เคยฝันว่าอยากได้บ้านสวย ๆ แต่กลับมีปัญหาในการสื่อสารกับเพื่อน ๆ หรือนักออกแบบไม่ถูก ว่าสไตล์นี้เรียกว่าอะไรมั้ยครับ หรือเคยสงสัยหรือเปล่าครับว่าทำไมเวลานักออกแบบแต่งบ้านออกมา… ทุกอย่างเข้ากันไปหมด ซึ่งบางทีเราอาจจะคิดว่าการตกแต่งบ้านเป็นเรื่องง่าย ใคร ๆ ก็ทำได้! แต่ทำไมทำออกมาแล้วก็ไม่เหมือนกับนักออกแบบที่เป็นคนทำ… เค้าทำได้อย่างไร? มีตัวช่วยอะไรบ้าง? วันนี้ผมมีเคล็ดลับมาบอกครับ
จริง ๆ แล้วคำตอบของการตกแต่งบ้านให้สวย มีเอกลักษณ์โดดเด่นนั้นทำไม่ยาก เพียงแค่มีสไตล์ให้ชัดเจน! เพราะสไตล์มีความสำคัญมาก เป็นเหมือน Roadmap นำทางไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้ โดยองค์ประกอบต่าง ๆ ในการตกแต่งภายใน ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบหลัก องค์ประกอบรอง การใช้วัสดุ การใช้โทนสี ฯลฯ จะไปในทิศทางเดียวกันหมด ในตอนนี้จะขอเสนอวิธีเรียก และสังเกตสไตล์แบบง่าย ๆ เป็นสไตล์ยอดฮิตที่นิยมกันทั่วไปในบ้านเรา บางท่านอาจจะรู้และคุ้นเคยอยู่บ้างแล้ว ในครั้งหน้าผมจะเอาสไตล์ที่มีความ Advance มากขึ้น มาเล่าสู่กันฟังนะครับ แต่ท่านที่ยังไม่รู้ลองสังเกตและลองจำชื่อเรียกของสไตล์แต่ละสไตล์ เผื่อเวลาใครมาถามหรือขอความคิดเห็นก็สามารถอธิบายอย่างมืออาชีพได้เลยครับ
- Modern Style
หรือที่แปลตรงตัวว่า “ทันสมัย” เป็นสไตล์ที่ใช้องค์ประกอบของเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นเส้นสายของแนวนอนและแนวตั้ง หรือรูปทรงเรขาคณิตที่ถูกตัดทอนองค์ประกอบของรายละเอียดที่มากมาย ให้ออกมาเรียบง่าย สะอาดตา เน้นประโยชน์ใช้สอย เป็นสไตล์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานสถาปัตยกรรมยุค 20 สีที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเฉดสีกลาง ๆ เช่น ขาว เทา ครีม เบจ และอาจจะตัดด้วยสีที่โดดขึ้นมา อุปกรณ์ที่ใช้ในบ้านจะมีความทันสมัย บ้านเรานิยมใช้การตกแต่งสไตล์นี้เพราะเนื่องจากใช้เฟอร์นิเจอร์ในการตกแต่งไม่มากแต่เพียงพอในการใช้งาน ปล่อยให้ Space ของสถาปัยกรรมเป็นพระเอกในการสร้างบรรยากาศการตกแต่งภายใน
องค์ประกอบของงานตกแต่งภายใน Modern Style
- จัดแปลนการใช้งานแบบเปิดโล่ง (Open Space)
- จัดวางองค์ประกอบของ พื้น ผนัง ฝ้าเพดาน และเฟอร์นิเจอร์ ด้วยเส้นตรงที่สอดคล้องต่อเนื่องกัน
- ใช้ของประดับตกแต่งเท่าที่จำเป็นกับการใช้งานและมีรูปทรงที่เรียบง่าย ปราศจากของประดับตกแต่งที่มีรายละเอียดยุ่งเหยิง
- มีการใช้วัสดุที่ให้ความรู้สักที่ทันสมัย เช่น โลหะ กระจก หรือวัสดุมันวาว
Modern Style สามารถแบ่งเป็นแนวทางที่เป็นปลีกย่อยได้อีกหลายแนวทาง ซึ่งแต่และแนวทางก็รับอิทธิพลมาจากแต่ละสถานที่ หรือยุคสมัยที่แตกต่างกันไป วิธีการสังเกตรูปแบบหรือองค์ประกอบที่นำมาใช้ในแต่ละแนวทางสามารถแบ่งได้ตามนี้ครับ
- Minimal Modern
เป็นการออกแบบที่ตัดทอนรายละเอียดการออกแบบออกทั้งหมดจนเหลือแต่แก่นแท้ของธรรมชาติ เป็นการลดทอนรายละเอียดสิ่งที่ไม่จำเป็นให้เหลือเพียงความเรียบง่าย ตามปรัชญาแนวคิดที่ว่า “Less is More” หรือ “น้อยแต่มาก” แนวความคิดนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น โดยถ่ายทอดผ่านทางวัฒนธรรมและพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ความน่าสนใจของงานสไตล์นี้คือการใช้องค์ประกอบที่น้อยและใช้วัสดุที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เน้นแสงและเงาที่สร้างให้บรรยากาศของห้องมีความสวยงามดั่งงานศิลปะ
องค์ประกอบของงานตกแต่งภายใน Minimal Modern Style
- องค์ประกอบในการตกแต่งภายในน้อยถึงน้อยที่สุด เน้นพื้นที่โล่งว่าง ดูสะอาดตา
- ใช้แสงและเงาในการสร้างบรรยากาศ
- ใช้โทนสีไม่สว่างไปเลย ก็เข้มไปเลยแล้วใช้แสงและเงาเป็นตัวสร้างบรรยากาศ
- *Contemporary Modern *
“ความร่วมสมัย” อาจจะใช้เป็นคำจำกัดความได้ดีของงานตกแต่งสไตล์นี้ Contemporary Modern Style มีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดในการผสมผสานของการตกแต่งสไตล์ Classic และ Modern มาผสมเข้าด้วยกันให้เกิดความลงตัวอย่างสมดุล โดยใช้เฟอร์นิเจอร์หรือของประดับที่ไม่ดูย้อนยุคหรือทันสมัยมากจนเกินไป และไม่เน้นลวดลายหรือสีสันที่ฉูดฉาด แต่คำนึงถึงความเรียบง่าย และประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก
องค์ประกอบของงานตกแต่งภายใน Contemporary Modern
- ใช้เฟอร์นิเจอร์รูปทรง Classic แต่ถูกตัดทอนรายละเอียดให้ดูทันสมัยขึ้น
- ใช้โทนสีในกลุ่มเอิร์ธโทน
- ใช้ไม้ กระจก ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์สีเรียบ ๆ ไม่มีลวดลาย
- องค์ประกอบในการตกแต่งภายในไม่เน้นรายละเอียดที่มาก ๆ ดูสะอาดตา
- Mid-Century Modern
บรรยากาศของบ้านที่มีองค์ประกอบการตกแต่งภายในที่เรียบง่าย แต่อัดแน่นไปด้วยประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก สภาพแวดล้อมของห้องใช้วัสดุที่ง่าย ๆ เน้นการใช้สัจวัสดุ เช่น ผนังที่ฉาบปูนหรือก่ออิฐแล้วทาสีเลย พื้นปูด้วยไม้สีธรรมชาติ แทรกด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่มีกลิ่นอายโมเดิร์นในยุค 50 – 80 หรือที่รู้จักกันในนาม Bauhaus ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของสไตล์นี้คือ เก้าอี้ในตะกูล Eames Chair จาก Charles & Ray Eames ดีไซน์เนอร์ผู้บุกเบิกสไตล์ Mid-Century Modern ในการเป็นจุดเด่นของงานออกแบบสไตล์นี้ เป็นต้น
องค์ประกอบของงานตกแต่งภายใน Contemporary Modern
- การใช้โทนสีสว่าง สีอ่อน – สีพาสเทล
- องค์ประกอบของการตกแต่งภายในที่มีรูปทรงเรขาคณิต และมีความโค้งมน
- องค์ประกอบของลายเส้นที่ดูสะอาดตาเป็นธรรมชาติ เน้นความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา และชัดเจน
- เน้นเรื่องประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก (Form Follows Function)
- Modern Luxury
เป็นคำจำกัดความของการตกแต่งภายในที่นำเอาความร่วมสมัยของสไตล์ Contemporary Modern มาบวกกับการใช้วัสดุที่สะท้อนถึงความหรูหรา ได้แก่ หินอ่อน ผ้าไหม หนังหรือขนสัตว์ กำมะหยี่ กระจก แก้วคริสตัล และโลหะที่มีความมันวาว เช่น สแตนเลส ทองเหลืองเฉดสีต่าง ๆ มาเป็นองค์ประกอบในงานตกแต่งภายใน ทำให้เกิดความโดเด่น สร้างบรรยากาศการตกแต่งภายในให้ดูหรูหรา สง่างามมีระดับมากยิ่งขึ้น
องค์ประกอบของงานตกแต่งภายใน Modern Luxury
- การใช้โลหะที่มีความมันวาวมาเป็นตัวช่วยเสริมขององค์ประกอบของเฟอร์นิเจอร์ ผนังตกแต่ง ตัดขอบฝ้าเพดาน หรือแม้กระทั่งลายพื้น
- การคุมโทนสีของการใช้วัสดุให้ภาพรวมไม่มีความหลากหลายมากนัก เพราะจะได้ไม่แย่งความโดเด่นของความมันวาวของโลหะ
- การใช้วัสดุที่มีราคา เช่น หินอ่อน หินแกรนิต กระจก แก้วคริสตัล
- Vintage Style
บ้านที่ตกแต่งสไตล์วินเทจ ไม่ได้หมายถึงบ้านที่มีหรือสะสมแต่ของเก่าเท่านั้น แต่กลับเป็นบ้านที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของบ้านยุค 40 – 50 ที่มีบรรยากาศของบ้านอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความรักความอบอุ่น มีเรื่องราวจากการผสมผสานของของประดับตกแต่งสมัยเก่าหลาย ๆ อย่างรวมกัน
องค์ประกอบของงานตกแต่งภายใน Vintage Style
- ผนังตกแต่งด้วยไม้แบบซ้อนเกล็ด หรือติดคิ้วบัวเล็ก ๆ
- นิยมใช้โทนสีไปทางสีอ่อน เช่น โทนสีเอิร์ธโทน หรือพาสเทล
- การใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีลอยถลอก สีที่หลุดล่อนออกไปช่วยส่งเสริมให้บรรยากาศของบ้านเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ผ่านกาลเวลามานาน
- โซฟา - อาร์มแชร์ที่มีความโค้งมน รับกับสรีระ ช่วยทำให้บรรยากาศของบ้านดูอบอุ่น ผ่อนคลายและสบายเมื่อได้ใช้งาน
- ใช้วัสดุที่ให้ความรู้สึกถึงธรรมชาติ เช่น ไม้ที่ทาสีอย่างง่าย ๆ ผ้าฝ้าย ฝ้าลินิน หรือแม้กระทั่งโคมไฟใบไม้ดอกไม้ทองเหลือง เป็นต้น
- Loft / Industrial Style
เป็นการสร้างบรรยากาศในบ้านด้วยการโชว์โครงสร้าง เหมือนย้อนเวลากลับไปในยุคอุตสาหกรรมที่มีการใช้เหล็กเป็นองค์ประกอบหลักในการตกแต่งภายใน และใช้สัจวัสดุที่มีความดิบ มีผิวสัมผัสที่ไม่ผ่านการแปรรูปมากนัก มาเป็นองค์ประกอบรองในการตกแต่งภายใน เช่น เหล็ก ปูน อิฐ ไม้ หนัง เป็นต้น
องค์ประกอบของงานตกแต่งภายใน Loft / Industrial Style
- เปิดฝ้าเพดานสูง เลียนแบบบรรยากาศอาคารโรงงานเก่า
- ผนังก่ออิฐหรือปูนเปลือย
- การใช้เหล็กมาเป็นวัสดุหลักในการตกแต่งภายใน เช่น โครงสร้างเหล็ก ท่อเหล็ก ท่อร้อยสายไฟ บันได
- Scandinavian Style
หรือ Nordic Style เป็นคำที่ใช้เรียกสไตล์การแต่งบ้านของคนในแถบสแกนดิเนเวีย (เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์) การตกแต่งสไตล์นี้เป็นที่ชื่นชอบในบ้านเรามาอย่างยาวนาน เพราะให้ความรู้สึกถึงบรรยากาศแห่งการผ่อนคลาย เป็นกันเอง อบอุ่น สบายใจ ใกล้ชิดธรรมชาติ เพราะโทนสีหลักของการตกแต่งสไตล์นี้จะใช้โทนสีสว่าง และสีขาวเป็นหลัก เนื่องจากในแถบสแกนดิเนเวียมีอากาศหนาวเย็น และในฤดูหนาวจะมีความมืดสลัวเกือบทั้งวัน การตกแต่งบ้านจึงนิยมใช้โทนสีอ่อนไปจนถึงสีขาว เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกสว่างและอบอุ่นภายในบ้านให้มากที่สุด
องค์ประกอบของงานตกแต่งภายใน Scandinavian Style
- เน้นการใช้โทนสีสว่าง หรือสีขาวเป็นหลัก แซมด้วยโทนสีแบบพาสเทลอ่อน ๆ หรือโทนสีเอิร์ธโทน
- ใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้สีอ่อน
- การนำผ้าขนสัตว์หรือปลอกหมอนที่ถักด้วยไหมพรม ช่วยสร้างบรรยากาศให้บ้านมีความอบอุ่นมากขึ้น
- Art Deco
เป็นสไตล์การตกแต่งภายในที่ได้รับความนิยมอย่างมากในฝรั่งเศสในช่วงปี ค.ศ. 1920 เป็นต้นมาและแผ่ขยายไปทั่วโลก ด้วยเอกลักษณ์ของการใช้เส้นตรงและเส้นโค้งที่เรียบง่าย มาทำให้เกิดรูปทรงเรขาคณิตและเกิดเป็นมุมมองจากมิติที่ซับซ้อน เปี่ยมไปด้วยพลังความเคลื่อนไหวและแข็งแรงสะท้อนถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรมในยุคนั้นมาเป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบ ซึ่งแรงบันดาลใจของงานศิลปะ Art Deco ได้รับมาจากศิลปะอียิปต์โบราณ (เป็นช่วงเดียวกับการขุดค้นพบสมบัติในพีระมิดและมัมมี่พอดี) และเทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ ๆ ในสมัยนั้น ที่นิยมการใช้โลหะ และ Materials ที่มีความมันวาวมาใช้เป็นองค์ประกอบในการตกแต่งภายใน และนิยมใช้โทนสีเข้มมาเป็นฉากหลังให้ประกายของวัสดุโดดเด่นออกมา เป็นสไตล์ที่บ่งบอกถึงความหรูหราฟุ่มเฟือยอย่างมากในสมัยนั้น
องค์ประกอบของงานตกแต่งภายใน Art Deco
- องค์ประกอบที่เด่นที่สุดของสไตล์ Art Deco คือการตัดทอนรายละเอียดจากงานศิลปะยุค Classic โดยใช้เส้นตรงและเส้นโค้งแทน
- Pattern เรขาคณิตที่มีความสมมาตรมีลักษณะที่พวยพุ่งแสดงให้เห็นถึงพลัง และความเฟื่องฟูในสมัยนั้น
- การใช้วัสดุที่มีความมันวาว เพื่อสร้างความหรูหรา เช่น สแตนเลส ทองเหลือง กระจก คริสตัล ผ้ากำมะหยี่ ไม้เคลือบเงา เป็นต้น
- Mix and Match
หลายคนยังเกิดความลังเลที่จะตกแต่งบ้านด้วยสไตล์ Mix and Match เพราะบางครั้งความสวยงามของการตกแต่งสไตล์นี้ถูกจำกัดความอยู่บนเส้นบาง ๆ ระหว่างความเลอะเทอะไม่เข้าพวก กับความสวยงามจากความไม่เข้ากัน (จะว่าไปแล้วงานสไตล์นี้ต้องอาศัยประสบการณ์และความกล้าในการตกแต่งอย่างมากเลยทีเดียว!) แต่สิ่งสำคัญก่อนประโคมทุกอย่างลงในห้อง ควรกำหนดพื้นที่ใช้สอยหรือฟังก์ชันให้กับห้องนั้น ๆ เสียก่อน แล้วจึงตามด้วยกฎ 80/20 คือกำหนดทิศทางและภาพรวมของสไตล์ห้องให้เป็นสไตล์เดียวกัน 80% แล้วจึงตามด้วยสไตล์ที่เป็นรองลงมาอีก 20% ไม่ว่าคุณจะจับคู่กับสไตล์ไหนเข้าด้วยกัน การใช้สีที่เชื่อมโยงกัน ก็เป็น Tips เล็ก ๆ ที่สามารถเชื่อมสไตล์ทั้งสองให้เข้ากันได้อย่างดี สุดท้ายลองหาจุดเด่นจากองค์ประกอบของทั้งสองสไตล์ที่ไม่เข้ากันมาสร้างให้เป็นไฮไลท์ให้กับห้องจะเป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้กับห้อง ดูโดดเด่นไม่น่าเบื่อขึ้นมาเลยทีเดียวครับ
องค์ประกอบของงานตกแต่งภายใน Mix and Match
- มีการใช้องค์ประกอบของสไตล์ที่ไม่เข้ากันอยู่ภายในห้องเดียวกัน
- มีจุดเด่นที่เป็นไฮไลท์ของห้องอยู่ตำแหน่งเดียว
วัฒนา โกวัฒนาภรณ์
Managing Director / Interior Designer
abalance interior design co.,ltd.