เรื่องน่ารู้เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทย ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน – 15 เมษายนนั้น เพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่และต้อนรับสิ่งดีๆ กันก่อนที่จะออกไปเล่นสาดน้ำให้ชุ่มฉ่ำ เราควรทำอะไรบ้าง และในแต่ละวันมีกิจกรรมที่แตกต่างกันอย่างไร ต้องมาติดตาม
ความเชื่อและกิจกรรม
ในวันสงกรานต์ วันปีใหม่ไทย
มารู้จำคำว่า “สงกรานต์” กันก่อน
คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤตว่า“สํ-กรานต” ซึ่งแปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือย้ายขึ้น โดยมีนัยความหมายว่า การเข้าสู่ศักราชราศีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่ นั้นเอง เทศกาลสงกรานต์ เป็นประเพณีที่มีความเก่าแก่และคนไทยสืบทอดกันมาแต่โบราณคู่กับประเพณีตรุษจีนกันเลยทีเดียว จึงได้มีการรวมเรียกกันว่า “ประเพณีตรุษสงกรานต์” ซึ่งแปลว่าการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่
ความเชื่อวันสงกรานต์
ในช่วงวันสงกรานต์คนสมัยก่อนมีสิ่งยืดถือปฎิบัติที่ต้องทำแตกต่างกันไปในแต่ละวัน
เริ่มจากวันที่ 13 เมษายน หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “วันมหาสงกรานต์” และถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ
คนโบราณจึงถือวันที่ 13 เป็นฤกษ์ดีในการปัดกวาด เช็คถู ทำความสะอาดบ้าน เพื่อเป็นการปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายออกไปจากบ้าน เพื่อเตรียมต้อนรับสิ่งดีๆ ที่กำลังจะเข้ามาในปีใหม่
วันที่ 14 เมษายน วันเนา (ภาษาเขมร แปลว่า “อยู่”) และถือเป็นวันครอบครัว
เป็นวันที่นิยมออกไปทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม เพิ่มความเป็นสิริมงคลให้ชีวิต รวมถึงการรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังงดมีปากเสียง ทะเลาะเบาะแว้งกับคนรอบข้าง เนื่องจากเชื่อว่าจะเป็นการนำสิ่งไม่ดีเข้าสู่ชีวิต ทำให้โชคไม่ดีตลอดปี
15 เมษายน วันเถลิงศก ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่
เป็นอีกวันที่นิยมเข้าวัด ทำบุญตักบาตร เพื่ออุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรและญาติที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีการก่อเจดีย์ทรายและเติมชีวิตให้ชุ่มฉ่ำด้วยการเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณีไทย
กิจกรรมวันสงกรานต์
ทำบุญตักบาตร
จัดเตรียมอาหาร ไปตักบาตรถวายพระที่วัด หรือตามสถานที่ที่จัดงาน นับว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้กับตนเอง และอุทิศส่วนกุศลนั้นให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
เป็นประเพณีที่มีมาช้านาน เป็นการขอขมาและอวยพร-รับพรผู้ใหญ่ เพื่อความเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่ไทยนี้ โดยการนำพวงมาลัยมามอบและนำน้ำอบน้ำปรุงมาเจือด้วยน้ำธรรมดา รดบนมือท่าน
การดำหัว ส่วนใหญ่จะพบเห็นได้ทางภาคเหนือ ของที่ใช้ในการดำหัวหลักๆ ประกอบด้วย อาภรณ์ มะพร้าว กล้วย ส้มป่อย เทียน และดอกไม้ เพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ที่อาวุโสว่า ไม่ว่าเป็น พระ ผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกิน หรือเป็นการขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่เช่นกัน
การสรงน้ำพระ
เป็นการนำพระพุทธรูปที่บ้านมาทำความสะอาด และเตรียมรดน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและครอบครัว และควรหาโอกาสไปสรงน้ำที่วัดหรือสถานที่ที่มีการจัดให้สรงน้ำพระสงฆ์เพิ่มเติมด้วย
การบังสุกุลอัฐิ
นอกจากทำบุญตักบาตรแล้ว ส่วนใหญ่หลายบ้านจะทำบุญให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการนิมนต์พระไปบังสุกุลเถ้ากระดูกที่ที่เก็บเป็นลักษณะของเจดีย์
การขนททรายเข้าวัด
ในทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาคให้พบแต่ความสุข ความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด แต่ก็มีบางพื้นที่มีความเชื่อว่า การนำทรายที่ติดเท้าออกจากวัดเป็นบาป
การเล่นน้ำสงกรานต์
ความเชื่อดั้งเดิม การใช้น้ำเป็นตัวแทน ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น ปัจจุบันมีการเล่นสาดน้ำ ประแป้ง และจัดกิจกรรม Water Festival เพื่อให้ชาวไทยและต่างชาติได้ร่วมสนุก คลายความร้อนในช่วงเมษายนนี้ได้เป็นอย่างดี
ที่มาข้อมูลจาก wiki/สงกรานต์