สำนักข่าว TODAY ชวนทำความเข้าใจการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ภารกิจสำคัญภารกิจแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ใน 15 ข้อ
การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือUnited Nations General Assembly (UNGA) เป็นการประชุมที่รวมเอาผู้นำโลกมารวมตัวกัน และมีกำหนดจัดขึ้นทุกปีในวันอังคารที่ 3 ของเดือนกันยายน
การประชุม UNGA ปีนี้เป็นการประชุม สมัยที่ 78 มีกำหนดการจัดขึ้นในวันที่ 18-26 กันยายน 2566
เป้าหมายพื้นฐานของการประชุม UNGA คือการที่แต่ละประเทศ ทั้งที่เป็นชาติมหาอำนาจและไม่ใช่มหาอำนาจ จะได้มีโอกาสพูดในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน หรือแม้แต่ประเด็นร่วมระดับโลก ซึ่งอาจบอกได้ว่าการประชุมนี้ เป็นเหมือนสภาของโลกที่ทุกประเทศมีเสียงเท่าเทียมกัน
ที่ผ่านมา การประชุม UNGAเปรียบเสมือนเป็นต้นทางของการกำหนดวาระระดับโลกหลายเรื่อง เช่น เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ซึ่งในเวลาต่อมาเป็น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (Goals)
การหารือในกรอบสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ยังมีวาระสำคัญต่อโลกในหลายวาระ เช่น ในการประชุมสมัยพิเศษต่างๆ ที่มักมีการขอมติชาติสมาชิกต่อกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญของโลก
เรื่องที่ถูกหยิบมาหารือในการประชุม UNGAจะถูกส่งต่อไปยังเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่มี 5 ชาติเป็นสมาชิกถาวร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และมีสมาชิกไม่ถาวรอีก 15 ชาติที่สับเปลี่ยนเข้ามา
โดยสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินับว่ามีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือ เพราะว่า ทั้ง 5 ชาติ มีอำนาจสามารถใช้สิทธิ์วีโต้ ในการยับยั้งมติต่างๆ ของที่ประชุมได้
ปีนี้ มีผู้นำชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เข้าร่วมการประชุมเพียงคนเดียว คือ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ส่วนผู้นำอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย ส่งผู้แทนเข้ามาร่วมประชุม
สิ่งที่ถูกจับตาจากทั่วโลกในการประชุม UNGA ทุกปี ก็คือการเปิดเวทีให้ผู้นำทั่วโลกได้มีโอกาสกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าสมาชิก ซึ่งตามปกติแล้วจะให้เวลาคนละ 15 นาที
สำหรับปีนี้ ประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจก็คือ เรื่องสงครามยูเครนที่คาดว่าจะถูกหยิบมาหารือในที่ประชุม และก็เป็นปีแรกที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เดินทางมาร่วมประชุมด้วยตัวเอง และจะแถลงสุนทรพจน์ต่อหน้าที่ประชุมเป็นครั้งแรก
ส่วนประเด็นอื่นๆ ก็ได้รับความสนใจเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การแก้ปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียม ไปจนถึงวิกฤติค่าครองชีพทั่วโลก
มีการคาดการณ์ว่า ที่ประชุม UNGA ปีนี้ จะมีการเร่งดำเนินการผลักดันการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ภายในปี 2030
สิ่งที่น่าสนใจนอกจากเวทีประชุม คือการหารือนอกรอบการประชุมระหว่างผู้นำชาติต่างๆ
นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ก็มีกำหนดหารือกับผู้นำหลายชาติ อาทิ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม, ประธานาธิบดีเกาหลีใต้, นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย, ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ FIFA และเลขาธิการสหประชาชาติ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการพบปะผู้บริหารสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกาและอาเซียน (US-ASEAN Business Council : USABC), หอการค้าสหรัฐอเมริกา, ตลอดจนหารือกับผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก, ผู้บริหารภาคเอกชนสหรัฐฯ และชุมชนไทยในสหรัฐฯ