การเมือง

ที่ปรึกษาประธาน "กสทช." ไม่เห็นด้วย มติสั่งระงับ “โหนกระแส” ชี้กำกับดูแลเกินกว่าเหตุ ผิดยุค

Media Tank
เผยแพร่ 28 พ.ค. 2567 เวลา 13.57 น. • THE TANK
ที่ปรึกษาประธาน “กสทช.” ไม่เห็นด้วย มติสั่งระงับ “โหนกระแส” ชี้กำกับดูแลเกินกว่าเหตุ ผิดยุค

วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 จากกรณีมติ คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช. สั่งให้รายการ “โหนกระแส” ที่มี“หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” เป็นพิธีกร หยุดออกอากาศ 1 วัน อ้างว่าละเมิดมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพนั้น
นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธานกสทช. กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกเข้าใจและเห็นใจ รายการ “โหนกระแส” ที่ถูกมองในเชิงลบมากเกินไป ด้วยลักษณะความเป็นรายการออกอากาศสดจึงเชื่อว่า ไม่ใช่ความจงใจของผู้จัดรายการที่กระทำให้เกิดความขัดแย้งของผู้ร่วมรายการหรือสร้างประเด็นที่ผิดศีลธรรมต่างๆ
“เราคงปฏิเสธภาพสะท้อนความเป็นจริงสังคมไทยไม่ได้ และประชาชนส่วนใหญ่คิดเช่นเดียวกัน ทำให้รายการนี้เป็นที่นิยมมาก สื่อยังเป็นกลไกลสำคัญทางสังคมหนึ่ง ที่ผมไม่อยากเห็นมาตรการกำกับดูแลแบบยูโทเปียหรือเชิงอุดมคติมากไป กระทั่งรายการต้องถูกระงับเพราะคนเสียหายมากที่สุดคือผู้ชม”

นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธานกสทช.
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายพชร กล่าวว่า รูปแบบรายการ “โหนกระแส” เป็นการเชิญคู่กรณีที่ขัดแย้งกันในประเด็นที่มีประโยชน์และสาธารณชนสนใจ มาร่วมไกล่เกลี่ยยุติความขัดแย้ง เรียนรู้สิทธิและหน้าที่ด้านกฎหมาย เพื่อเตือนสติทุกคนในสังคมให้ “คิดก่อนทำ” ซึ่งรายการลักษณะนี้เกิดขึ้นมากในสหรัฐอเมริกา เช่น Jerry Springer หรือ Dr.Phil และ Judge Judy ซึ่งเป็นรายการแนว civil court เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาประจำประธานกสทช. และ“หนุ่ม กรรชัย” ล้วนผ่านประสบการณ์การฝึก การเป็นคนกลางยุติความขัดแย้ง (conflict resolutionist) ซึ่งมีเป้าหมายให้คู่กรณีลดการกระทบกระทั่งและเข้าใจกัน ส่วนหนึ่งของกระบวนการคือการระบายควานในใจ อีกส่วนหนึ่งใช้คุณลักษณะด้านภาษาศาสตร์ของคำศัพท์และลักษณะคำพูดสะท้อนอารมณ์ในหลายระดับ การระบายความเห็นที่แท้จริง เพื่อให้สามารถบริหารความคิด อารมณ์และการกระทำของตนเองได้
นายพชร มองว่า หากต้องการกำกับดูแลสื่อด้วยมาตรฐานทางศีลธรรม ควรตรวจสอบเนื้อหาที่เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของผู้ออกรายการหรือผู้อื่น เช่น การข่มขู่ทำร้ายร่างกายตนเองและคนรอบข้าง หรือการส่งสัญญานให้เกิดการซ่องสุมหรือก่อให้เกิดการจลาจลในสังคม
“ผมคิดว่าการระบายด้วยคำพูดหรือคำศัพท์ ที่มีอารมณ์ร่วมและใช้กันเป็นปกติในหมู่คนทั่วไป ย่อมเป็นเรื่องปกติและเป็นส่วนหนึ่งของโลกความเป็นจริง ไม่ได้สร้างโลกสีชมพูบนจอโทรทัศน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทำให้สังคมเก็บกด และเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติธุรกิจโทรทัศน์ ทำให้การสร้าง content ที่น่าสนใจเกิดขึ้นได้ยาก เพราะไปกำหนดกรอบเกินความเป็นจริงของสังคม มตินี้แสดงให้เห็นถึงวิกฤตของธุรกิจโทรทัศน์อย่างแท้จริง และหากจะมีการกำกับดูแลเนื้อหาใดๆ "กสทช." ย่อมไม่ได้รับไว้วางใจจากสังคมอีกต่อไป”
ในฐานะที่ปรึกษาประจำประธานกสทช.และเป็นคนรุ่นใหม่ นายพชร เคยถูกยุติผังรายการด้วยเหตุเดียวกันมาครั้งหนึ่ง สมัยเป็นผู้ดำเนินรายการใน วอยซ์ทีวี ช่อง 36 ช่วงหลังปฎิวัติรัฐประหาร โดยถูกคำสั่งยุติออกอากาศในช่วงสงกรานต์ พศ. 2558 ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือให้ความเห็นกับข่าวที่ “มีเนื้อหาผิดศีลธรรมและขัดคำสั่ง คสช.” จึงเข้าใจได้ถึงความอึดอัดของคนทำงานสื่อและต้องการให้ธุรกิจโทรทัศน์ เป็นส่วนสำคัญของสังคมไทยต่อไป
“ผมจึงมีความเห็นว่า มติคณะอนุกรรมการฯ ครั้งนี้เป็นมติที่ตกยุคและส่งสัญญานเตือนภัยต่อธุรกิจโทรทัศน์ ซึ่งผมก็ได้แจ้งไปยัง ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ตามนี้เรียบร้อยแล้ว” นายพชร กล่าวย้ำ