ไลฟ์สไตล์

“พระประธานในพระอุโบสถ” ตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 1 คือปางอะไร?

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 25 มี.ค. เวลา 03.16 น. • เผยแพร่ 25 มี.ค. เวลา 03.16 น.
รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชศรัทธาในพุทธคุณพระแก้วมรกต

พระประธานในพระอุโบสถตามพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและก่อนหน้านั้น นิยมสร้างเป็น “พระพุทธรูปปางมารวิชัย” แต่เมื่อเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ความนิยมดังกล่าวนั้นเปลี่ยนไป แล้วพระพุทธรูปตามพระราชนิยมรัชกาลที่ 1 คือปางอะไร?

พระประธานในพระอุโบสถ ตามพระราชนิยมรัชกาลที่ 1

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ศาสตราจารย์ ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าในผลงาน “การเมืองในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๑” (สำนักพิมพ์มติชน) ตอนหนึ่งว่า

จากการศึกษาในรายละเอียดเฉพาะเจาะจงไปในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยเฉพาะในวัดที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหรือบูรณปฏิสังขรณ์หลายแห่ง พบว่า พระประธานในพระอุโบสถมีแนวโน้มเป็น “พระพุทธรูปปางสมาธิ”

ชาตรียกข้อมูลจากพงศาวดารฉบับต่างๆ ที่ระบุว่า วัดที่รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาหรือโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ด้วยพระองค์เองมีทั้งสิ้น 12 วัด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในจำนวนนี้มีถึง 8 วัด ที่พระประธานเป็นพระพุทธรูปตามพระราชนิยมรัชกาลที่ 1 คือ

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระประธาน คือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) เป็นพระพุทธรูปทำจากหินสีเขียว ปางสมาธิ ซึ่งเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 ทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์ เมื่อสถาปนาวัดแล้วก็ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระประธาน คือ พระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปหล่อโลหะปางสมาธิ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากพระอุโบสถวัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วัดราชบุรณะ เนื่องจากมีการสร้างพระอุโบสถและพระประธานขึ้นใหม่ เพราะถูกทำลายเสียหายช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาตรีจึงค้นข้อมูลและพบว่า ใน “แถลงการณ์คณะสงฆ์” พ.ศ. 2470 ซึ่งบันทึกถาวรวัตถุภายในวัดเอาไว้ ปรากฏเนื้อหาดังนี้ “…พระพุทธรูปประธาน เป็นพระพุทธรูปหล่อปิดทอง มีพระอาการนั่งสมาธิ หน้าตัก ๕ ศอก ๗ นิ้ว…”

วัดสระเกศ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ตามประวัติกล่าวว่า รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ปั้นขึ้นใหม่ โดยหุ้มพระประธานองค์เดิมเอาไว้

วัดสมอราย (วัดราชาธิวาสวิหาร) เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (วังหน้า) ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ มีพระประธานเป็นปางสมาธิ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อไหร่ แต่อาจอยู่ในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นอีกวัดที่พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปตามพระราชนิยมรัชกาลที่ 1 สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชกาลของพระองค์

วัดยานนาวา ไม่มีประวัติระบุการก่อสร้างพระพุทธรูปประธานที่ชัดเจน มีเพียงหลักฐานที่ระบุว่า พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระอุโบสถขึ้น ซึ่งหากคิดแบบทั่วไป พระประธานก็น่าจะมีตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว

วัดคูหาสวรรค์ พระประธาน คือ พระพุทธเทวนฤมิตพิชิตมาร รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่แทนที่พระประธานองค์เดิม ที่ทรงอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพระเชตุพน

อีก 3 วัดในจำนวน 12 วัด ที่รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาหรือโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ด้วยพระองค์เอง มีพระประธานในพระอุโบสถเป็น “พระพุทธรูปปางมารวิชัย” ได้แก่ วัดสุวรรณาราม, วัดอรุณราชวราราม และ วัดสุวรรณดาราราม

ส่วนอีก 1 วัด คือ วัดราชสิทธาราม ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นปางอะไร เนื่องจากพระประธานในปัจจุบัน คือ พระพุทธจุฬารักษ์ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) โดยรัชกาลที่ 2 ทรงปั้นหุ่นพระเศียร และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงปั้นส่วนพระองค์

ใครไปวัดเหล่านี้แล้วลองสังเกตกันได้เลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๑. กรุงเทพฯ: มติชน, 2558.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2568

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “พระประธานในพระอุโบสถ” ตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 1 คือปางอะไร?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • Tat (Den) Sindhusiri
    สาธุ สาธุ สาธุ อะนุโมทามิ ขออนุโมทนาในกุศลกับท่านทุกวาระ ทุกประการ นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ เม นิจจัง โอม อุ อะ มะ นะโม พุทธายะ ชะ สุมัง เอวัง โหตุ เอวัง โหตุ เอวัง โหตุ
    25 มี.ค. เวลา 10.46 น.
ดูทั้งหมด