ไอที ธุรกิจ

องคมนตรี ยก “ศาสตร์พระราชา” ขจัดปัญหายากจนตรงจุด ลดเหลื่อมล้ำหลังโควิด

เส้นทางเศรษฐี
อัพเดต 13 ก.ค. 2563 เวลา 04.06 น. • เผยแพร่ 12 ก.ค. 2563 เวลา 01.36 น.

องคมนตรี ยก “ศาสตร์พระราชา” ขจัดปัญหายากจนตรงจุด ลดเหลื่อมล้ำหลังโควิด

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเวที Recover Forum เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของไทยหลังโควิด-19 โดยมีการหารือถึง การขจัดความยากจนอย่างตรงจุด ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยุคหลังโควิด-19  ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้ให้เกียรติบรรยายและร่วมแลกเปลี่ยน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวว่า โดยส่วนตัวสนใจเรื่องความยากจนมานานแล้ว เพราะได้มีโอกาสถวายงานใกล้ชิดในโครงการหลวง ซึ่งให้ความสำคัญกับปัญหาความยากจน เกิดเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือรับมือวิกฤตของโลก และเชื่อว่ากลยุทธ์การพัฒนา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่ สอวช.จัดทำนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุเศรษฐกิจพอเพียงไว้ อยากให้ไปศึกษาศาสตร์พระราชามาปรับใช้เพื่อการแก้ปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด เช่น โครงการหลวง โครงการพระราชดำริทั่วประเทศ เป็นโครงการแก้จน ที่พลิกความจนเป็นความพอดี จนไปสู่อยู่ดีกินดี ตลอด 51 ปี ที่น้อมนำแนวคิดของพระองค์มาใช้ ในภาวะวิกฤตก็กระทบแต่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว

ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวอีกว่า วิกฤตโควิด ทำให้เห็นชัดเจนว่าประเทศไทยมีจุดแข็งสำคัญที่ทั่วโลกยกย่องว่าการจัดการสาธารณสุขได้อย่างยอดเยี่ยม โดยดึงศักยภาพของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกำลังสำคัญที่ทำงานกับชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง อย่างไรก็ตามก็ยังมีจุดอ่อนแออยู่คือการเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือวิกฤต ช่วงที่โรงงานปิดคนตกงาน หลายคนไม่มีแม้แต่ที่อยู่ ทุกวงการได้รับผลกระทบและอยู่ในภาวะชะงักงัน ดังนั้นการเตรียมการเพื่อการรองรับวิกฤตโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นแนวทางที่ตรงจุดและได้ยกวิธีคิดที่ท้าทายของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่สามารถขจัดความยากจนภายใน 5 ปี (2559 – 2563) ซึ่งในปี 2559 มีคนยากจนอยู่ 80 ล้านคน โดยในปี 2561 ได้มีโอกาสไปดูงานที่มณฑลหูหนาน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายไม่แก้จน เป็นรายบุคคล แต่แก้ใน 2 มิติคือ มิติครอบครัวและมิติชุมชน โดยมอบหมายให้ข้าราชการ 1 คนเป็นพี่เลี้ยง 1 ครอบครัว และมีเป้าหมายต้องหายจน ภายใน 5 ปี อย่าแก้แบบเหวี่ยงแห เพราะรายละเอียดปัญหาของแต่ละครอบครัว แต่ละพื้นที่ ไม่เหมือนกัน

ส่วนในระดับชุมชน มหาวิทยาลัยหูหนาน ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปทำงานกับชุมชน ชาวเขาของจีน เพื่อดำเนินการ 5 เรื่อง คือ 1. ดิน ต้องวิเคราะห์ว่าเหมาะปลูกพืชชนิดไหน 2. น้ำต้องมีทั้งปี 3. ต้องวางแผนว่าข้าวที่เคยปลูก จะเปลี่ยนพันธุ์หรือไม่ โดยคณะเกษตรของมหาวิทยาลัย มาเป็นพี่เลี้ยงตลอดปี  4. การเก็บเกี่ยวจะมีนักวิชาการมาช่วยทำ สมาร์ตฟาร์มมิ่ง 5. ตลาด ต้องหาตลาดให้กับชุมชน โดยให้คณะวิจิตรศิลป์ นำดิจิตอลเข้ามาสอนให้กับชาวบ้าน ออกแบบแพ็กเกจและทำการค้าขายออนไลน์กับต่างประเทศ นอกจากนี้ในทางการแพทย์ มีการเน้นเรื่องการรักษาโรคเฉพาะบุคคล อย่างไรก็ตาม การปรับใช้ในประเทศไทยสามารถทำได้ในบางจุด เพราะแนวนโยบายของรัฐบาล และสภาพสังคมก็แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“โควิด-19 กระตุกต่อมคิดอย่างไม่เคยมีมาก่อน เรามีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ  มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏ วิทยาลัยชุมชน ตลอดจนมหาวิทยาลัยเอกชนอีกหลายแห่ง จะดึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยมาช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างไร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมโดยมีรัฐบาลร่วมลงทุน ต้องฉีดวัคซีน 4 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม โดยต้องมีคุณธรรม รู้จริง เอาวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและปฏิบัติ ขวนขวายและเอาวิชาการใหม่มาใช้ ต้องขยันหมั่นเพียร อดทน” ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าว

สำหรับกลยุทธ์การพัฒนา อววน. ตามที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่การนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการแก้ปัญหาความยากจน นั้น ดร.กิติพงค์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สอวช.ได้ดำเนินการจัดทำ กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. เพื่อการพัฒนา พ.ศ. 2563-2570 โดยมี 6 กลยุทธ์การพัฒนา อววน. คือ 1. สร้างเสริมความมั่นคงของมนุษย์และพลังทางสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2. เปลี่ยนความยากจนสู่ความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง 3. ขับเคลื่อนบีซีจี เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืนบนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 4. เปลี่ยนผ่านภาคการผลิตอุตสาหกรรมและบริการสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม 5. พัฒนาการอุดมศึกษาและกำลังคนตอบโจทย์ประเทศ 6. ปฏิรูประบบ อววน.ให้เกิดประสิทธิผล โดยจะใช้พลังมหาวิทยาลัยลงช่วยเหลือชุมชนทั่วประเทศ

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 4
  • vichai 🍁🌾🌱☘️
    แหมมมม....ทำไงถึงจะมีทรัพย์สิน1ล้านล้านอ่ะ...อยากทราบและเจริญรอยตามจริงๆ...คงไม่ใช่ได้มาจากทำเกษตรหรอกมั้ง
    20 ก.ค. 2563 เวลา 12.33 น.
  • Duke
    คนยุคนี้ ก็ขายที่ดินมรดก เอาเงินก้อนไปใช้ พอเงินหมด ก็เข้าเมืองรับจ้างหางานทำ....พอต้องจำใจกลับมาบ้าน ก็มีแต่บ้าน ไม่มีที่ดิน งานรับจ้างในต่างจังหวัดก็ไม่มี ก็ต้องไปเช่าที่ดินเขาปลูกโน้นี้ ขาย กู้เงินทำเกษตร ขาดทุน ค่าเช่าไม่มีจ่าย ก็กู้หนี้นอกระบบ หนี้ ธกส ก็ต้องจ่าย หนี้นอกระบบก็ทวงเช้าทวงเยน....ทั้งหมด มันเกิด เพราะอะไร ล่ะ.... พอรัฐแจกที่ดินให้ทำเกษตรกรรม หากิน คนเหล่านี่ก็เอาไปขายแบบ เซ็นกันลับๆ หรือไปปล่อยเช่า ให้คนอื่นมาลงทุนแทน และรอ 15 ปี ออกโฉนดสุดท้าย ก็ขาย....งามไส้ไหม
    17 ก.ค. 2563 เวลา 11.37 น.
  • 9ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละ2 คนเป็นอย่างต่ำ รวมมีคนมากกว่า18ล้านคน มีรายได้จากการเกษตรไว้กินครัวเรือนละเท่าไรต่อปีลองคำนวนดู และถ้าไม่ทำการเกษตรจะเอาที่ไหนมากินและใช้ แล้วทีมเศรษฐกิจปัจจุบันคิดถึงบ้างหรือเปล่าถึงพูดว่าเกษตรมีมูลค่าน้อยกว่าการท่องเที่ยว แต่อย่าลืมว่าเกษตรเลี้ยงคนเกิน18ล้านคนให้อยู่ได้และยังเผื่อแผ่ไปยังอุตสาหกรรมอีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น คนงานทำเครื่องจักรการเกษตร อาหาร น้ำมัน ตลาดการเกษตร รถปิคอัพ รถบรรทุก โรงสี ผู้บริโภคข้าวทั้งประเทศ เงินเยอะถ้าคิดละเอียดรวมที่เก็บไว้กิน
    12 ก.ค. 2563 เวลา 14.38 น.
  • GNUN
    ท่านละเมอหรือเปล่า ทำไมคนไทยยากจนหนี้ท่วมหัว ท่านเป็นคนดีคนหนึ่งเสียดายที่ท่านยังเป็นต่อ
    12 ก.ค. 2563 เวลา 13.52 น.
ดูทั้งหมด