คุณว่าจะดีไหมล่ะ ถ้าเพิ่งเริ่มนั่งสมาธิแค่ ๕ นาที แต่ได้ผลเท่ากับคนที่พยายามฝึกมาสิบปียี่สิบปี?
ประวัติศาสตร์ความฟุ้งซ่านของมนุษย์เรามีมายาวนาน เห็นได้จากการมีความพยายามทำสมาธิกันมาตลอด แล้วก็ต้องหาเครื่องทุ่นแรงกันมาตลอด ตั้งแต่โบราณกาลมาจนถึงยุคไอทีของเรา
อย่างเช่นเมื่อห้าพันปีก่อน มีวิหารใต้ดินแห่งหนึ่งในมอลตา เรียกกันว่า Hal Saflieni Hypogeum ช่วยให้คนที่เข้าไปในวิหารเกิดสมาธิ หลักการคือ เมื่อคุณพูดหรือฮัมในคอดังพอ ก็จะเกิดการสะท้อนจากช่องเล็กๆที่เจาะเข้าไปในผนัง ก้องกังวานออกมาเป็นคลื่นเสียงระดับความถี่ ๑๑๑ เฮิรตซ์
ซึ่งจากการสแกนด้วย MRI นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาสนองตอบความถี่ดังกล่าว โดยลดการทำงานของสมองส่วนหน้าลง เป็นการปลดล็อกความคิด เปิดจิตให้โล่ง ขนาดที่สามารถเชื่อมต่อกับอีกมิติ ช่วยให้ผู้เข้าร่วมพิธีศักดิ์สิทธิ์ในวิหารแห่งนี้จะก้าวข้ามศรัทธาความเชื่อไปสู่ประสบการณ์รู้เห็นอีกแบบที่ตรงกันได้เลยทีเดียว
(ภาพจาก tvm.com.mt)
หรืออย่างเช่นชาวพุทธบางท้องถิ่นก็ใช้ Singing Bowl (จริงๆชื่อเดิมคือ Standing Bell) ในการช่วยให้เกิดสมาธิ โดยเคาะให้เกิดเสียงที่ฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ปัจจุบันนิยมกันมากในหมู่แพทย์ทางเลือกที่ใช้ดนตรีบำบัด ตลอดจนนักทำโยคะหลายกลุ่ม
(ภาพจาก verywellmind.com)
ความพยายามในการระงับความทุกข์ทรมานอันเกิดจากการฟุ้งซ่าน ยังสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน เมื่อมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสมองและระบบในร่างกายมากขึ้น มนุษย์เราก็พัฒนาเทคโนโลยีแพงๆขึ้นมาช่วยหลายอย่าง เช่น Sensory Deprivation Tank (โดยความหมายคือถังปลดล็อกความรับรู้ทางประสาทหยาบต่างๆ แต่มีชื่อเล่นอื่น เช่น isolation tank หรือ meditation tank เพื่อสื่อว่าช่วยให้เกิดสมาธิ)
หลักการง่ายๆ คือ ให้นอนในอ่างน้ำเกลือ ทำให้ตัวลอยบนผิวน้ำ เข้าสู่ภาวะเกือบไร้น้ำหนัก เกือบไร้สัมผัสรบกวนทางกาย เหลือแต่ความรู้สึกนึกคิด จึงง่ายที่จะกำหนดจิตเป็นสมาธิ
(ภาพจาก purefloat.ca)
ผมพบว่าเครื่องทุ่นแรงที่ใกล้ตัวที่สุด ราคาถูกที่สุด หยิบจับมาใช้ได้ง่ายที่สุด แล้วก็ได้ผลจริงที่สุด ในปัจจุบันเห็นจะได้แก่เทคโนโลยี Binaural Beats ซึ่งเพียงคุณมือถือกับหูฟังสเตอริโอ เพื่อเล่นไฟล์ mp3 ก็ใช้ได้แล้ว เพราะหลักการง่ายๆ คือ ส่งเสียง Sine Wave เข้าสู่หูซ้ายขวาต่างความถี่กัน
แล้วจะได้ค่าคลื่นสมองที่เป็นค่าความต่างนั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการคลื่นความถี่สมองที่ ๑๐ เฮิรตซ์ (ซึ่งเป็นระดับผ่อนคลายสบายอารมณ์) ก็อาจส่ง Sine Wave ความถี่ ๑๐๐ เฮิรตซ์เข้าหูซ้าย กับความถี่ ๑๑๐ เฮิรตซ์เข้าหูขวา เป็นต้น
(ภาพโดยดังตฤณ)
หลักการฟังดูง่าย แต่เอาเข้าจริงมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ไม่ได้ผล เช่น เสียงคลื่น Sine Wave ไม่มีความน่าฟังแบบเสียงดนตรี คนส่วนใหญ่ฟังปุ๊บอยากถอดหูฟังปั๊บ และแม้ Binaural Beats จะเป็นที่รู้จักกันมานานเกือบ ๒๐๐ ปี ปัจจุบันก็ยังวิจัยและพัฒนากันไม่จบ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมกันตลอด
ผมเองสนใจวิจัยและพัฒนา Binaural Beats กับเขาเหมือนกัน โดยเอาจิตที่สงบพร้อมรู้เป็นตัวตั้ง แล้วค้นหารหัสผสมคลื่นความถี่เสียงที่เข้ากันกับจิตแบบนั้นพอดี นอกจากนั้น ยังใช้เสียงดนตรีธรรมดานำหน้า เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดความสงบผ่อนคลายใกล้ระดับคลื่นสมอง ๑๐ เฮิรตซ์
ถ้าอยากฟังให้ได้ผล ควรใช้หูฟังแบบครอบที่มีคุณภาพดีหน่อยหนึ่ง ราคาตั้งแต่พันบาทขึ้นไป เพื่อให้ตอบสนองคลื่นความถี่ต่ำระดับ ๓๐ เฮิรตซ์ขึ้นไปได้ชัดเจน (แต่หูฟังทั่วไปก็ใช้ได้ เพียงแต่ผลจะไม่ดีเท่านะครับ เท่าที่ลองมา)
ขอให้ทราบว่า :เสียงสติ: ไม่ได้ผลกับทุกคน เช่น ถ้ามีอคติ หรือตั้งใจบริกรรมแบบเครียดๆไปด้วย สมองจะต้านการเปลี่ยนระดับคลื่น แต่หากสังเกตความต่างของลมหายใจไปเรื่อยๆ สบายๆ ก็จะพบว่า :เสียงสติ: ช่วยเคลียร์พื้นที่สมองให้ได้จริง ซึ่งในทางประสบการณ์จะรู้สึกว่าจิตว่าง ลดความฟุ้งซ่านลง ในอกในใจเปิดโล่งสบาย หายห่วง เนื้อตัวผ่อนคลาย เกิดลมหายใจยืดยาว นิ่มนวลได้ง่าย และหายรำคาญเสียง ลืมเสียงในหูฟังไปเลย
:เสียงสติ: ไม่ได้ช่วยให้เกิดพุทธิปัญญาขึ้นมาเอง เมื่อเกิดประสบการณ์สงบพร้อมรู้ คุณจะต่อยอดให้เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตก็สุดแท้แต่ใจ เอาไปวางแผนโกงกินอย่างแยบยลก็ได้ เอาไปเรียนหนังสือให้เก่งขึ้นก็ได้ เอาไปขุดข้อเด่นของตัวเองมาสร้างความร่ำรวยก็ได้ เอาไปทำกสิณฝึกฤทธิ์ฝึกเดชเหนือมนุษย์ก็ได้ หรือจะเอาไปเจริญสติให้เกิดสมาธิแบบพุทธก็ได้
สมาธิแบบพุทธนั้น เป็นการหายใจอย่างไร้ตัวตน เพื่อไปให้ถึงฌานล้างผลาญอวิชชา
ฌานมีองค์ประกอบที่ชัดเจน ไม่ต้องคาดเดาว่าถึงหรือยัง องค์ประกอบเหล่านั้น ได้แก่
๑) วิตก คือ ตั้งจิตให้เล็งรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ตั้งใจรู้สึกถึงลมหายใจ จนสายลมเด่นชัดกว่าความฟุ้ง
๒) วิจาร คือ จิตเกิดภาวะรู้สิ่งนั้นอย่างเดียว เช่น เห็นลมเป็นสาย เป็นลำ เป็นท่อ จิตเหมือนสัมผัสลมหายใจได้คล้ายมือสัมผัสสายลม
๓) ปีติ คือ สมองปลดล็อกจากคลื่นความคิด จิตเปิดสบาย สดชื่น เปิดกว้าง เบิกบาน กว้างไกล
๔) สุข คือ จิตเปิดโล่งสบายจนเสถียร ไม่ใช่แค่วูบๆวาบๆ เช่น ตัวเบาเหมือนลอยนิ่งกลางฟ้า (ตรงนี้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด นึกว่าแค่สุขเนียน หรือจิตรวมธรรมดา ก็แปลว่าถึงฌานแล้ว)
๕) เอกัคคตา คือ จิตผนึกรวมอย่างใหญ่ รู้คงที่เนิ่นนาน สมองปลดล็อกจากความคิดอย่างสิ้นเชิง ความรู้สึกจะเหมือนถูกยกขึ้นไปสู่อีกมิติที่ไร้กาลเวลา ประสาทหูดับ รู้อะไรอย่างเดียว เช่นลมหายใจในร่างนั่ง ไม่วอกแวกเลยตั้งแต่ต้นฌานยันท้ายฌาน
เพื่อเข้าถึงฌานแบบพุทธ คุณต้องเห็นความต่างของลมหายใจให้ได้เรื่อยๆในระหว่างวัน เห็นว่า หายใจยาวเป็นสุข หายใจสั้นเป็นทุกข์ กระทั่งสมองส่วนหน้าลดการทำงานลงเป็นปกติ คือ ฟุ้งซ่านน้อยลง เห็นความฟุ้งซ่านเป็นส่วนเกินของจิต ติดใจที่จะระลึกถึงลมหายใจเข้าออกโดยความไม่ใช่ตัวเดิม ไม่ใช่ตัวตนของใคร
เมื่อติดใจเห็นความไม่ใช่ตัวเดิมต่อเนื่องพอ จะเกิดมุมมองพลิกโลก จิตมีสิทธิ์รวมเป็นหนึ่ง แบบที่เรียกว่า ‘สัมมาสมาธิ’ และนั่นแหละที่คุณจะรู้เองเห็นเองว่า พระพุทธเจ้าปรารถนาให้พวกเราเห็นอะไร!
สนใจดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่ http://dungtrin.com/BB
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดสมาธิได้ นั้นก็คือ การปล่อยวาง.
14 เม.ย. 2562 เวลา 12.06 น.
ซ่อนกลิ่น ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ”
เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน
ผู้ปฏิบัติจะเป็นผู้ได้ลิ้มรสชาติของการปฏิบัติเอง สาธุ สัมมาสมาธิ
14 เม.ย. 2562 เวลา 14.00 น.
Aye 🌺🌿 เมื่อจิตเป็นหนึ่ง ปัญญาย่อมเกิด
14 เม.ย. 2562 เวลา 15.34 น.
Ittidet ความทุกข์ทำให้เกิดสมาธิตามธรรมชาติ
14 เม.ย. 2562 เวลา 12.17 น.
🦅🦅 BNN 🦅🦅 ตราบใดที่ยังมีความกังวล...จิตไม่ทางสงบ 👈🏻👈🏻👈🏻
14 เม.ย. 2562 เวลา 14.00 น.
ดูทั้งหมด