ไอที ธุรกิจ

Bond Yield ไทยจะต่ำไปไหน

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 23 ส.ค. 2562 เวลา 07.57 น. • เผยแพร่ 23 ส.ค. 2562 เวลา 07.56 น.

คอลัมน์ สถานีลงทุน

โดย ศิรินารถ อมรธรรม ThaiBMA

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ตาม นักลงทุนย่อมต้องการผลตอบแทน แต่ขณะนี้พันธบัตรรัฐบาลของหลายประเทศให้ผลตอบแทนที่ติดลบ หมายความว่าถ้านักลงทุนถือจนครบอายุ นอกจากจะไม่ได้รับผลตอบแทนแล้ว เงินต้นก็ได้รับคืนไม่เต็มด้วย แล้วใครจะไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีผลตอบแทนติดลบกัน ?

bond yield ติดลบเกิดจากธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจนเป็นศูนย์หรือติดลบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศโดยลดแรงจูงใจไม่ให้ออมเงิน แต่ให้นำเงินไปลงทุนจับจ่ายใช้สอยให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่สถานการณ์อาจไม่ได้เอื้อให้เกิดการลงทุนและจับจ่ายใช้สอยเท่าใดนัก จึงเกิด bond yield ติดลบขึ้น โดยปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 10 ปีของกว่า 13 ประเทศที่ติดลบมากที่สุดคือ สวิตเซอร์แลนด์ -1.01% รองลงมาเยอรมนี -0.65% ตราสารหนี้ที่ผลตอบแทนติดลบทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 15 ล้านล้าน USD (ข้อมูล Bloomberg ณ 5 ส.ค. 62) แม้พันธบัตรรัฐบาลจะมีอัตราผลตอบแทนติดลบก็ยังมีนักลงทุนซื้อด้วยหลายเหตุผล เช่น บางกองทุนตราสารหนี้ มีนโยบายการลงทุนแบบ passive จึงต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียง government bond index ให้มากที่สุด จึงยังต้องซื้อแม้ bond yield จะติดลบ นักลงทุนบางส่วนคิดว่า bond yield ยังติดลบได้อีก จึงเข้าซื้อหวังจะได้ capital gain หรือนักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะหดตัว จึงต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและมีสภาพคล่องสูงอย่างพันธบัตรรัฐบาล

เมื่อมีคนได้ประโยชน์ก็ย่อมต้องมีคนเสียประโยชน์จาก bond yield ติดลบ โดยเฉพาะกลุ่มกองทุนเพื่อการเกษียณ และกลุ่มประกัน หากเข้าซื้อช่วงนี้ก็จะได้รับผลตอบแทนติดลบ และมีความเสี่ยงขาดทุนจาก capital loss ได้หาก bond yield ปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วน bond yield ไทยและสหรัฐ แม้จะยังไม่ติดลบ แต่ก็ปรับตัวต่ำลงมามาก หลังจากที่มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง นับตั้งแต่วันที่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจนถึงวันที่ 14 ส.ค. 62 bond yield 10 ปี ของสหรัฐ ลดลง 43 bps มาอยู่ที่ 1.59% และ bond yield 10 ปีของไทยลดลง 19 bps มาอยู่ที่ 1.52% ยังห่างไกลจาก bond yield ติดลบมากอยู่แต่เป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา แม้จะยังไม่ติดลบแต่ตลาดก็มีความกังวลในเรื่องของ inverted yield curve ที่ส่วนต่างระหว่างรุ่น 10 ปี และ 2 ปี มีค่าติดลบ โดย 2-10 spread ของสหรัฐ ระหว่างวันที่ 14 ส.ค. มีค่าติดลบ แต่ปิดตลาดที่ 1 bps ส่วนของไทยค่า 2-10 spread ก็ลดต่ำลงมากมีค่าอยู่ที่ 10 bps ซึ่งค่าต่ำสุดจะอยู่ที่ 1 bps ในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 และค่าเฉลี่ยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาที่ 138 bps

ทั้งนี้ สิ่งที่ตลาดกังวลเกี่ยวกับ inverted yield curve ก็คือความเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต โดยเฉพาะช่วงนี้มีเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศหลายกรณี จึงอาจส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยาทำให้กังวลมากยิ่งขึ้น 2-10 spread ที่ติดลบจะมีนัยบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ต้องมีองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย เช่น อัตราเงินเฟ้อ การว่างงาน หรือหนี้ที่สูงเกินไป และ inverted yield curve ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ก็ถือเป็นระลอกแรก ๆ ตั้งแต่เกิดวิกฤตซับไพรมปี 2551 ที่มีการทำ quantitative easing เป็นครั้งแรกของโลก ส่งผลให้ระดับสภาพคล่องเปลี่ยนไป ดังนั้น ความน่าเชื่อถือของ inverted yield curve ในการเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจมีนัยที่ไม่เหมือนเดิม ดังนั้น นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์ต่อไป แต่คาดว่า inverted yield curve จะยังเป็นประเด็นให้ได้ยินวนเวียนไปอีกสักระยะทีเดียว

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • มันจบลงแล้ว bitcoin เลิกผูกแอพพลิเคชันได้แล้ว เพราะ export TH ไม่ใช่ computer พลังงาน
    25 ส.ค. 2562 เวลา 01.11 น.
ดูทั้งหมด