ขณะที่ต่างประเทศได้มีการถกเถียงในประเด็นทางด้านจริยธรรมที่คาดว่าจะเป็นปัญหาในโลกยุคเมตาเวิร์สกันอย่างแพร่หลาย แต่ในประเทศไทยกลับไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้กันมากนัก ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยจำเป็นจะต้องมีการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวกันอย่างจริงจัง เพื่อหาแนวทางในการพิจารณาปัญหาในเชิงจริยธรรมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทในสังคมไทย
โดย อาจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญ รองคณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โลกยุคเมตาเวิร์สเปิดกว้างสำหรับทุกคนบนโลก โดยไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติศาสนา แม้แต่ผู้ทรงศีล หรือ "พระ" ก็อาจท่องโลกเมตาเวิร์สได้ ตราบใดที่ยังไม่ขัดต่อหลักพระธรรมวินัย ดังนั้นการเข้าถึงโลกเมตาเวิร์สของคนทุกกลุ่มได้อย่างง่ายดายนี้ ก็สามารถนำไปสู่ปัญหาทางจริยธรรมใหม่ๆที่เราอาจจะไม่เคยคาดคิดมาก่อนได้ ซึ่งการปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคเมตาเวิร์ส ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ การมีทักษะถึงพร้อมด้านการใช้เทคโนโลยี แต่อยู่ที่ "ความพร้อมทางด้านจิตใจ" มากกว่า
ด้าน อาจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญ กล่าวต่อว่า เรื่องสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม คือ ปัญหาทางจริยธรรมใหม่ๆ ในอนาคต ที่จะนำไปสู่คำถามที่ว่า "เยาวชนคนไทยรุ่นใหม่พร้อมแล้วหรือไม่ที่จะก้าวสู่โลกเมตาเวิร์สอย่างปลอดภัยและสันติสุข" โดยในต่างประเทศมีหลายตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อนำมาถกเถียงหาข้อสรุปในเชิงจริยธรรมกันอย่างแพร่หลาย เพื่อเตรียมพร้อม และสร้างแบบแผนการใช้งานในโลกเมตาเวิร์สร่วมกันอย่างปลอดภัย ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ
สำหรับหลักคิดสำคัญของจริยธรรมในโลกเมตาเวิร์ส คือ "การตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ของกันและกัน" แม้จะเกิดขึ้นผ่าน "ร่างอวตาร" (Avatar) ในโลกเสมือนจริงแต่เส้นบางๆ ของหลักคิดดังกล่าวอยู่ที่ สังคมไทยเราพร้อมที่จะให้ความสำคัญในเรื่องการ "เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน" มากน้อยแค่ไหน ในทุกวันนี้ และในอนาคต คือโจทย์ใหญ่ที่ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลนำมาตั้งเป็นหนึ่งในเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียน โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาของวิทยาลัยฯ ได้เรียนรู้ เข้าใจ ตระหนักและให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน โดยไม่แบ่งแยก หรือนำความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม มาสร้างความขัดแย้ง หรือเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้
ในปัจจุบัน วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกแบบหลักสูตรให้นักศึกษา ทั้งที่เป็นฆราวาส และพระภิกษุสงฆ์ ได้ฝึกทักษะเพื่อการเตรียมพร้อม และปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดให้นักศึกษาในชั้นปีแรก ได้เริ่มต้นเรียนวิชาฝึกการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) และต่อยอดในปีที่ 2 ด้วยการเรียนและฝึกคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) จนเมื่อถึงชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยฯ จะฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการ(Entrepreneur) ให้กับนักศึกษาด้วย
ส่วนในปีสุดท้ายก่อนสำเร็จการศึกษา นักศึกษาวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จะได้ "ออกแบบโปรเจคจบ" และทำโปรเจคนั้นตามที่ตนเองสนใจและถนัด ไม่ว่าจะเป็นการทำวิจัย ฝึกงาน หรือการทำจิตอาสา นอกจากนี้ ยังได้มีการเพิ่มทักษะด้วยกิจกรรมเสริมในการสร้างนวัตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่เกี่ยวกับศาสนาให้กับนักศึกษาวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบโจทย์โลกยุคใหม่ที่ไม่ได้มีข้อกำจัดทางด้านอาชีพ โดย วิทยาลัยศาสนศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมฝึกทักษะให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาได้ค้นหาอาชีพที่ตนเองสามารถออกแบบ และหาโอกาสสร้างอาชีพใหม่ๆ จากองค์ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากวิทยาลัยฯ
"ผู้ที่ยังไม่พร้อมใช้เทคโนโลยี" อาจไม่ได้หมายถึง "ผู้ที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง" เสมอไป แต่ "ผู้ที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง" ย่อมมี "ภูมิต้านทานที่ดี" และเข้มแข็งกว่า”อาจารย์ ดร.ไพเราะ กล่าว
ซึ่งจากคำพูดของ อาจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญ ทำให้เห็นว่าการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ ก่อนที่โลกเมตาเวิร์สจะมาเยือนอย่างเต็มรูปแบบ ย่อมทำให้ลดปัญหาต่างๆ ลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเชิงจริยธรรมที่เรายังไม่มีมาตรฐาน หรือเกณฑ์ที่ชัดเจนในการเข้ามาควบคุม หรือจัดการ และอาจจะส่งผลกระทบมาถึงโลกจริงของเราได้ในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเยาวชนคนไทยรุ่นใหม่จะไปต่อในโลกเมตาเวิร์สได้เร็วหรือช้า แต่ทักษะเพื่อเตรียมพร้อมสู่โลกยุคใหม่ที่วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมมอบให้นักศึกษาดังกล่าวนี้ จะเป็นต้นทุนสำคัญสู่การสร้างโอกาสในการดำรงชีวิตในวันข้างหน้าได้อย่างปลอดภัย และสันติสุขอย่างแน่นอน
น้อย คนรุ่นเก่าอย่างพ่อแม่เลยต้องทำใจกับลูกละถ้าทำใจไม่ได้ก็ทุกข์เพราะความคิดไม่ตรงกัน
11 มิ.ย. 2565 เวลา 13.40 น.
ดูทั้งหมด