ทั่วไป

องคมนตรีใหม่

ไทยโพสต์
อัพเดต 24 มี.ค. 2564 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 24 มี.ค. 2564 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

      ยุคนี้บริโภคข่าวสารต้องระวัง

            เพราะคนเจตนาร้ายต่อแผ่นดินจ้องจะปล่อยข่าวเท็จอยู่เสมอ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

            ไม่เว้นกระทั่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

            วันก่อนจู่ๆ แพร่สะพัดกันในโซเชียลว่า สำนักพระราชวังได้มีการสั่งห้ามมิให้ประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ชูป้ายข้อความ ใดๆ ทั้งสิ้น

            เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ www.royaloffice.th  โพสต์ชี้แจงเรื่องนี้ครับ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

            "ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อความว่า สำนักพระราชวังได้มีการสั่งห้ามมิให้ประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ชูป้ายข้อความ หรือพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ฉายกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นั้น ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความเท็จที่ไม่ถูกต้อง

            ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถร่วมแสดงความจงรักภักดีระหว่างเสด็จพระราชดำเนินผ่านเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมา"

            สืบสาวราวเรื่องแล้วต้นตอมาจากเพจโจมตีสถาบันเบื้องสูงกุเรื่องขึ้นมา เพื่อโจมตีสถาบัน ต้องการแบ่งแยกประชาชนออกจากสถาบัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

            ไม่เป็นผลครับ

            ไม่ว่าเสด็จฯ ไปที่ใด ประชาชนยังคงเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ เช่นเคย

            การชูป้าย ชูพระบรมฉายาลักษณ์ แค่ส่วนประกอบ

            ของจริงคือความจงรักภักดี

            วานนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า

            ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งองคมนตรีตามประกาศ ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช  ๒๕๖๓ แล้วนั้น

            บัดนี้ ทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งองคมนตรีเพิ่มขึ้น

            อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายเกษม  จันทร์แก้ว เป็น องคมนตรี

            ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

            ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

            ศาสตราจารย์ ดร.เกษม จันทร์แก้ว เป็นใครมาจากไหน  คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก

            แต่คนที่โตมาในยุคป๋าเปรม หรือก่อนนั้นรู้จักดี

            ท่านเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้ 

            อดีตเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์

            มีประวัติและบทสัมภาษณ์ของ ศาสตราจารย์ ดร.เกษม ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๔ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดังนี้ครับ

             ศาสตราจารย์ ดร.เกษม เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน  ๒๔๘๑ ที่ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย บิดาชื่อนายนาค จันทร์แก้ว และมารดาชื่อนางบุญมา  จันทร์แก้ว

            จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนประชาบาลวัดตลิ่งชัน  พ.ศ.๒๔๙๐ จบชั้นมัธยมปีที่ ๖ จากโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม พ.ศ.๒๔๙๘ จบเตรียมอุดมศึกษา จากโรงเรียนทวีธาภิเศก พ.ศ.๒๕๐๐ จบวนศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๐๖ ได้รับปริญญาโทสาขา Watershed Management จาก Colorado State  University พ.ศ.๒๕๐๘ ได้รับปริญญาเอกสาขา Forest  Hydrology จาก University of Washington พ.ศ.๒๕๑๘

            เริ่มเข้ารับราชการตำแหน่งอาจารย์โท ในคณะวนศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๐๙ 

            ศาสตราจารย์ ดร.เกษม เล่าว่าตอนมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปีแรกนั้น ต้องฝืนใจพอสมควร จนขึ้นปีที่ ๒ และต่อๆ มาจึงทำงานสอนและวิจัยได้อย่างสนุกสนาน มีงานเต็มมืออยู่ตลอดเวลา อาจเป็นเพราะอาจารย์เป็นเด็กบ้านนอกมา จึงไม่ย่อท้อกับงานหนัก

            ปรัชญาในการสอนของอาจารย์มี 3 ขั้น คือ ขั้นเตรียมตัวค้นคว้าปรัชญาและสาระสำคัญที่วิชานั้นกำหนดไว้ และมีการเคลื่อนไหวที่ทันสมัยอะไรบ้างในวิชานั้น แล้วจึงจะลงมือเตรียมการสอน

            การสอนของอาจารย์จึงมิได้ใช้ของเดิมที่ซ้ำซ้อน จะปรับปรุงให้ทันสมัยตลอดเวลา หลักสำคัญคือ การประยุกต์ข้อมูลสู่การเรียนการสอน ผู้สอนก็ไม่เบื่อ ผู้เรียนก็ไม่เบื่อ

            ศาสตราจารย์ ดร.เกษม ผลิตผลงานวิจัยออกมาอย่างต่อเนื่อง

            ผลงานที่น่าภาคภูมิใจแรกสุดได้แก่ งานจัดการลุ่มน้ำของประเทศไทย ใน พ.ศ.๒๕๐๖ ต่อมาก็คือ งานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการวิจัยบนที่สูง รวมผลงานกว่า ๕๐ เล่ม

            ปี พ.ศ.๒๕๑๘ ต้องหันไปจับงานเป็นผู้ริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อม ในตำแหน่งผู้บริหาร ผู้สอน ผู้ทำงาน ผู้วิจัย ทุกหน้าที่

            ตำราและผลงานที่ศาสตราจารย์ ดร.เกษม ภูมิใจมากที่สุดจึงเป็น การจัดการลุ่มน้ำ และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งใช้กันทั่วประเทศ ทั้งสองเล่มนี้เป็นพื้นความรู้และการศึกษาที่สำคัญ

            ด้วยความสามารถใส่ใจในงานและผลงานที่ผลิตมาเป็นประโยชน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ศาสตราจารย์ ดร.เกษม จึงได้รับรางวัลผลงานดีเด่นมากมาย เช่น

            ๑.ประกาศนียบัตรชมเชย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๑๘ เรื่องลักษณะอากาศใกล้ผิวดินของป่าดิบแล้ง สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

            ๒.ประกาศนียบัตรชมเชย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๒๕ เรื่อง การวิจัยเกี่ยวกับการจัดการลุ่มน้ำบนภูเขา

            ๓.นักวิทยาศาสตร์การเกษตรดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๖  จากสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

            ๔.นักวิทยาศาสตร์เกษตรดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๙ จากสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทย

            ผลงานวิจัยที่ยอมรับกันทั่วไป ได้แก่

            ๑.การเคลื่อนย้ายธาตุอาหาร โดยขบวนการกัดชะดินจากป่าเบญจพรรณแม่หวด ได้รับทุนอุดหนุนวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๑๗-๒๕๒๓

            ๒.การวิจัยเกี่ยวกับการจัดการลุ่มน้ำบนภูเขา ได้รับทุนอุดหนุนวิจัยงบประมาณประจำปีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๑๗-๒๕๒๓

            ๓.การวิเคราะห์ชนิดและปริมาณเชื้อราและบักเตรีในลุ่มน้ำป่าดิบเขาดอยปุย เชียงใหม่ ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๒๑-๒๕๒๒

            ๔.ลักษณะทางอุทกวิทยาแหล่งน้ำกร่อยบริเวณป่าชายเลนของประเทศไทย ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๒๕

            ๕.ผลกระทบของการใช้ดินบนภูเขาต่อน้ำหน้าผิวดินบริเวณสถานีวิจัยลุ่มน้ำห้วยคอกม้า ดอยปุย เชียงใหม่ ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๒๖

            ๖.ผลกระทบของการใช้ที่ดินต่อปริมาณการแปดเปื้อนวัตถุมีพิษในดิน ตะกอน น้ำ และพืชบริเวณลุ่มน้ำบางปะกง  ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  พ.ศ.๒๕๒๗-๒๕๒๘

            ๗.เทคโนโลยีการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของการใช้ที่ดินลุ่มน้ำบนภูเขา จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับทุนจากทุนอุดหนุนวิจัยงบประจำปีของมหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๒๙-๒๕๓๔

            ๘.การจัดและการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศไทย ได้รับทุนอุดหนุนวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๓๕-๒๕๓๗

            ๙.โครงการศึกษาเพื่อกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศไทย (ภาคกลาง ตะวันตก ป่าสักและแม่กก) ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๖-๒๕๓๗

            ๑๐.โครงการศึกษาวิจัยและสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) พ.ศ.๒๕๔๑

            ครับ…ว่ามายาวเหยียด อ่านแล้วไม่สนุก เพราะจุดประสงค์คือ ให้เห็นว่า คนคนหนึ่งกับองค์ความรู้ที่เพิ่มพูน และสามารถนำมาใช้ได้จริง เพื่อประโยชน์ของประเทศนั้น  ควรได้รับการยกย่อง เชิดชู

            แน่นอนครับ หลังจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.เกษม จะตกเป็นเป้าโจมตีจากกลุ่มล้มล้างสถาบัน เหมือนองคมนตรีท่านอื่นๆ

            แต่ก่อนที่จะโจมตีอยากให้คนรุ่นใหม่ ได้อ่านได้รับรู้ว่า พวกท่าน ครอบครัวท่าน ญาติพี่น้องท่าน อาจเป็นคนหนึ่งที่มีชีวิตที่ดีในวันนี้ เพราะผลงานของศาสตราจารย์ ดร.เกษม ครับ.

ดูข่าวต้นฉบับ