ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

หุ้นค้าปลีกไทยผงาดอาเซียน

Money2Know
เผยแพร่ 22 ก.ค. 2562 เวลา 09.30 น. • money2know - เงินทองต้องรู้

ตลาดหลักทรัพย์ออกรายงานเรื่อง “หุ้นค้าปลีกไทยอยู่อันดับไหนในอาเซียน ?” น.ส. ปฐมาภรณ์ นิธิชัย ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจค้าปลีกของไทยครองตลาดอาเซียน ดังนี้

เมื่อเมืองเติบโตขึ้น จำนวนประชากรที่อยู่อาศัยหรือทำงานในเขตเมืองย่อมเพิ่มขึ้นตลอดจนจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก อย่างไรก็ตาม ชีวิตที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ ไม่เพียงการขายสินค้าอุปโภคบริโภคแบบเดิม แต่ต้องตอบโจทย์วิถีชีวิตแบบใหม่ของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น บริการอาหารพร้อมรับประทาน บริการงานออกแบบและซ่อมแซม บริการด้านการชำระเงิน เป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ในด้านการจัดการรูปแบบสาขาและสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี big data analytic เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละบุคคล รวมถึงการพัฒนา e-commerce และบริการขนส่งสินค้า

ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทยในกลุ่มค้าปลีกเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปีในช่วงปี 2557-2561 และมีการจ้างงาน 1.7 แสนคนในปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้น 12.6% ต่อปีในช่วงปี 2557-2561

ธุรกิจค้าปลีกไทยไม่ได้เติบโตเฉพาะในประเทศ ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยในกลุ่มค้าปลีกขยายธุรกิจในต่างประเทศจำนวนมากทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน และมีแผนที่จะขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สำหรับในอาเซียน บริษัทมีรูปแบบการขยายธุรกิจทั้งการเปิดสาขาใหม่เอง และร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น เช่น บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เปิดสาขา BigC ในเวียดนาม และลาว บมจ.โรบินสัน (ROBINS) เปิดสาขาโรบินสันในเวียดนาม บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) เปิดสาขาในกัมพูชา และร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นขยายสาขาในลาว และเมียนมา บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) เปิดสาขาแม็คโครในกัมพูชา และ บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) เปิดสาขาโฮมโปรในมาเลเซีย นอกจากนี้หลายบริษัทยังมีสาขาหรือมีแผนขยายสาขานอกภูมิภาคอาเซียน เช่น อินเดีย

จากศักยภาพในการเติบโตดังกล่าวส่งผลให้หุ้นในกลุ่มค้าปลีกของไทย 6 บริษัทติด 10 อันดับหุ้นค้าปลีกอาเซียน1 ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงที่สุด โดย บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนทั้งด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 24,316 ล้านเหรียญสหรัฐ และรายได้ที่ 15,742 ล้านเหรียญสหรัฐ

ธุรกิจค้าปลีกเป็นตัวอย่างที่ดีของการปรับตัวตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดูข่าวต้นฉบับ