1. ขณะที่ไม่ได้ใช้ความคิด ให้พยายามเอาจิตมาจับที่ลมหายใจ ให้รับรู้อยู่ที่โพรงจมูก เหมือนนายทวารเฝ้าประตู ถ้ามีลมเข้า ให้รู้เหมือนคนเฝ้าประตูที่รู้ว่ามีใครเข้ามา ถ้ามีลมออก ให้รู้เหมือนคนเฝ้าประตู รู้ว่ามีคนออกไป ให้ทำเพียงเท่านี้ แค่รู้อยู่ที่โพรงจมูก ไม่ต้องตามไปลมหายใจเข้าไป รู้อยู่ที่โพรงจมูกเท่านั้น รู้ไปเรื่อย ๆ
เราสามารถทำเช่นนี้ได้ทุกเวลาที่ไม่ได้ใช้ความคิด ว่างๆ ให้ทำ นั่งรออยู่ว่าง ๆ ให้ทำ เดินไปไหนมาไหน ให้ทำ เพราะนี่คือสิ่งที่เรียกว่า "การภาวนา" และเป็นการภาวนาที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ การภาวนานี้ทำได้ง่ายมาก และไม่เกี่ยวอะไรกับวัด คนอยู่ในวันอาจไม่ได้ทำ คนอยู่นอกวัดอาจทำมันอยู่ตลอดเวลาก็ได้
2. ขณะที่รู้ลมอยู่ที่โพรงจมูก เมื่อเกิดความคิด พูดง่าย ๆ ว่าเมื่อคิด จะคิดอะไรก็ตาม คิดนินทา คิดอิจฉา คิดเบื่อ คิดเซ็ง คิดเรื่องงาน คิดเรื่องบุญ คิดเรื่องบาป คิดถึงสิ่งลามก คิดถึงสิ่งดีงาม ทั้งหมดเรียกรวม ๆ ว่าคิด ซึ่งมีค่าเท่ากันทั้งหมดไม่ว่าคิดดีหรือคิดร้าย รวมความแล้วมันคือความคิด ให้กำหนดรู้เพียงผ่าน ๆ ว่า "จิตไหลไปคิดนะ" หรือจะกำหนดว่า "คิดหนอ ๆ" ก็ได้
เมื่อรู้สึกตัวว่าคิด ก็ดึงกลับมาที่ลมใหม่ จะคิดอะไรก็ช่างมัน แค่รู้ว่าคิด แล้วดึงกลับมาที่ลม ห้ามไปนั่งจัดการกับความคิดเด็ดขาดเพราะนั้นไม่ใช่หน้าที่ของเรา ไม่ต้องไปตั้งคำถามว่าทำไมฉันจึงคิด ทำไมฉันจึงฟุ้งซ่าน อย่าไปสนใจความคิด แค่รู้ แค่ดู แค่เห็น ไม่ต้องวิเคราะห์ ตัดสินใดๆ แล้วกลับมาอยู่กับลมหายใจตนเองลูกเดียว เกิดอะไรขึ้นก็ตาม กลับมารู้ลมหายใจลูกเดียว
3. เวลาทำงานที่ต้องใช้สมาธิ หรือทำสิ่งใดที่ต้องใช้สมาธิ ให้หยุดภาวนา แล้วอยู่กับสิ่งที่ต้องทำตรงหน้าไป ทำงานให้เต็มที่ ทำหน้าที่ให้เต็มที ไม่ต้องสนใจกับการภาวนา แต่ให้สนใจอยู่กับสิ่งที่ทำตรงหน้า
4. เมื่อทำสิ่งใดที่ไม่ต้องใช้สมาธิมากนัก พูดง่ายๆ ว่าขณะที่ทำสิ่งไร้สาระอยู่ เช่นเดิน รอรถประจำทาง เข้าห้องน้ำ นั่งดูโทรทัศน์ ให้พยายามตามรู้ลมหายใจไปเรื่อย ๆ แบบเบา ๆ ระหว่างที่ทำสิ่งเหล่านี้ กึ่งหนึ่งให้รู้ลม กึ่งหนึ่งก็ทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไป
5. ช่วงแรกๆ ของการฝึกฝน เราไม่มีวันอยู่กับลมหายใจได้ ย้ำว่าเราจะอยู่กับลมหายใจไม่ได้ทันที และจะไม่มีวันที่จิตสงบได้ง่าย ๆ ความฟุ้งซ่านคือเรื่องปกติ ความสงสัยคือเรื่องปกติ ความกังวลต่างๆ คือเรื่องปกติ ดังนั้น เราต้องตัดความลังเลสงสัยให้หมด เมื่อความคิดเหล่านี้เกิดขึ้น แค่เพียงรู้ว่ามันเกิดขึ้น สังเกตว่ามันดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สังเกตไปเรื่อย ๆ แล้วพยายามดึงจิตกลับมาที่ลมหายใจ ถ้ามันไหลไปคิดอีก ก็สังเกตแล้วดึงกลับมาอีก
ทำเพียงเท่านี้ รับรู้ว่าเกิดอารมณ์ หรือความรู้สึกขึ้นมา แล้วดึงจิตกลับมาที่ลมหายใจ มันจะเกิดอาการดึงไปดึงมาอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา คือไหลไปคิด เราดึงกลับ แล้วก็ไหลไปคิดอีก แล้วเราก็ดึงกลับมาอีก ให้ทำไปเรื่อยๆ จนเกิดความชำนาญ ความสงบ ความเข้มแข็งในจิตใจก็จะมีมากขึ้นเป็นลำดับ เมื่อมีความสงบเป็นฐานกำลังของใจแล้ว สติปัญญาจะเกิดขึ้นมาเอง สติปัญญาตัวนี้สามารถรู้ทันกิเลสก็ได้ ตัดกิเลสก็ได้ หรือจะใช้ไปทำงานทำการก็ได้ทั้งนั้น
ป.ล. ขอให้ลองคิดตาม คิดแล้วลองทำตาม จะเห็นได้ว่า การภาวนาเป็นเรื่องที่ทำง่ายมาก และทำได้ตลอดเวลา ใคร ๆ ก็สามารถภาวนาในชีวิตประจำวันได้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ควรทำให้ชำนาญ จนกลายเป็นสัญชาติญาณ แล้วสิ่งดีงามก็จะเกิดขึ้นในชีวิตมากขึ้น ๆ
ที่สำคัญจะต้องไม่แยกการภาวนาออกจากชีวิต แต่ต้องหลอมทั้งการภาวนาและการใช้ชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทำเองก่อน แล้วสอนคนรอบข้าง ถ่ายทอดแนวความคิดนี้ไปเรื่อยๆ แล้วสังคมของเราก็จะกลายเป็นสังคมที่น่าอยู่ เพราะทุกคนมีกิเลสน้อย มีความเมตตาสูง เป็นคนมีคุณภาพ และเป็นคนดีที่มีสติปัญญาอย่างแท้จริง !
JiraRex บทความดีมาก มากครับ
ควรมีบทความแบบนี้เยอะ 🙏
01 ธ.ค. 2562 เวลา 13.59 น.
Yoyo ขอบคุณครับ
01 ธ.ค. 2562 เวลา 13.39 น.
Yong อานาปานสติที่พระพุทธเจ้าใช้เจริญสติเป็นเครื่องอยู่ก็เพราะมีความสบายในการดูลมหายใจแต่บางคนอาจจะเลือกใช้คำบริกรรมพุทโธเป็นเครื่องกำหนดเพื่อรู้ของสติอันนี้คือเน้นเรื่องความสบายใจในการทำถ้าทำแล้วอึดอัดก็แสดงว่าไม่ใช่จริตของเราบางคนก็ใช้การเพ่งความว่างหรือเพ่งแสงสว่างเป็นเครื่องรู้ของสติทำให้เกิดสมาธิจิตสงบมีอารมณ์เป็นหนึ่งเพื่อนำไปพิจารณาเห็นการเปลี่ยนแปลงของรูปนามหรือกายใจที่ตกอยู่ใต้ความจริงที่ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวใช่ตนเพื่อคลายความปิดมั่นถือมั่นในรูปนามหรือขันธ์๕ว่าเป็นตัวเราของเรา
01 ธ.ค. 2562 เวลา 16.22 น.
กานต์ ดีมงคล สอนได้ตรงคำสอนเกือบ 100 % แต่ติดนิดหนึ่ง ตถาคต ให้รู้ลมเข้า ออก แต่พระองค์ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องลมผ่านโพรงจมูก...ยังไงขออนุโมทนาด้วยครับ
01 ธ.ค. 2562 เวลา 14.08 น.
ขอบคุณค่ะ
01 ธ.ค. 2562 เวลา 13.53 น.
ดูทั้งหมด