ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เผาป่าเหนือ 5.8 แสนไร่ ชาวบ้าน 4 พันคนแลกเก็บ “เห็ดถอบ”

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 26 มี.ค. 2566 เวลา 01.52 น. • เผยแพร่ 26 มี.ค. 2566 เวลา 01.52 น.

ทุกปีช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยจะประสบปัญหาการบุกรุกเผาป่า โดยเฉพาะรอยต่อ 4 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน เชียงใหม่ ตาก และลำปาง ตั้งแต่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน, อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่, ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก และอำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง โดยมีอาณาบริเวณอยู่ภายใต้การดูแลของอุทยานแห่งชาติแม่ปิงและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ล้อมรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล

บริเวณดังกล่าวเผชิญการเผาซ้ำซากตั้งแต่ปี 2553-2562 มีพื้นที่ถูกเผาไหม้ประมาณ 581,872 ไร่ จากพื้นที่อุทยานฯทั้งหมด 627,346.00 ไร่ ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพต่อประชาชนทั่วไป ตอกย้ำข้อมูล hotspot ปี 2566 นับถึงวันที่ 18 มีนาคม 2566 พบว่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิงมีจำนวน 1,446 จุด ในจังหวัดลำพูนจำนวน 885 จุด แบ่งเป็นที่ตำบลก้อจำนวน 836 จุด ตำบลแม่ลานจำนวน 49 จุด ส่วนจังหวัดเชียงใหม่มีทั้งหมดจำนวน 87 จุด จังหวัดตากจำนวน 474 จุด เรียกว่าเกือบ 80% มีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดลำพูน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ด้านสาเหตุต้นตอการเผาป่าก็เพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการเผาพื้นที่ป่าเพื่อหวัง “เห็ดถอบ” ดังนั้นสภาลมหายใจภาคเหนือ 9 จังหวัด จึงมุ่งไปยังจุดศูนย์กลางของภาคเหนือ ซึ่งมีปัญหามากที่สุดนั่นคือบ้านก้อ ล่าสุดได้จัดเวทีในพื้นที่เสวนาร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่แล้ว เริ่มจากลำพูน 3 อำเภอ ได้แก่ ลี้ บ้านโฮ่ง และทุ่งหัวช้าง

“เห็ดถอบ” สร้างรายได้ 10 ล้าน

นายมัญญา นาคพน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เปิดเผยว่า ในแต่ละปีเมื่อเกิดการเผาแล้วจะมีเห็ดถอบเกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานฯไม่น้อยกว่า 25,000 กิโลกรัมหรือ 25 ตัน ราคาเฉลี่ย 300 บาท/กก. หรือมีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ถึงขั้นต้องลงทะเบียนคัดเลือก โดยการจับสลากผู้ที่จะเข้ามาเก็บเห็ดถอบในพื้นที่มากกว่า 4,000 คนต่อปี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“การแก้ปัญหาเบื้องต้นขณะนี้ ทางอุทยานฯอยู่ระหว่างทดลองใส่เชื้อเห็ดลงไปยังพื้นที่ที่ไม่ถูกเผา แล้วเปรียบเทียบกับพื้นที่ถูกเผา ว่าพื้นที่ใดจะเกิดเห็ดมากกว่ากัน ปรากฏว่าพื้นที่ที่ไม่เผาเห็ดก็สามารถขึ้นได้ แต่ในปีนี้กลับกลายเป็นว่าพื้นที่ทดลองถูกเผาไหม้ไปด้วย

จึงต้องพยายามและคิดแนวทางแก้ไขปัญหาใหม่ โดยเตรียมแผนงานใช้วิธีลงทะเบียนชาวบ้านที่จะเข้ามาเก็บเห็ด หลังจากนั้นจะสร้างตลาดกลางหรือเทศกาลเห็ดถอบในพื้นที่อำเภอลี้ สร้างกลไกตลาดใหม่ โปรโมตเห็ดถอบปลอดการเผา โดยกำหนดฤดูกาลเก็บเห็ดในเป็นช่วงกลางเดือนพฤษภาคม”

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติแม่ปิงดูแลพื้นที่กว่า 6 แสนไร่ มีสถานีควบคุมไฟป่าเพียง 1 หน่วย และสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน สภาพปัญหาคือเข้าถึงยาก ชุมชนอยู่ใจกลางพื้นที่และชุมชนรอยตะเข็บของอุทยานฯ ไม่สามารถประสานงานรับจุด hotspot นอกเขตได้ ไม่สามารถวางแผนในการดับไฟป่าได้ แม้ที่ผ่านมาจะบังคับใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัดก็ตาม

ส่วนปัญหาด้านผลกระทบคือหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งคนส่วนใหญ่ในชุมชนยังมองว่า การเผาป่าเป็นการหารายได้ ทำให้เกิดผักหวานป่าและเห็ดถอบ บางส่วนก็ยังเข้าป่าล่าสัตว์อยู่

“บ้านก้อ” ค่าฝุ่นสูงสุดในประเทศ

ด้าน ดร.เจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล กล่าวว่า ได้เข้าไปสร้างกลไกการแก้ปัญหาไฟป่า ฝุ่นควันในพื้นที่บ้านก้อมานานกว่า 2 ปี ใช้กลไกการส่งเสริมอาชีพและพืชทดแทน ได้แก่ การปลูกกัญชง ข้าวโพดหวานแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วานิลลา รวมถึงการสร้างชลประทาน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

ในปีนี้จึงจะขับเคลื่อนต่อเนื่อง ได้แก่ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิง BCG การปลูกป่าผสมผสาน การทำพืชเกษตรออร์แกนิก และการสร้างกลไกด้านคาร์บอนเครดิตจากการลดไฟและฟื้นฟูป่า และเห็นด้วยที่จะสร้างการตลาดเศรษฐกิจเห็ดถอบปลอดการเผาให้เกิดขึ้นในพื้นที่

สำหรับพื้นที่บ้านก้อและอุทยานแม่ปิงในปีนี้ มีค่าฝุ่นขึ้นไป 1,000+ppm สูงที่สุดในประวัติศาสตร์เครื่องวัดฝุ่นของประเทศไทย คนป่วยจากฝุ่นควันในหมู่บ้านเยอะมาก รถพยาบาลวิ่งรับส่งไม่หยุด พระสงฆ์ในหมู่บ้านต้องหนีไปจำวัดที่อื่น เพราะท่านรับฝุ่นไม่ไหว ในกุฏิค่าฝุ่นสูงถึง 600ug/m3

ปีนี้จึงเริ่มมีกระแสต่อต้านการเผาป่าในหมู่บ้านแล้ว เพราะคนภายนอกเริ่มลุกขึ้นมาต่อต้านเช่นกัน ฉะนั้นต้องช่วยกันให้เกิดการแก้ไขระยะยาว คือ คนในหมู่บ้านต้องจัดการปัญหากันด้วยกฎกติกาของสังคมและมีส่วนร่วมในการจัดการ

ใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยว

ดร.เจนบอกว่า นอกจากขับเคลื่อนด้านการงดเผาเพื่อผลิตเห็ดถอบแล้ว ในพื้นที่ยังวางแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพของพื้นที่ ได้แก่

1.การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ การค้าทางเรือที่มีแก่งในพื้นที่จำนวนมากและมีเรื่องราวที่ย้อนอดีตได้ รวมถึงมี soft power อย่างหนังเรื่อง คิดถึงวิทยา มาเป็นจุดขายตามรอยได้

2.แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ได้แก่ น้ำตกก้อหลวง สีเขียวมรกต ที่สวยงามบริสุทธิ์ ทุ่งกิ๊ก ที่สามารถกางเต็นท์ ชมสัตว์ ส่องดาว แก่งก้อ ที่มีร้านอาหารและแพบริการ ที่จะยกระดับมาตรฐานในอนาคต

3.การท่องเที่ยวเชิงกีฬา ทั้งเทรล กีฬาทางน้ำ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ส่องนก หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

4.เส้นทางตามรอยครูบาศรีวิชัย ที่ท่านมีถิ่นกำเนิดที่อำเภอลี้ ได้แก่ ครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่อนาคตเราต้องผลักดันให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก แห่งวัดบ้านปาง ตำบลศรีวิชัย, ครูบาเจ้าอภิชัย (ขาวปี) หรือครูบาขาวปี วัดพระพุทธบาทผาหนาม ตำบลป่าไผ่ และครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตำบลนาทรายซึ่งครูบาทั้งสามเป็นพระอริยสงฆ์ ที่มีถิ่นกำเนิดในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และเป็นที่เคารพนับถือของชาวล้านนา และพุทธศาสนิกชนทั่วไปอย่างมาก

5.เส้นทางสาย craft ลำพูน เพราะดินแดนแห่งนี้มีการถักทอผ้าฝ้ายผสมใยกันชงแบบ handmade 100% จากการขับเคลื่อนของชุมชนในพื้นที่ที่จะสร้างรายได้จากวัตถุดิบอื่น ๆ นอกจากข้าวโพดหรือพืชเชิงเดี่ยว ย้อมแบบธรรมชาติ โดยเริ่มตั้งแต่การปลูกต้นฝ้าย ลดปัญหาการสะสมของฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาป่าอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาพของงานเชิงพื้นที่ในบ้านก้อ อำเภอลี้ และอุทยานแห่งชาติแม่ปิงที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า คือ กระบวนการทางเศรษฐศาสตร์เห็ดถอบ แก้ฝุ่นควัน PM 2.5 ได้แก่ แหล่งทุน เพื่อช่วยรับซื้อเห็ดถอบจากแปลงที่ปลอดการเผา และส่งเสริมแปลงเห็ดที่เป็นแปลงปลอดการเผาในฤดูนี้

เป็นการพิสูจน์ความเชื่อใหม่ในปี 2566 นี้ว่า “ไม่เผาก็มีเห็ดได้” และการสร้างกลไกการส่งเสริมการตลาดให้กับเห็ดแปลงที่ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟ สอดคล้องการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (SFM) ตามแนวทางการบูรณาการระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนา (ICD) โดยมีกรอบร่วมมือวางแผนร่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชน

ดูข่าวต้นฉบับ