Alibaba) กับ Focus Media ให้เข้าขากันมากขึ้น เพื่อที่ตั้งเป้าหมายระยะกลางให้สื่อโฆษณาของเครือขยายไปยัง 500 เมืองทั่วประเทศจีนและเข้าถึงลูกค้าชนชั้นกลางได้ 500 ล้านคน นอกจากนี้ Alibaba ยังสามารถเสนอช่องทางดิจิทัลใหม่ผ่านการขายของผ่านแพลทฟอร์ม e-commerce ที่จะตอบสนองต่อผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมากขึ้น เรียกได้ว่าครบจบ ตั้งแต่โฆษณาจนปิดการขายออนไลน์ได้เลย…

โดยตอนนี้ Alibaba มีแผนการทำ“Uni Marketing” นำข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์เพื่อช่วยเหลือแบรนด์ต่างๆ เมื่อได้สื่อ OHM ของ Focus Media เข้ามาเพิ่มก็ทำให้ Alibaba แข็งแกร่งทั้ง online และ offline

ในขณะที่อีกฝากหนึ่งของโลก Amazon ที่เริ่มหันมาทำโฆษณาในเว็บไซต์ของตัวเองนั้นกำลังทำงานร่วมกับแบรนด์โดยตรงและพยายามเบียดเอเจนซี่โฆษณาออกไป ที่ผ่านมาแม้ว่า Amazon จะมีการปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์โดยตรงผ่าน Amazon Marketing Services ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจโฆษณาของ Amazon และรวมไปถึง Self-serve ads อยู่แล้ว แต่การทำงานร่วมกับแบรนด์ใหญ่โดยตรงและไม่ได้ผ่านเอเจนซี่โฆษณาแล้วถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่สำหรับ Amazon โดยที่ผ่านมา Amazon ได้ส่งทีมงานไปคุยกับนักการตลาดและ CMO หลายบริษัทแล้วด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ถือเป็นเรื่องที่นักการตลาดหลายคนในบางประเทศรอมานานแล้ว เนื่องจากการลงทุนใน Amazon เป็นการจัดการที่ครบสูตร ตั้งแต่การเปิดร้านทางออนไลน์ การรีวิว และการส่งของ รวมทั้งระบบโฆษณา บริการที่ Amazon นำเสนอมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลัง

Seth Dallaire รองประธานฝ่ายขายโฆษณาและการตลาด ของ Amazon กล่าวว่า บริษัทได้ทำงานโดยตรงกับแบรนด์เพื่อให้เกิดความลุ่มลึกของการทำข้อมูลการค้าปลีกมาวิเคราะห์ เช่น ทำไมของเหล่านี้ถึงขายดีจนหมดเกลี้ยง และจะตั้งราคาสินค้าอย่างไรและจะเสนอให้ลูกค้าอย่างไร

แบรนด์ขายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ IT ต่างๆ อย่าง HP ก็ถือเป็นลูกค้าแบรนด์ใหญ่ของ Amazon ในตอนนี้ จากการสัมภาษณ์ Dan Salzman หัวหน้าแผนกสื่อระดับโลกกล่าวว่า Amazon ได้กลายมาเป็นพันธมิตรสื่อลำดับที่สาม รองจาก Facebook และ Google โดยที่แบรนด์พบว่า Amazon มีประโยชน์มาก เมื่อมาถึงสิ่งที่ Salzman เรียกว่า “lower funnel activities” (การมีลำดับขั้นที่ลดลงของการทำงาน) 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“สิ่งสำคัญที่ Amazon มี คือสามารถให้คำตอบได้ว่าอะไรที่ทำให้มันขายได้ การค้นหาผ่าน Amazon และมีการรีวิวสินค้าบนแพล็ตฟอร์ม เป็นส่วนหลักที่ทำให้เกิดเส้นทางการซื้อของลูกค้า HP และโฆษณาของ Amazon นั้นก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ผลในการต้อนลูกค้ามาให้กับแบรนด์” Salzman แสดงความเห็น และยังกล่าวเสริมอีกว่า “การทำงานโดยตรงต่อทีมของ Amazon ทำให้ใช้เวลาน้อยและการทำงานที่มีประสิทธิภาพมาก”

จากการรายงานผลกำไรในช่วงไตรมาสแรกของ Amazon รายได้จากโฆษณาเพิ่มขึ้น 132% ต่อปี และตอนนี้ Amazon มีรายได้จากด้านนี้แล้วถึง 2 พันล้านดอลลาร์

สิ่งที่ Amazon ทำในตอนนี้ไม่ใช่อะไรใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ Google ก็ทำในแบบเดียวกันและแบรนด์เริ่มที่จะเดินหนีออกจาก Agency มากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการตลาดในปัจจุบันที่มีการพึ่งพาและขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมากกว่าในอดีตนั่นเอง…คำถามที่เปิดขึ้นก็คือ วงการโฆษณา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีเดีย และหรือ ดิจิทัล เอเจนซี่ ทั้งหลาย จะทำอย่างไรในเมื่อยักษ์ใหญ่ของวงการไอที ที่คุมช่องทางการขาย ต่างก็รุกคืบเข้าสู่วงการโฆษณามากขึ้นทุกทีๆ 

Source

Source

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • padech
    ไม่เคยคิดที่จะซื้อของจากการโฆษณา ทางออนไลน์เลย เพราะส่วนมากโฆษณาเกินจริง
    20 ก.ค. 2561 เวลา 18.26 น.
ดูทั้งหมด