ทั่วไป

กฎเหล็กคุมสายสื่อสาร กทม.บี้ทุกค่ายมุดใต้ดิน 'ทรู'คว้าสัมปทานท่อ30ปี

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 18 มิ.ย. 2562 เวลา 03.48 น. • เผยแพร่ 16 มิ.ย. 2562 เวลา 11.09 น.
กทม.ทุ่ม 2.7 หมื่นล้าน เร่งวางท่อร้อยสายใต้ดิน จัดระเบียบสายสื่อสารเมืองกรุง ถนนสายหลักสายรอง 2,450 กม. ออกกฎเข้มห้ามพาดสายสื่อสารบนเสา บี้ทุกโครงข่ายมุดลงดิน ดัน “กรุงเทพธนาคม” บริษัทลูกลงทุน ก่อนดึงเอกชนบริหาร ชี้ผลตอบแทนตลอดอายุสัมปทาน 5-6 หมื่นล้าน เร่งปิดดีลเจรจา “ทรู อินเตอร์เน็ต” คว้าสัญญาเช่า 30 ปี เปิดช่องให้จัดการเบ็ดเสร็จ ดึงผู้ประกอบการโทรคมนาคมร่วมเช่ารายเดือน ยักษ์สื่อสารโอดต้องจ่ายแพงร้อง กสทช.คุมราคา

นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ (บอร์ด) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อจัดระเบียบเมืองให้สวยงามตามนโยบายรัฐบาล กทม.มอบให้เคทีดำเนินการโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่ กทม.ระยะทาง 2,450 กม. วงเงินก่อสร้างไม่เกิน 27,000 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในปี 2564

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ลงทุน 2.7 หมื่นล้าน 4 โซน

โดยเคทีจะลงทุนสร้างท่อร้อยสาย (micro duct) กว่า 20,000 ล้านบาท และให้ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อสารมาเช่าใช้บริการ เงินลงทุนจะมาจากเงินกู้ 30% และรายได้จากค่าเช่าที่เอกชนจ่ายให้แต่ละปี ตลอด 30 ปี คาดว่าจะมีผลตอบแทน 50,000-60,000 ล้านบาท หักค่าลงทุน 20,000-30,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นรายได้ที่เคทีจะได้รับ สำหรับพื้นที่เป็น 4 โซน ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ ตอนเหนือ 2.กรุงเทพฯตะวันออก 3.กรุงธนเหนือ และ 4.กรุงธนใต้ ครอบคลุมถนนสายหลักสายรองของทั้ง 50 เขต โดยเคทีเปิดประมูลแบบนานาชาติคัดเลือกผู้รับจ้างมาดำเนินการรูปแบบ EPC หรือจ้างเหมา คือสำรวจ ออกแบบด้านวิศวกรรม จัดหาอุปกรณ์ และก่อสร้าง ขณะนี้ได้ผู้รับจ้างแล้วทั้ง 4 โซน ผู้รับจ้างเสนอราคาไม่เกินกรอบราคากลาง 5,142 ล้านบาท

โซน 1 และโซน 4 แม่น้ำเจ้าพระยา คลองรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ถนนพระรามที่ 1 พญาไท เพชรบุรี พิษณุโลก วิภาวดีรังสิต ลาดพร้าว ฯลฯ กิจการร่วมค้าเอสซี, แอลเอสทีซีและฟอสส์ ประกอบด้วย บจ.ซิโนไฮโดรฯ จากจีนร่วมกับบริษัท ฟอสส์ เทเลคอม ดำเนินการ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โซน 2 คลองสามวา คลองแสนแสบ ลาดพร้าว วิภาวดีรังสิต ทางรถไฟเลียบถนนดวงพิทักษ์ พระราม 4 สุขุมวิท คลองพระโขนง ฯลฯ กิจการร่วมค้าเอดับบลิวดี ประกอบด้วยบริษัท เด็มโก้ กับบริษัท แอ๊ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (AIT) ดำเนินการ

และโซน 3 ถนนเอกชัย คลองดาวคะนอง แม่น้ำเจ้าพระยา คลองรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ถนนพระรามที่ 4 สุขุมวิท ฯลฯ กิจการร่วมค้าจีเคอี แอนด์เอฟอีซี ประกอบด้วยบริษัท กันกุล เอนจิเนียริ่ง ดำเนินการ

ทรูคว้าสัญญาเช่า 30 ปี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายกิติศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการคัดเลือกผู้ประกอบการมาบริหารจัดการ หลังเปิดให้ผู้ประกอบการทุกรายมีใบอนุญาตจาก กสทช.ยื่นข้อเสนอ มี บจ.ทรู อินเตอร์เน็ต คอปอเรชั่น ยื่นรายเดียวและผ่านการพิจารณาแล้ว อยู่ระหว่างเจรจาเงื่อนไขสัญญา เช่น ระยะเวลาเช่าจะให้สูงสุด 30 ปี ต่อได้อีก 15 ปี อัตราค่าเช่า เบื้องต้น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.กำหนดไว้ไม่เกิน 7,000-8,000 บาท/ท่อย่อย/กม./เดือน ถูกกว่าของ กสทช.ที่ 10,000 บาท/ท่อย่อย/กม./เดือน ทั้งนี้จะเจรจาให้ได้ข้อยุติและเซ็นสัญญาภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้

“การเจรจาที่ยังไม่ยุติ ทางทรูกำลังประเมินผลตอบแทนจากการลงทุน เพราะต้องลงทุนสายไฟเบอร์รูปแบบใหม่ ต้องมาติดตั้งในท่อร้อยสายที่เราสร้าง ใช้เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท เมื่อทรูได้สัญญาเช่าไป สามารถนำไปบริหารและประกอบกิจการต่อได้ โดยให้ผู้ประกอบการรายอื่นเช่าต่อท่อ หรือสายไฟเบอร์ไม่ว่า AIS 3BB หลังเซ็นสัญญาทรูจะต้องจ่ายเงินก้อนแรก 10-15% ของค่าก่อสร้างกว่า 20,000 ล้านบาท ให้เคทีเพื่อนำไปจ่ายค่าก่อสร้าง”

การลงทุนโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากไม่ต้องลงทุนก่อสร้างท่อร้อยสายเอง และในอนาคตจะไม่มีใครไปลงทุนเอง สามารถแชร์ร่วมกันได้ เพราะเป็นเทคโนโลยีทันสมัย แข็งแรงทนทานนาน 30-50 ปี มีขนาดเล็กความกว้างไม่เกิน 40 ซม. สามารถขุดวางท่อร้อยสายบนทางเท้าลึก 80 เซนติเมตร กระทบการจราจรน้อยสร้างเสร็จเร็ว

18 มิ.ย.คิกออฟหน้าเดอะสตรีท 

“เริ่มนำร่องพื้นที่ชั้นในก่อน ก่อสร้างพร้อมกันทั้ง 4 โซน เช่น รัชดาภิเษก สาทร พระราม 3 รวมถึงรอบเกาะรัตนโกสินทร์ วันที่ 18 มิ.ย.นี้จะเปิดตัวโครงการนำร่องบนถนนรัชดาภิเษกทั้ง 2 ฝั่งถนน จากบริเวณด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะสตรีท ไปทางแยกห้วยขวาง ระยะทาง 1 กม.”

นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการเคที กล่าวว่า วันที่ 18 มิ.ย.นี้จะเซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่ง กสทช.จะเป็นพี่เลี้ยงเคที เช่น คำนวณค่าเช่า การลดหย่อนภาษี และให้ผู้ประกอบการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เป็นต้น โครงการนี้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (DE) วันที่ 6 ก.ย. 2560 ที่มอบให้ กทม.ดำเนินการ

จี้ทุกรายต้องมุดดิน 

หากผู้ประกอบการรายใดไม่นำสายสื่อสารลงดินถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจากวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ กทม.ออกประกาศการปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 39 ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 คือ 1.ขอความร่วมือเอกชนไม่ให้มีการติดตั้ง ตาก วางหรือแขวนสิ่งใด ๆ ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนปรับ 2,000 บาท 2.สายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานแล้วจะต้องปลดหรือรื้อถอนออก และ 3.สายสื่อสารที่ติดตั้ง วาง หรือแขวนในที่สาธารณะและยังใช้งานอยู่ เมื่อมีท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ให้ปลดหรือรื้อถอนออก

แหล่งข่าวจากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยว่า หลังประกาศผลว่า ทรู อินเตอร์เน็ตฯ ได้รับการคัดเลือก บริษัทได้เจรจากับทรู อินเตอร์เน็ต ถึงรายละเอียดต่าง ๆ มา 3 ครั้ง จนวันที่ 14 มิ.ย.ยังไม่ได้ข้อสรุป และทรู อินเตอร์เน็ต ยังไม่เสนอราคาค่าตอบแทนมาแต่อย่างใด

“สิ่งที่กังวลตอนนี้คือ หากไม่สามารถเจรจากับทรู อินเตอร์เน็ตได้ กรุงเทพธนาคมควรจะล้มหรือยกเลิกการประมูลครั้งนี้ และเปิดประมูลใหม่ ไม่ควรรีบเร่ง เพราะสุ่มเสี่ยงจะผิดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง และแม้จะล่าช้าบ้างแต่ดีกว่ามานั่งแก้ปัญหาภายหลัง หรือหากผิดอะไรเกิดขึ้น คนที่จะได้รับผลกระทบมากก็คือคนทำงาน”

ลดค่าฟีดึงธุรกิจใช้บริการ

ก่อนหน้านี้ (6 พฤษภาคม) พล.ต.อ.อัศวิน พร้อมด้วยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้ร่วมแถลงข่าวการดำเนินโครงการบริหารการจัดการนำสายสื่อสารลงใต้ดินใน กทม. โดยยืนยันว่า จะดำเนินการโครงการนี้ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย 2 ปี จะเริ่มดำเนินการปลายเดือนพฤษภาคม 2562

ขณะที่นายฐากรระบุว่า เพื่อให้การนำสายสื่อสารลงใต้ดินเป็นไปอย่างรวดเร็ว จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 4 เฟสเมื่อมีความคืบหน้าของการวางท่อร้อยสายสื่อสารในแต่ละเฟสในระยะ 100 กิโลเมตรจะให้ผู้ประกอบการเจ้าของสายสื่อสารต่าง ๆ ทยอยนำสายสื่อสารเข้าในระบบทันที รวมทั้งหามาตรการกระตุ้น เช่น การลดค่าธรรมเนียมสร้างแรงจูงใจ นอกจากนี้จะพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียม กทม.ในการให้บริการดังกล่าวด้วย โดย กทม.ยืนยันว่าทำเพื่อผลประโยชน์ประชาชนและสาธารณะ ไม่คิดค่าบริการแบบมุ่งหวังผลกำไรจากผู้ประกอบการ

ร้องภาครัฐกำกับราคา

แหล่งข่าวจาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผยว่า บริษัทกรุงเทพธนาคมได้ส่งหนังสือเชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ 2-3 รายให้เข้าเสนอราคาโครงการนี้ แต่พิจารณาเงื่อนไขการลงทุนแล้ว ประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะกระทบกับธุรกิจอื่น ๆ ของบริษัท โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านราคาที่จะต้องประกาศเป็นอัตราค่าเช่าที่ผู้ประกอบการรายอื่นต้องจ่ายซึ่งสูงมาก อาจไม่คุ้ม จึงไม่เข้าร่วมเสนอราคา

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะหารือกันภายในสมาชิกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ เพื่อหาทางออกปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายของ กทม. ที่จะนำสายสื่อสารทั้งหมดลงใต้ดิน และให้กรุงเทพธนาคมเป็นผู้บริหารท่อร้อยสายทั้งหมด ที่มีลักษณะผูกขาดและกำหนดค่าบริการในอัตราที่สูงมาก สูงกว่าที่ บมจ.ทีโอทีให้บริการท่อร้อยสายอยู่ในขณะนี้

“จริง ๆ การนำสายโทรคมนาคมลงใต้ดินมีประโยชน์มาก แต่ กทม.ไม่อนุญาตให้เอกชนขุดวางท่อเอง อนุญาตเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ซึ่ง บมจ.ทีโอทีมีให้บริการค่อนข้างครอบคลุมพื้นที่ใน กทม. แต่คิดค่าเช่าแพงกว่าที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะลงทุนวางท่อเอง จึงเสนอสมาคมฯว่า จะรวมตัวลงขันวางท่อร้อยสายเองให้สมาคมฯ เจรจากับ กทม.เพื่อขออนุญาตขุดท่อ แต่เมื่อกรุงเทพธนาคมเข้ามาดำเนินการ และให้ทรูฯทำ คงต้องหารือว่า จะทำอย่างไรต่อ เพราะตอนนี้ไม่มีทางเลือกที่จะต้องนำสายลงดินด้วยต้นทุนที่สูงมากอาจต้องหารือ กสทช.ด้วย”

นอกจากนี้ในพื้นที่ต่างจังหวัด องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่งเริ่มมีแนวคิดจะเข้ามาผูกขาดการวางท่อร้อยสาย เพื่อหารายได้จากค่าบริการเช่นกัน เป็นปัญหาที่ภาครัฐต้องเข้ามากำกับดูแลการกำหนดราคาที่เป็นธรรม

ทีโอทีพร้อมเป็นทางเลือก

ด้านแหล่งข่าวจาก บมจ.ทีโอทีเปิดเผยว่า ปัจจุบันทีโอทีมีโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารใน กทม. 20,000 กิโลเมตร (จำนวนท่อคูณความยาวของสาย) กว่า 50% ของพื้นที่ ซึ่งเปิดให้โอเปอเรเตอร์รายอื่นเข้ามาเช่าใช้ได้ โดยมีรายได้ต่อปีราว 400-500 ล้านบาท แต่ไม่ได้รับอนุญาตจาก กทม.ให้ขุดวางท่อใหม่มาระยะหนึ่งแล้ว

“เชื่อว่าทีโอทียังเป็นทางเลือกให้โอเปอเรเตอร์รายอื่นเข้ามาใช้ท่อร้อยสายได้ ที่ผ่านมาได้ปรับลดราคาลง 30-40% แล้ว และหากไม่สามารถขุดท่อใหม่ได้ ทีโอทียังได้รับการคุ้มครองตามหลัก right of way ที่จะปักเสาโทรคมนาคมเองได้”

กสทช.พร้อมออกกฎคุมราคา

ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช.เปิดเผยว่า กสทช.สนับสนุนนโยบายการทำสายสื่อสารลงใต้ดินเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและทัศนียภาพที่ดีของเมือง โดยผู้ประกอบการที่ย้ายสายสื่อสารลงใต้ดินสามารถนำค่าใช้จ่ายในการย้ายสายมาหักออกจากเงินสมทบเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ได้ ปัจจุบันอนุญาตให้เฉพาะบริษัท กรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นบริษัทลูกวางท่อและให้บริการเช่าท่อเพียงรายเดียว

“หากมีปัญหาค่าเช่าแพง กสทช.จะเปิดให้แต่ละฝ่ายเข้าไปเจรจาตกลงกันเองก่อน หากไม่สามารถตกลงกันได้จะออกประกาศควบคุมราคาด้วยการกำหนดอัตราค่าบริการกลาง เหมือนก่อนหน้านี้ค่ายโทรคมนาคมไม่สามารถตกลงค่าเชื่อมต่อ (IC) กันได้”

 

คลิกอ่าน >>> 2 ปีเกลี้ยง! ทุ่ม2หมื่นล้านคิกออฟนำ “สายสื่อสารลงใต้ดิน” พลิกโฉมกทม.สู่มหานครไร้สายแห่งอาเซียน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • Yui☺️
    ควรทำนานมากแล้ว ทุก จังหวัดด้วย
    16 มิ.ย. 2562 เวลา 11.23 น.
ดูทั้งหมด