ทั่วไป

ทำไม 'ฉลามหัวค้อน' จึงกลั้นหายใจเวลาดำน้ำ | ป๋วย อุ่นใจ

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 18 พ.ค. 2566 เวลา 20.06 น. • เผยแพร่ 17 พ.ค. 2566 เวลา 03.22 น.

แปลกตรงไหน ใครๆ ก็กลั้นหายใจทั้งนั้นเวลาดำน้ำ! แต่เดี๋ยวนะ ฉลามหัวค้อนเป็นปลา ซึ่งปกติก็อยู่ในน้ำ แล้วจะกลั้นหายใจไปเพื่อ…สิ่งใด

เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮากันยกใหญ่ จนถึงขนาดที่ว่าวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง science ถึงขนาดเอาไปขึ้นปกฉบับกลางเดือนพฤษภาคม 2023 กันเลยทีเดียว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ยังไม่จบ วารสาร nature ยังพาดหัวในคอลัมน์ข่าว “Hammerhead sharks are first fish found to ‘hold their breath'” หรือ “ฉลามหัวค้อน คือปลาชนิดแรกที่มีรายงานว่า ‘กลั้นหายใจ'”

ว่าแต่พวกมันกลั้นหายใจทำไม?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หนึ่งในสาเหตุหลักก็คือเพราะหิว พวกมันกลั้นหายใจเพื่อลงไปตามล่าหาเหยื่ออันโอชะอย่างปลาตะเกียง (lantern fish) ที่มักจะกระจายตัวกันอยู่อย่างชุกชุมในเขตน้ำลึก (ราวๆ 200-500 เมตร) ที่แม้แต่แสงก็ยังส่องลงไปไม่ถึง (aphotic zone)

หรือแม้แต่ปลาหมึกอาจอยู่ลึกลงไปอีก อาจจะถึง 1,000 เมตร

นั่นหมายความว่าถ้าพวกมันอยากจะไปปาร์ตี้ปลาดิบ พวกมันต้องหัดสกูบา (scuba) ให้เก่งแล้วดำลงไปกิน แต่มีอยู่หนึ่งปัญหาเล็กๆ นั่นก็คือ น้ำยิ่งลึก ก็จะยิ่งเย็น…และนี่เป็นประเด็นใหญ่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เพราะเมื่อไรก็ตาม ที่พวกปลาอ้าเหงือกเพื่อหายใจ กระแสน้ำรอบๆ ตัวก็จะไหลผ่านเพื่อนำพาออกซิเจนเข้าไปในเหงือกเพื่อแลกเปลี่ยนก๊าซในเลือดในกระบวนการหายใจ และในบางกรณี ก็จะถูกส่งเข้าไปกักเก็บในถุงลม (gas bladder) ที่เรามักเรียกกว่ากระเพาะปลา (fish maw) เพื่อช่วยในการพยุงตัวและว่ายน้ำ

ถ้าอยู่ในโซนน้ำอุ่นอย่างเดียว เฉพาะในที่ที่แสงแดดส่องถึง (photic zone) ปัญหานี้จะไม่ค่อยเป็นประเด็น จะอ้าเหงือก หุบเหงือกอย่างไรก็ทำได้ตามสบาย ไม่จำเป็นจะต้องกังวล แต่ถ้าจะสกูบาลงน้ำลึก การรักษาอุณหภูมิจะกลายเป็นเรื่องท้าทายทันที

ทั้งนี้เป็นเพราะปลา (รวมถึงฉลามหัวค้อนด้วย) เป็นสัตว์ในกลุ่มสัตว์เลือดเย็น (poikilotherm) ที่อุณหภูมิของร่างกายจะปรับเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม

และถ้าอุณหภูมิของตัวมันเย็นจนเกินไป ก็อาจจะส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และในบางที อาจจะหยุดทำงานไปดื้อๆ

ปลาบางชนิดอย่างทูน่า ปลาดาบ และฉลามขาวยักษ์จะมีกลไกพิเศษเพื่อช่วยในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายเพื่อให้อบอุ่น ภายในร่างกายของปลาพวกนี้ จะมีแขนงของเส้นเลือดที่เรียงร้อยสอดประสานกันอย่างซับซ้อนเป็นโครงข่ายเรียกว่า เรเตมิราไบล์ (rete mirabile) ที่ช่วยในการแลกเปลี่ยนก๊าซในเหงือกและช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย

ภายในโครงข่ายเส้นเลือดฝอยที่อัดแน่น “เรเตมิราไบล์” จะมีเซลล์เม็ดเลือดแดงจำนวนมากมายมหาศาลที่คอยขนส่งออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อต่างๆ ทำให้เนื้อของทูน่าเป็นสีแดงเข้มมีเลือดฝาด ไม่ซีดเซียวเหมือนพวกปลาเนื้อขาวทั่วไป

กระบวนการหายใจในทางชีวเคมีแบบใช้ออกซิเจนที่เกิดขึ้นภายในเซลล์จะให้พลังงานอย่างมากมายล้นปรี่ เกินพอที่จะเอาไปใช้โบกสะบัดกล้ามเนื้อครีบได้ตลอดเวลา

นอกจากจะช่วยให้ปลาเคลื่อนที่และเคลื่อนไหวได้ดั่งใจแล้ว การเผาผลาญพลังงานในกล้ามเนื้อ จะช่วยปลดปล่อยความร้อนช่วยให้เลือดที่ไหลเวียนผ่านมานั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้น

แม้จะไม่สามารถรักษาอุณหภูมิร่างกายไว้ให้คงที่ได้เหมือนพวกสัตว์เลือดอุ่น (homeotherm) ทูน่าสีน้ำเงินก็สามารถเพิ่มอุณหภูมิของตัวมันให้สูงกว่าสิ่งแวดล้อมได้ถึง 20 องศาเซลเซียส พวกมันชอบที่จะดำลงไปหาบุฟเฟ่ต์พรีเมียมปลาหมึกที่ใต้ทะเลลึกที่หนาวเย็น

เมื่อร่างกายอบอุ่น ปลาก็จะแอ๊กทีฟ ตื่นตัวและแคล่วคล่องว่องไวกว่าเมื่อเทียบกับปลาที่ตัวเย็น ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการตามล่าและหลบหนีในเกมล่าชีวิตของพวกมัน

“ทูน่านั้นมีความไม่เหมือนใครในแง่วิวัฒนาการของปลาประดูกแข็ง” บาร์บารา บล๊อก (Barbara Block) นักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านทูน่าจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) กล่าว “ร่างกายของมันเป็นเหมือนกับพวกเราเลย เป็นเหมือนสัตว์เลือดอุ่น แต่หัวใจของพวกมันกลับต้องทำงานที่อุณหภูมิที่แวดล้อมตัวมัน (ที่แสนจะหนาวเหน็บ)”

“ในขณะที่ทูน่านั้นดำดิ่งลงไปในบริเวณน้ำลึก แม้อุณหภูมิของร่างกายของพวกมันนั้นจะยังคงอยู่ในเกณฑ์อบอุ่นอยู่ ทว่าอุณหภูมิในหัวใจอาจจะตกลงไปได้ถึง 15 องศาเซลเซียส” ฮอลลี ชิลส์ (Holly Shiels) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) กล่าว “หัวใจนั้นอาจเหมือนถูกแช่เย็นเพราะว่าเป็นส่วนที่ได้รับส่งเลือดผ่านมาโดยตรงจากเหงือกซึ่งมีอุณหภูมิเย็นยะเยือกสะท้อนอุณหภูมิของน้ำรอบๆ”

ที่อุณหภูมิต่ำขนาดนั้น ถ้าเป็นหัวใจของสัตว์อื่นๆ ก็คงจะหยุดเต้นไปแล้ว นี่คือการสร้างความกดดันให้หัวใจที่เต้นอยู่อย่างรุนแรง

สำหรับบาร์บารา ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ก็คือ ความต้องการออกซิเจนในร่างกายของทูน่า ความร้อนที่ได้จากเมทาบอลิซึ่มของกล้ามเนื้อ และระบบการทำงานของหัวใจ (cardiac system) ที่ต้องบีบตัวส่งออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่อุณหภูมิเย็นจัด

เพื่อศึกษากลไกของการควบคุมอุณหภูมิในร่างกายของทูน่า บาร์บาราและทีมตัดสินใจที่จะสร้างแนวร่วมวิจัยข้ามประเทศและบูรณาการข้ามศาสตร์ ทีมของเธอตกลงจับมือกันกับทีมของฮอลลีเพื่อออกแบบเซ็นเซอร์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อศึกษาชีววิทยาของปลา ซึ่งรวมถึงความลึกของน้ำอุณหภูมิในร่างกาย และอุณหภูมิของน้ำรอบๆ ฝูงทูน่า

หลังจากติดตามและวิเคราะห์ซีรีส์ชีวิตทูน่าอพยพมาเกือบยี่สิบปี พวกเธอก็ได้บทสรุปในปี 2015

“เราค้นพบว่าการเปลี่ยนแปลงอัตราการเต้นของหัวใจนั้น เกิดจากอุณหภูมิร่วมกับการกระตุ้นของอะดรีนาลีนที่หลั่งออกมาในระหว่างที่พวกมันดำน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนการส่งสัญญาณไฟฟ้าในเซลล์หัวใจ ช่วยรักษาวัฏจักรการเปลี่ยนแปลงของแคลเซียม (calcium cycle) ที่จำเป็นต่อการเต้นของหัวใจ แต่เมื่อไรก็ตามที่อุณหภูมิที่เปลี่ยนไปขัดขวางวัฏจักรแคลเซียม หัวใจของเราก็จะหยุด และเราก็จะตาย” ฮอลลีสรุป

ฟังดูดี แต่ทว่าฉลามหัวค้อนนั้นไม่มีกลไกอะไรที่สับซับซ้อนแบบนี้ ในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เอ็กซ์ตรีม

“แล้วฉลามหัวค้อน (และปลาอื่นๆ) ใช้กลยุทธ์อะไรกันแน่ในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย” มาร์ก รอเยอร์ (Mark Royer) นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยฉลาม สถาบันชีววิทยาทางทะเลฮาวาย (Hawai’i Institute of Marine Biology) เริ่มตั้งคำถาม

“เพื่อจะลงไปจัดการกับบุฟเฟ่ต์ปลาตะเกียงพรีเมียม ยังยั่วยวนอยู่ในโซนน้ำลึกที่เหน็บหนาวที่อาจลึกได้ถึง 800 เมตร เพชฌฆาตแห่งท้องทะเลเหล่านี้จะต้องมีกลยุทธ์อะไรบางอย่างที่ทำให้พวกมันไม่แข็งตายยามที่ลงไปล่าเหยื่อ”

ทีมของเขาเริ่มออกแบบการทดลองซึ่งออกมาแนวเดียวกันเลยกับของบาร์บาราและฮอลลี โดยเน้นการติดเซ็นเซอร์เข้าไปที่ตัวปลา เพื่อตรวจบันทึกอุณหภูมิน้ำ อุณหภูมิกล้ามเนื้อ ทิศทางและความลึก ปรากฏว่าสิ่งที่พบทำให้เขาต้องอึ้ง

โดยปกติ ฉลามหัวค้อนจะดำลงสู่ใต้ทะเลไปหาของกินเป็นระยะๆ แต่ละทริปตั้งแต่ลงจนถึงขึ้นจะใช้เวลาเฉลี่ยราวๆ 17 นาที ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย

ในแทบทุกครั้ง ไม่มีการลังเลใจ พวกมันจะพุ่งตรงลงสู่ก้นทะเลอย่างรวดเร็ว ไล่ล่าสวาปามเหยื่ออย่างตะกละตะกลามสักสองสามนาทีจนอิ่มหนำ แล้วพุ่งทะยานกลับขึ้นมาอย่างไม่มีรีรอ ในระยะนี้ตั้งแต่ลงจนถึงขึ้น อุณหภูมิกล้ามเนื้อของพวกมันยังคงคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าอุณหภูมิของน้ำรอบๆ ตัวทันนั้นจะเย็นเยียบไม่ต่างจากน้ำในตู้เย็นก็ตาม

“ถ้าคุณลงไปในน้ำเย็น ถ้าร่างกายของคุณก็เย็นไปด้วย และนั่นจะทำให้คุณล่าได้ไม่ค่อยดีเท่าไร” มาร์กอธิบาย

แต่ที่น่าแปลกคือ พอขึ้นมาสักระยะ ดูเหมือนว่าอุณหภูมิร่างกายของพวกมันจะเริ่มตกอย่างรวดเร็ว แต่จะค่อยๆ กลับอุ่นขึ้นมา เมื่อว่ายกลับมาถึงโซนที่แสงแดดส่องถึง

มาร์กสรุปว่าฉลามหัวค้อนมีกลไกบางอย่างเพื่อรักษาอุณหภูมิ ถึงแม้จะหลุดบ้างในตอนที่กลับขึ้นมาก็เถอะ เขาเริ่มคิดถึงกลยุทธ์ทั้งหมดที่เป็นไปได้ที่จะใช้อธิบายผลการทดลองที่แปลกประหลาดของเขา

คำอธิบายเดียวที่มาร์กพอจะหาได้ก็คือ “พวกมันน่าจะกลั้นหายใจในเวลาที่ดำน้ำ” เพราะถ้าเมื่อไรที่พวกมันอ้าเหงือกเพื่อหายใจ น้ำที่ไหลเข้ามานอกจากจะนำพาออกซิเจนเข้ามาแล้ว ยังนำพาความเย็นเข้ามาแถมให้ด้วยทำให้พวกมันสูญเสียความร้อน ความอบอุ่น ที่สะสมมาไปอย่างรวดเร็ว

เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในฐานะนักล่าแห่งห้วงทะเลลึก รวมถึงสิทธิที่จะได้สวาปามฝูงอาหารอันโอชะ บางทีก็ต้องยอมแลกมาด้วยอะไรที่สำคัญไม่แพ้กัน และนั่นอาจจะเป็น “อากาศที่ไว้หายใจ” อย่างน้อยก็พักหนึ่ง ราวๆ 17 นาที

“นี่เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดอย่างมาก” มาร์กเปรย แต่นี่คือการตีความที่เป็นไปได้มากที่สุดจากข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์

ฉลามหัวค้อนกลั้นหายใจใต้น้ำ!! แล้วพอว่ายขึ้นมาสักระยะ เริ่มเข้าโซนปลอดภัย (หรืออาจจะเริ่มกลั้นไม่ไหว) พวกมันก็จะเริ่มผ่อนคลายและเริ่มเปิดเหงือกเพื่อหายใจอีกครั้ง และนั่นน่าจะเป็นช่วงที่อุณหภูมิเริ่มตกลงอย่างรวดเร็ว ตอนช่วงท้ายของทริปตะลุยกินของพวกมัน

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นแค่การตีความตามข้อมูลที่มีเท่านั้น ถ้าอยากรู้ว่าพวกมันหุบเหงือกกลั้นลมหายใจจริงหรือไม่ คงต้องหาทางตามถ่ายตอนมันดำลงไปล่าเหยื่อจริงๆ เพื่อดูว่าพวกมันหุบเหงือกจริงหรือไม่…ตอนดำน้ำลึก

และถ้ามันกลั้นจริง เม็ดเลือดแดงของพวกมันจะต้องมีลักษณะที่พิเศษอย่างไร ทำไมจึงได้มีสมรรถภาพในการกักเก็บออกซิเจนได้ดีมากเสียจนขนาดที่ว่ากลั้นหายใจ 17 นาที ยังว่ายกันได้ชิลล์ๆ

น่าสนใจ เพราะถ้ามีการศึกษาจริงๆ จนถ่องแท้ ไม่แน่ข้อมูลที่ได้จากงานนี้อาจจะสามารถเอามาใช้ออกแบบหน้ากากดำน้ำแนวใหม่ที่นักวิจัยญี่ปุ่นพยายามพัฒนามานานปี โดยเลียนแบบดีไซน์มาจากเหงือกปลาที่สามารถทั้งดึงออกซิเจนจากน้ำและกักเก็บเอาไว้ใช้ได้ไม่ต้องใช้ถังออกซิเจน

แต่ถ้าว่ากันตามตรง จากกลยุทธ์กลั้นหายใจของฉลามหัวค้อน สู่นวัตกรรมหน้ากากออกซิเจนคงยังอีกนาน

แต่ชัดเจนว่าความรู้ความเข้าใจอะไรอย่างถ่องแท้อาจส่งผลคุณูปการกับมวลมนุษยชาติ (ถ้าเรารู้ว่าจะดึงมันลงมาจากหิ้งอย่างไร)

ดูข่าวต้นฉบับ