รัฐส่งเสียให้เรียนจนเป็น “หมอ” แต่ทำไม “หมอ” ถึงไม่ยอมใช้ทุน?
เป็นปัญหาที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยถกเถียงกันเป็นประจำหลายสิบปีแล้ว สำหรับนิสิตนักศึกษาแพทย์ ที่เมื่อเรียนจบหลักสูตร 6 ปีจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยของรัฐแล้ว หลายคน “ไม่ยอม” ไปทำงานชดใช้ทุนในพื้นที่ห่างไกลหรือถิ่นทุรกันดารเป็นเวลา 2 ปี
โดยครอบครัวไหนที่บ้านมีฐานะ ก็ยินยอมควักกระเป๋าชดใช้ทุนเป็นเงิน “4 แสนบาท” แทนการปล่อยให้ลูกหลานของตัวเองไปทำงานชดใช้ทุน สำหรับครอบครัวที่ฐานะไม่ค่อยดี แต่หากว่ามีโรงพยาบาลเอกชนหรือภาคเอกชนใดต้องการตัว ก็จะเสนอตัวชดใช้ทุนให้ก่อน จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่ว่ามหาวิทยาลัยรัฐจะพยายามผลิตแพทย์ออกมาปีละเท่าไหร่ ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการจริงๆ
สาเหตุที่ตัวนิสิตนักศึกษาแพทย์หรือครอบครัวยอมที่จะชดใช้ทุน ซึ่งเงินจำนวน “4 แสนบาท” ถือเป็น “ค่าปรับ” ที่ “น้อยมาก” เมื่อเทียบกับการที่ไม่ต้องไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล หลายคนอาจจะกลัวว่าต้องทำงานหนัก ต้องไปตกระกำลำบาก ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายเหมือนโรงพยาบาลในเมือง เครื่องไม้เครื่องมือไม่ทันสมัย ในบางพื้นที่อาจจะมีปัญหาด้านความปลอดภัยหรือเหตุความไม่สงบ และค่าตอบแทนน้อย แต่ถ้าได้ทำงานในโรงพยาบาลเอกชนหรือภาคเอกชน ดูเหมือนจะมีความราบรื่นและความสะดวกสบายกว่า อีกทั้ง “รายได้” ก็ยังมากกว่าอีกด้วย ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งมีความจำเป็นและต้องการเข้าถึงการ “รักษา” จาก “หมอ” ก็ยิ่งถูกละเลยมากขึ้นไปอีก
ล่าสุด ที่ประชุมโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทยปี 2561-2562 ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีมติให้ผลิตแพทย์เพิ่มปีละ 3,000 คน ระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2570 ตามที่กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) เสนอ ตั้งเป้าหมายการผลิตแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,200 คน โดยประมาณการว่าเมื่อถึงปี 2580 จะมีสัดส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชากรตามที่ตั้งเป้าไว้ ส่วนงบประมาณทั้งโครงการ คาดว่าจะใช้กว่า 9 หมื่นล้านบาท ถือเป็นงบฯ จำนวนมหาศาล นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงปัญหาที่ผู้เรียนแพทย์ “เบี้ยว” สัญญา เพราะถูกกวาดไปยังภาคเอกชน โดยยอมจ่ายค่าปรับเพียง 4 แสนบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเรียนแพทย์ต่อหัวต่อคนตกอยู่ที่ 4.7 ล้านบาท
นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. จึงเสนอให้แก้ไขค่าปรับ หากผู้จบแพทย์ไม่ใช้ทุนรัฐบาล โดย “เพิ่ม” ค่าปรับจาก 4 แสนบาท เป็น “5 ล้านบาท” ขณะที่ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัด สธ. ระบุว่า สธ. มีแนวคิดที่จะแก้ไขสัญญาเพื่อเพิ่มค่าปรับ เนื่องจากคำนวณจากค่าใช้จ่ายและฐานต้นทุนในการผลิตแพทย์แต่ละคน ตัวเลขอยู่ที่ 5 ล้านบาท โดยย้ำว่าการเพิ่มค่าปรับ “ไม่ใช่” เพราะต้องการเงิน แต่ต้องการให้มีแพทย์อยู่ในระบบ และมีจำนวนเพียงพอ
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ สธ. มี ระบุว่าแต่ละปีมีแพทย์จับสลากเพื่อเลือกพื้นที่ไปใช้ทุนประมาณ 600 คน ในจำนวนนี้ประมาณ 20-30 คน เมื่อรู้ว่าตัวเองจะต้องลงไปปฏิบัติงานใน “พื้นที่” ใด ก็ “ลาออก” ทันที ส่วนแพทย์ที่อยู่ใช้ทุนไม่ถึง 3 ปี และขอลาออก มีประมาณ 500-600 คนต่อปี เนื่องจากค่าปรับจากกรณีเบี้ยวสัญญาน้อยนิด แพทย์หลายๆ คนจึงยอมควักจ่ายทันทีเพื่อแลกกับการไม่ต้องใช้ทุน เป็นเหตุผลที่ผู้เกี่ยวข้องเสนอให้เพิ่มค่าปรับหมอที่เบี้ยวชดใช้ทุน เป็นเงิน 5 ล้านบาท
แต่ในความเป็นจริงแล้วเหตุผลที่แพทย์เหล่านั้นไม่ยอมไปใช้ทุนในพื้นที่คือเรื่องเงินและเรื่องความสะดวกสบายจริงๆหรือ? แพทย์หลายคนกล่าวว่าสาเหตุจริงๆแล้วของการเบี้ยวสัญญาไม่ยอมไปใช้ทุนนั้นคือเรื่องของระบบ โดยเฉพาะแพทย์ใช้ทุนปีที่ 1 ที่งานจะหนักยิ่งกว่าเรียนหลายเท่า แทบจะไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน วันๆนึงเห็นก็แต่คนไข้ บางโรงพยาบาลจัดเวรให้กับแพทย์ที่มาใช้ทุนเต็มอัตรา จนแพทย์บางคนทนไม่ไหว ดูแลคนไข้ไม่ทัน บางวันก็ทำงานจนไม่มีแม้กระทั่งเวลาจะกินข้าว อีกทั้งแพทย์ที่อยู่ภายในโรงพยาบาลนั้นมีเพียงแพทย์ที่มาใช้ทุนเท่านั้นส่วนแพทย์รุ่นพี่ก็มักจะไปอยู่ตามคลินิก เวลามีปัญหาเมื่อโทรไปปรึกษาก็มักจะโดนแพทย์รุ่นพี่ต่อว่าด้วยอารมณ์และถ้อยคำที่รุนแรงอยู่เสมอๆ
เหตุที่เป็นแบบนี้เพราะระบบที่ทำให้การกระจายแพทย์ไปตามโรงพยาบาลชุมชนนั้นไม่เป็นไปในทางที่ควร ทำให้แพทย์ที่ต้องไปใช้ทุนประจำโรงพยาบาลนั้นๆต้องทำงานหนักขึ้นเป็น 3 เท่า 4 เท่า อีกทั้งสวัสดิการที่ได้กลับมานั้นก็ไม่สามารถทดแทนกับสิ่งที่เสียไปได้เลย แพทย์บางคนทำงานต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 36 ชม. ร่างกายเหนื่อยล้า ทรุดโทรม ประสิทธิภาพในการดูแลรักษาคนไข้ก็ยิ่งลดลง แบบนี้แล้วทั้งคนไข้และแพทย์เองก็มีแต่จะเสียกับเสีย
เรามักจะได้ยินความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ทำนองที่ว่า “เป็นแพทย์ก็ต้องยอมเสียสละเพื่อช่วยเหลือคนไข้ มิฉะนั้นแล้วจะมาเรียนแพทย์ทำไมกัน” ผ่านหูผ่านตาอยู่บ่อยครั้ง แต่คำว่า “เสียสละ” นั้นต้องเสียสละถึงขั้นไหน แพทย์ต้องเสียสละจนต้องอดหลับอดนอน ทำงานหนักตลอด 24 ชม. จริงหรือ เพราะจริงๆแล้วแพทย์ก็เป็นคนปกติแบบเราๆ ต้องการเวลานอน เวลาพักผ่อนเหมือนกัน นี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้นิสิตนักศึกษาแพทย์จบใหม่ไม่อยากไปใช้ทุนตามโรงพยาบาลชนบทเสียมากกว่า หากภาครัฐมองเห็นถึงปัญหาตรงนี้แล้วมีการปรับแก้ระบบให้มีการกระจายแพทย์ไปยังโรงพยาบาลชุมชนอย่างที่ควรจะเป็น ภาระงานที่แพทย์ใช้ทุนแต่ละคนได้รับก็จะไม่หนักหนาจนเกินไป และปรับสวัสดิการให้เหมาะสม เชื่อว่านิสิตนักศึกษาแพทย์จบใหม่ทุกคนคงไม่อยากเบี้ยวสัญญาแน่นอน
อ้างอิง
http://a.msn.com/01/th-th/AAzpEZ4?ocid=st
Black Shark(Charoen) ออกมาตรการสิครับ รับเด็กต่างจังหวัดที่เรียนเก่งๆมาเป็น นศ.แพทย์จบไปแล้วก็ให้ไปรับใช้ร.พ.บ้านเกิด ให้ทำสัญญากับรัฐ (ผู้ให้ทุน)ตั้งแต่เข้ามาเป็น น.ศ.แพทย์ ว่าถ้าจบออกไปไม่ทำตามสัญญาปรับเป็นเงินสิบเท่าของทุน ดูสิว่าจะมี ร.พ.ไหนที่กล้าออกให้ก่อน และลงโทษด้วยฐานผิดสัญญา
18 พ.ย. 2561 เวลา 01.48 น.
yui ถูกต้องค่ะ เรื่องจริงเลย
17 พ.ย. 2561 เวลา 20.29 น.
yiew ออกกฏหมายมาอย่างไรก็ไม่ได้ผลหรอก เพราะวัฒนธรรมันฝังมา ผมอทะนงตนเองว่าเลิศในแต่ละคน มองไม่เห็นคนอื่นแม้แต่หมอด้วยกันเอง ถึงรุ่นพี่รุ่นพ่อก็ไม่เกี่ยว พวกนี้ไม่ฟังใคร เมื่อไม่ได้ตามปรารถนา ลาออกลูกเดียว
18 พ.ย. 2561 เวลา 01.00 น.
🐻🐻🐻🐻 เพิ่งจะคิดได้น๊ะ ผู้บริหารงานยุ่งมากรึไง
17 พ.ย. 2561 เวลา 23.09 น.
Anchisa Laopa แค่1คำถามคือตอนสอบเข้าแพทย์ทุกท่านทราบดีถึงเงื่อนไขและปัญหาการใช้ทุนที่รุ่นพี่เอาเปรียบรุ่นน้องด้วยการโหลดงานให้?อล้วยังสอบเข้ามาทำไม?หรือมันแค่เป็นข้ออ้างในการเลี่ยงใช้ทุนความจริงควรบวกค่าเสียโอกาสของรัฐและคนอื่นด้วยถ้่าท่านค้องกอบบนี้ควรไปตกลงกับรพ.เอกชนตั้งแต่ก่อนสิบเข้านะ
18 พ.ย. 2561 เวลา 01.23 น.
ดูทั้งหมด