ไลฟ์สไตล์

อรุณาจาลาม มูรูกานันธัม : ชายผู้ปฏิวัติวงการ ‘ผ้าอนามัย’ ในอินเดีย - เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

TOP PICK TODAY
เผยแพร่ 13 มิ.ย. 2563 เวลา 17.00 น.

 

อินเดียเคยเป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหาผ้าอนามัย เลวร้ายที่สุดในโลก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ผ้าอนามัยแดนภารตะราคาห่อละ 200 บาท นับว่าแพงมากเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำคือ 150 บาท มีการเก็บภาษีสูงถึง 12% เพราะรัฐบาลมองเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

ผู้หญิงอินเดียนับล้านๆ คนจึงไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย และต้องหันไปพึ่งพาผ้าหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ซับเลือดประจำเดือนแทน

ขณะเดียวกันความรู้เรื่องสุขอนามัยก็จำกัดมาก ผู้ชายไม่น้อยยังคิดว่าประจำเดือนเป็นโรคชนิดหนึ่ง บางพื้นที่เชื่อว่าใช้ผ้าอนามัยแล้วจะเป็นโรคร้าย หรือหาสามีไม่ได้ 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ผู้ชายคนหนึ่งเห็นภรรยาของตนต้องทนทุกข์กับเรื่องนี้ เขาจึงลุกขึ้นมาค้นคว้าและสร้างเครื่องผลิตผ้าอนามัยคุณภาพดี ราคาถูก ให้คนทั่วไปซื้อหามาใช้ได้ ทำให้เกิดการปฏิวัติวงการผ้าอนามัยครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา จนปัจจุบันอินเดียเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัยแล้ว

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับ ‘อรุณาจาลาม มูรูกานันธัม’ (Arunachalam Muruganantham) ชายจากชนบทของอินเดีย การศึกษาไม่สูง แต่ใช้ความมุมานะพยายามศึกษาค้นคว้า จนสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่มีความเชื่ออย่างสุดโต่งได้สำเร็จ

แม้ในช่วงแรกเขาโดนกล่าวหาว่าเป็นพวกวิปริต หมกหมุ่นอยู่กับของสกปรก แต่ท้ายที่สุดก็พิสูจน์ให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นมีประโยชน์ต่อคนจำนวนมากจริงๆ 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เรื่องราวของอรุณาจาลามเป็นแรงบันดาลใจของผู้คนมากมาย นิตยสาร Time ยกย่องเป็น 1 ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลของโลกในปี 2014 ชีวิตของเขาได้รับการนำไปทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง Padman 

ใครจะเชื่อว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาจากจุดเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ 

นั่นคือความรักที่มีต่อภรรยา

01

ผู้ชายคนแรกของโลก ที่สวมผ้าอนามัย

สังคมอินเดียมีความเชื่อต่างๆ มากมาย หลายอย่างอยู่เหนือการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หนึ่งในนั้นคือการมองประจำเดือนเป็นสิ่งสกปรกและน่ารังเกียจ ทั้งที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์

คนอินเดียจึงต้องแอบซ่อนเวลาพูดถึง ‘เวลานั้นของเดือน’ ในบางพื้นที่ ผู้หญิงที่มีประจำเดือนจะถูกห้ามทำพิธีกรรมทางศาสนา ห้ามเข้าวัดวาอาราม ห้ามเข้าครัว ห้ามแม้กระทั่งนั่งร่วมกับผู้อื่น 

ผ้าอนามัยก็จัดเป็นของใช้ราคาแพง องค์กร She Says เคยระบุว่าผู้หญิงอินเดียใช้ผ้าอนามัยเพียง 12% เท่านั้น ที่เหลืออีกประมาณ 300 ล้านคน ใช้วัสดุธรรมชาติแทน เช่น เศษผ้า แกลบ ทราย ข้าวเปลือก ขี้เถ้า เศษฟาง ใบไม้แห้ง หรือพลาสติก ซึ่งนอกจากไม่สะอาด เมื่อใช้แล้วพวกเธอก็ไม่กล้านำมาตากแดดให้แห้ง เป็นผลให้ผู้หญิงอินเดียจำนวนมากติดเชื้อในช่องคลอด ลุกลามไปสู่โรคร้ายต่างๆ 

ในปี ค.ศ. 1998 อรุณาจาลาม หนุ่มอินเดียจากรัฐทมิฬนาฑู วัย 29 เพิ่งแต่งงานกับภรรยาชื่อซานตี  วันหนึ่งเขาเห็นเธอพยายามซ่อนอะไรบางอย่าง เขาตกใจเมื่อรู้ว่ามันคือผ้าขี้ริ้วสกปรกๆ ที่เธอใช้ซับเลือดประจำเดือน เมื่อถามสอบถามซานตีก็บอกว่าผ้าอนามัยที่ขายตามร้านมีราคาแพง เธอและผู้หญิงคนอื่นๆ ในครอบครัวไม่มีเงินซื้อ ถ้าจะใช้หมายความว่าต้องลดเงินค่านมของครอบครัวลงแทน

“ผ้าผืนนั้นสกปรกชนิดที่ว่า ผมไม่กล้าจะเอามาเช็ดรถมอเตอร์ไซค์ของผม และเป็นครั้งแรกที่ผมรู้ว่าผ้าอนามัยเกี่ยวข้องกับค่านมในบ้านด้วย” 

ด้วยความรักภรรยา อรุณาจาลามเลยไปซื้อผ้าอนามัยที่ร้านขายของชำในเมือง คนขายรีบเอามายื่นให้แบบหลบๆ ซ่อนๆ ราวกับมันเป็นของผิดกฎหมาย พอซานตีได้รับก็ดีใจมาก แต่พอเห็นราคาห่อละ 55 รูปี เธอบอกว่าไม่กล้าใช้ เพราะถ้าคนอื่นรู้เข้าจะประนามว่าเธอสิ้นเปลือง

อรุณาจาลามแกะห่อผ้าอนามัยดูเป็นครั้งแรกในชีวิต เขาพบว่าผ้าอนามัยแผ่นหนึ่งที่มีราคาถึง 5-10 รูปี หรือ 2.5-5 บาท ทำมาจากฝ้าย 10 กรัม ซึ่งมีราคาเพียง 0.1 รูปี หรือครึ่งสตางค์เท่านั้น ทำให้ยิ่งสงสัยว่าทำไมมันแพงกว่าต้นทุนวัตถุดิบถึง 50 เท่า!

เขาจึงตัดสินใจว่า จะต้องทำผ้าอนามัยดีๆ ราคาถูกให้ภรรยาใช้ให้ได้  

ชายผู้เป็นคนงานโรงงาน ลองทำผ้าอนามัยขึ้นเองจากผ้าฝ้าย เขายื่นให้ซานตีและขอทราบผลลัพธ์ทันทีเพื่อนำไปปรับปรุง แต่เธอบอกว่าต้องรอเดือนหน้ากว่าจะมีประจำเดือนอีกครั้ง ดังนั้นเพื่อให้การคิดค้นสำเร็จเร็วขึ้น อรุณาจาลามจึงต้องหาอาสาสมัครทดสอบผ้าอนามัยเพิ่ม เขาติดต่อไปยังพี่สาว น้องสาว คนข้างบ้าน แต่ก็ไม่มีใครเอาด้วย ทุกคนเขินอายเกินกว่าจะยอมให้ข้อมูลที่แท้จริง  

ระหว่างนั้นเขาพบว่าแทบจะไม่มีผู้หญิงคนใดในหมู่บ้านที่ใช้ผ้าอนามัยเลย ภารกิจครั้งนี้จึงไม่ใช่เพื่อภรรยาเท่านั้น แต่เขารู้สึกกำลังทำเพื่อผู้หญิงอินเดียทุกคน

ชายหนุ่มติดต่อไปยังโรงเรียนแพทย์ ขออาสาสมัครนักเรียนหญิง 20 คนช่วยทดสอบ โดยทำแบบฟอร์มให้เขียนความคิดเห็นเพื่อลดความเขินอาย แต่เมื่อรับแบบฟอร์มกลับมาก็พบว่าคำตอบทั้งหมดดูไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลย ทำให้อรุณาจาลามตัดสินใจจะทดสอบผ้าอนามัยด้วยตนเอง!

“ถ้าโลกบันทึกชื่อ นีล อาร์มสตรอง เป็นคนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ ทุกคนก็ต้องจำชื่อผม ในฐานะผู้ชายคนแรกในโลกที่สวมผ้าอนามัย” เขากล่าวติดตลก

อรุณาจาลามสร้าง‘มดลูกเทียม’ โดยใช้ไส้ในของลูกฟุตบอล นำเลือดแพะที่ขอจากโรงฆ่าสัตว์บรรจุลงไป และใส่สารป้องกันเลือดแข็งตัวที่ขอมาจากเพื่อนที่ทำงานในธนาคารเลือด จากนั้นนำมดลูกเทียมนี้สอดไว้ใต้เสื้อ ต่อสายปล่อยเลือดหยดลงมายังผ้าอนามัยในกางเกงเพื่อทดสอบการซึมซับ เขาสวมอุปกรณ์ทั้งหมดเดินไปมา ลองวิ่ง ขี่จักรยาน และทำสารพัดกิจกรรม 

ชายหนุ่มยอมรับว่า เป็นช่วงเวลา 5 วัน ที่ไม่เคยลืม เพราะมันทั้งเลอะเทอะ เหนอะหนะและน่ารำคาญ จนอยากจะโค้งคำนับผู้หญิงทุกคนที่ทนช่วงเวลานั้นของเดือนกันได้อย่างเหลือเชื่อ

การทดลองทำให้เสื้อผ้าของเขาเปรอะเปื้อนเลือด ส่งกลิ่นเหม็น ชาวบ้านคนอื่นเห็นก็พูดต่อกันไปว่าเขาเป็นโรคทางเพศ หมกมุ่นในกาม เวลาข้ามถนนทุกคนจะเดินเลี่ยงออกไป เสียงซุบซิบนินทาดังกว้างไปเรื่อยๆ ในที่สุดภรรยาสุดที่รักของเขาทนไม่ไหว เธอจึงเก็บของและหนีออกจากบ้านไป

“ผมโดนมองว่าเป็นพวกวิปริต พระเจ้าเล่นตลกกับผม ผมเริ่มต้นทำผ้าอนามัยเพื่อภรรยา แต่หลังจากนั้น 18 เดือนเธอทิ้งผมไป”

ทว่าอรุณาจาลามไม่ล้มเลิกความพยายาม เมื่อผ้าอนามัยที่ทำขึ้นมาซึมซับได้ไม่น่าพอใจ เขาจึงมีไอเดียว่าน่าจะศึกษาจากผ้าอนามัยที่ใช้แล้วดู เขาส่งแผ่นอนามัยให้กลุ่มนักเรียนแพทย์ใช้และรวบรวมกลับมาวิเคราะห์

การศึกษาวิธีนี้ทำให้ต้องแอบทำที่หลังบ้าน และมันดูน่าสยดสยองเต็มไปด้วยมนต์ดำยิ่งนักในสังคมที่เชื่อถือไสยศาสตร์อย่างอินเดีย เมื่อแม่ของเขามาเห็น เธอก็ร้องห่มร้องไห้ เก็บข้าวของมัดใส่ส่าหรีและจากไปอีกคน ซึ่งสร้างปัญหาให้เขาอย่างมาก เพราะอรุณาจาลามต้องทำกับข้าวกินเอง

ชาวบ้านเริ่มเชื่อว่าเขาถูกวิญญาณชั่วร้ายสิง จึงพยายามจับชายหนุ่มมัดไว้แล้วพาไปรักษากับหมอผีท้องถิ่น เขาหลบหนีออกมาได้อย่างหวุดหวิด โดยตกลงว่าจะขอเป็นฝ่ายออกจากหมู่บ้านไปเอง

“ไม่น่าเชื่อว่าการทดลองที่เกิดจากความหวังดี จะทำให้ผมต้องออกมาใช้ชีวิตตามลำพัง” 

02

ความพยายามที่ไม่ไร้ค่า

ความลับอันยิ่งใหญ่ที่อรุณาจาลามอยากรู้คือ ส่วนซึมซับของผ้าอนามัยสำเร็จรูปพวกนั้นทำจากอะไรกันแน่? แม้เขาจะส่งบางส่วนไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการและพบว่ามันเป็นฝ้าย แต่ทำไมผ้าอนามัยจากฝ้ายของเขามันไม่เวิร์ก 

“ผมอยากจะถามบริษัทข้ามชาติที่ผลิตอนามัยว่าทำอย่างไร แต่มันเหมือนกับการไปเคาะประตูบริษัทโค้กและพูดว่า ‘ขอถามคุณสูตรการผลิตโค้กของคุณหน่อย’”

ตอนนั้นอรุณาจาลามใช้ภาษาอังกฤษไม่ดีนัก เขาจึงขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ของวิทยาลัย ให้เขียนจดหมายติดต่อไปยังบริษัทที่ผลิตเส้นใย โดยเขาจะช่วยทำงานบ้านเป็นค่าตอบแทน เมื่อได้พูดคุยกันผ่านโทรศัพท์ อรุณาจาลามแกล้งบอกไปว่าเขาเป็นเจ้าของโรงงานสิ่งทอแห่งหนึ่ง ที่กำลังคิดจะเปลี่ยนธุรกิจมาทำผ้าอนามัย จึงอยากจะขอตัวอย่างมาศึกษาดู

ไม่กี่สัปดาห์ถัดมามีพัสดุส่งถึงเขา แกะดูก็พบว่ามันเป็นเยื่อเซลลูโลสจากเปลือกไม้ อรุณาจาลามต้องใช้เวลาอีก 2 ปี 3 เดือน กว่าจะศึกษาพบว่ามันมีวิธีทำอย่างไร แต่อุปสรรคที่สำคัญต่อมาคือเครื่องย่อยเปลือกไม้เป็นเยื่อนี้มีราคาหลายพันดอลลาร์ ดังนั้นเขาต้องคิดค้นเพื่อสร้างขึ้นมาเองให้ได้  

ผ่านมาอีกสี่ปีครึ่ง ในที่สุดชายจากรัฐทมิฬนาฑูก็ทำผ้าอนามัยของเขาสำเร็จ เมื่อปี 2006 เครื่องจักรง่ายๆ ทำด้วยไม้แต่ทรงประสิทธิภาพ มีกลไกเดียวกับเครื่องบดเนื้อสัตว์ สามารถย่อยเปลือกไม้ให้กลายเป็นเยื่อพองฟูคล้ายปุยนุ่นสำหรับทำวัสดุซึมซับผ้าอนามัย จากนั้นจะถูกส่งต่อไปห่อด้วยผ้ารูปสี่เหลี่ยม ก่อนนำไปฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต กระบวนการทั้งหมดเข้าใจได้ง่ายภายในหนึ่งชั่วโมง ทุกคนสามารถทำเองได้ที่หลังบ้าน

ตอนนั้นอรุณาจาลามไม่คิดเพียงจะผลิตผ้าอนามัยขายเท่านั้น แต่เขาอยากนำสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ไปให้กับชาวบ้านในชนบทห่างไกลเป็นคนผลิต เพื่อช่วยสร้างงานให้กับผู้หญิงยากจน ชายหนุ่มนึกถึงแม่ที่ขายทรัพย์สินไปเกือบหมดหลังจากที่พ่อของเขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน และไปสมัครงานเป็นคนงานในฟาร์มเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูลูก 4 คน แต่ค่าตอบแทนวันละ 1 ดอลลาร์ นั้นไม่เพียงพอ ตอนที่อายุได้ 14 ปี อรุณาจาลามจึงต้องออกจากโรงเรียนมาทำงาน ดังนั้นถ้าสิ่งประดิษฐ์นี้ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้หญิงในชนบทก็น่าจะดี       

เมื่อสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย (Indian Institute of Technology หรือ IIT) ในกรุงมัทราสเชิญให้นำเครื่องผลิตผ้าอนามัยไปแสดง ก็มีคนตั้งคำถามว่าเครื่องของเขาจะผลิตผ้าอนามัยสู้กับบริษัทต่างชาติได้อย่างไร เขาตอบอย่างมั่นใจโดยยกตัวอย่างพ่อของตนเอง พ่อเป็นคนทอผ้าด้วยมือ แต่ก็ยังอยู่รอดได้ในเมืองที่มีโรงงานทอผ้ากว่า 400 แห่ง 

เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่การแข่งขัน แต่คือการสร้างตลาดผ้าอนามัยราคาถูก ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งยังไม่มีใครทำ 

สถาบันฯ ส่งเครื่องผลิตผ้าอนามัยของเขาร่วมประกวดในงานนวัตกรรมแห่งชาติ และมันก็คว้ารางวัลชนะเลิศจากผลงานที่ส่งประกวด 943 ชิ้น เขาได้รับรางวัลจากประธานาธิบดีอินเดีย มีสื่อมวลชนเข้ามาสัมภาษณ์อย่างล้นหลาม เรื่องราวของอรุณาจาลาม ปรากฎอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร มีคนเชิญให้เขาไปบรรยายตามสถาบันต่างๆ

จากเด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน ถูกชุมชนขับไล่ วันหนึ่งเขากลายเป็นคนประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ ทุกอย่างกลับตาลปัตร

ห้าปีถัดมา มีคนติดต่อเข้ามายังโทรศัพท์มือถือของเขา ปลายสายพูดด้วยน้ำเสียงแหบแห้ง แต่เป็นเสียงที่เขาคุ้นเคยดี

“จำฉันได้ไหม --”

ภรรยาของเขาโทรศัพท์มาเพื่อจะกล่าวขอโทษและปรับความเข้าใจ

ในที่สุดทั้งคู่ก็กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง

03

ยอดมนุษย์..ผ้าอนามัย

.. ถ้าอเมริกามีซูเปอร์แมน แบทแมน สไปเดอร์แมน อินเดียก็มีแพดแมนคนนี้!

แพดแมน หรือมนุษย์ผ้าอนามัย ผู้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์มากกว่าซูเปอร์ฮีโร่ข้างต้นทั้งหมด

ความจริงแล้วอรุณาจาลามสามารถมีชีวิตอยู่ได้สบายๆ ถ้าเขาจดสิทธิบัตรเครื่องผลิตผ้าอนามัยราคาถูก แล้วขายให้บริษัทใหญ่ๆ เพื่อรับเงินก้อนโต แต่นั่นเป็นวิธีคิดของนักธุรกิจ ไม่ใช่วิธีคิดของคนที่เกิดมาจากครอบครัวยากจนอย่างเขา

“ผมมีความตั้งใจว่าจะทำให้อินเดีย เป็นประเทศที่ใช้ผ้าอนามัย 100% ให้ได้ในช่วงชีวิตของผม และทำให้เกิดการจ้างงานในชนบทไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านตำแหน่ง ผมไม่อยากกอบโกยกำไรจากความทุกข์ของคนอื่น ผมอยากจะให้เราพึ่งพิงกันเหมือนกับผีเสื้อที่ดูดน้ำหวานจากดอกไม้”

อรุณาจาลามใช้เวลา 18 เดือน สร้างเครื่องจักร 250 เครื่อง และนำไปยังพื้นที่ Bimaru อย่างรัฐพิหาร, รัฐอุตตรประเทศ, รัฐมัธยมประเทศ และรัฐราชสถาน ซึ่งยากจนและด้อยพัฒนาที่สุดในอินเดียตอนเหนือ ที่นี่ผู้หญิงต้องเดินเท้าเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรเพื่อตักน้ำ และในช่วงมีประจำเดือนพวกเธอจะไม่สามารถทำได้ ครอบครัวจึงลำบากมาก

ชายเจ้าของฉายาแพดแมน เชื่อว่าถ้าเขาทำสำเร็จที่นี่ ทุกที่ในอินเดียก็น่าจะทำได้ไม่ยาก

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนภายนอกจะเข้าไปในชุมชนที่อนุรักษ์นิยมสุดขั้ว การจะคุยกับผู้หญิงต้องได้รับอนุญาตจากพ่อหรือสามีก่อน และทำได้เพียงการพูดคุยโดยมีผืนผ้ากั้นไม่ให้เห็นหน้า 

นอกจากนี้ยังต้องต่อสู้กับความเชื่อโบราณว่าใช้ผ้าอนามัยแล้วผู้หญิงจะตาบอด หรือไม่มีโอกาสได้แต่งงาน อย่างไรก็ตามเมื่อได้ทดลองใช้ ทุกคนก็ให้การยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ เครื่องผลิตผ้าอนามัยราคาถูกของเขาแพร่กระจายไปยัง 1,300 หมู่บ้านใน 23 จาก 29 รัฐของอินเดีย ในเวลาต่อมา

การที่ให้ผู้หญิงผลิตและขายกันเอง มีข้อดีอย่างยิ่งคือพวกเธอสามารถพูดคุยอธิบายวิธีการใช้กันได้ ซึ่งต่างจากการไปซื้อตามร้านค้าที่ผู้ขายส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย บางชุมชนที่ไม่มีเงินนำหัวหอมและมันฝรั่งมาแลกผ้าอนามัยก็มี

ลูกค้าส่วนใหญ่ของอรุณาจาลามคือองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มสตรี เขาขายเครื่องจักรแบบขั้นที่ต้องใช้มือทำเองราคา 75,000 รูปี ถ้าเป็นเครื่องกึ่งอัตโนมัติจะราคาแพงกว่า แต่ละเครื่องสามารถผลิตผ้าอนามัยเพียงพอสำหรับผู้หญิงประมาณ 3,000 คน และทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 10 คน วันหนึ่งสามารถผลิตได้ 200-250 ชิ้น แต่ละชิ้นมีราคา 2.5 รูปี หรือ 1.25 บาท ถูกกว่าผ้าอนามัยนำเข้า 1-4 เท่า

กลุ่มที่ซื้อเครื่องจักรไป จะนำไปผลิตผ้าอนามัยและตั้งชื่อยี่ห้ออย่างไรก็ได้ตามใจพวกเธอ มันจึงเป็นสินค้าโดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิงอย่างแท้จริง และที่สำคัญที่สุด ผู้หญิงอินเดียมีผ้าอนามัยสะอาด ถูกสุขลักษณะสำหรับใช้ในแต่ละเดือนตามที่เขาตั้งใจเอาไว้ 

อรุณาจาลามยังเข้าไปสนับสนุนให้โรงเรียนเรียนผลิตผ้าอนามัยใช้เอง เพราะเขาได้ข้อมูลว่า เด็กผู้หญิง 23% เลิกเรียนหนังสือตั้งแต่พวกเธอมีประจำเดือน เขายังสนับสนุนให้สอนเรื่องนี้เพื่อเตรียมพร้อมตั้งแต่เด็ก โดยไม่ต้องรอให้ถึงวัยเจริญพันธุ์

ไม่เพียงในอินเดียเท่านั้น เครื่องผลิตผ้าอนามัยราคาถูกของเขาเดินทางไปทั่วโลก มี 106 ประเทศที่นำไปใช้ เช่น เคนยา ไนจีเรีย มอริเชียส ฟิลิปปินส์และบังคลาเทศ

“เรื่องประจำเดือน และผ้าอนามัยเป็นปัญหาที่คนจำนวนมากในโลกกำลังพัฒนาเผชิญอยู่ มันคงจะดีถ้าสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ช่วยผู้หญิงในประเทศอื่นๆ และทำให้เกิดการจ้างงานนับล้านตำแหน่ง”

แม้ผลงานของเขาจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ แต่อรุณาจาลามก็ยังอาศัยอยู่กับซานตีในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ขับรถจี๊ปคันเก่า

“ผมไม่ได้สะสมเงิน แต่ผมสะสมความสุขมากมาย” เขากล่าวพร้อมรอยยิ้ม

ทุกวันนี้คนในหมู่บ้านยอมรับในตัวเขาแล้ว ผู้หญิงในชุมชนมีสุขอนามัยที่ดีขึ้นมาก จากเดิมที่เคยเหนียมอายก็กล้าพูดคุยเรื่องประจำเดือนกันมากขึ้น โดยเฉพาะซานตีที่มักจะมีคนเข้ามาสอบถามอยู่เรื่อยๆ บางครั้งเธอก็นำผ้าอนามัยไปแจกและอธิบายวิธีการใช้งานให้ผู้หญิงคนอื่นๆ

อรุณาจาลามได้รับเชิญให้ไปพูดถึงการคิดค้นผ้าอนามัยของเขาทั้งในสถานศึกษา ไปจนถึงเวทีระดับนานาชาติเป็นประจำ

สิ่งที่เขาย้ำเสมอคือ จงเห็นความสำคัญของการศึกษา อย่าหยุดการเรียนรู้ แม้ว่าคุณจะไม่ได้อยู่ในโรงเรียนแล้ว

เคยมีคนถามว่าช่วงที่มีความสุขที่สุดในชีวิตคือตอนไหน - อรุณาจาลามตอบว่ามันเกิดขึ้นหลังจากเขาไปติดตั้งเครื่องจักรในหมู่บ้านห่างไกลบริเวณเชิงเทือกเขาหิมาลัย หมู่บ้านแห่งนี้ยากจนขนาดที่ไม่มีใครมีเงินพอจะส่งเด็กๆ ไปโรงเรียน

หลังจากนั้นหนึ่งปีต่อมา ผู้หญิงในหมู่บ้านโทรมาบอกว่าเธอมีเงินพอส่งลูกสาวเข้าโรงเรียน

“เครื่องจักรของผมทำสำเร็จแล้ว” เขาพูดอย่างภาคภูมิใจ

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์

เรียบเรียงและรูปภาพจาก

ความเห็น 89
  • €¥£
    ทำเครื่องจักร โดยมีเป้าหมายให้เพศตรงข้ามใช้ ในสังคมปิดกั้นแบบนั้น โคตรยาก แถมยกให้ เพื่อคนเข้าถึงง่ายอีก ดีงามขั้นสุด ขอปรบมือ
    14 มิ.ย. 2563 เวลา 04.31 น.
  • WasBurana
    ความคิดและจิตใจของยอดคน เป็นแบบนี้นี่เอง สุดยอดค่ะ นับถือๆ
    13 มิ.ย. 2563 เวลา 18.12 น.
  • Pinoroon
    ประทับใจบทความนี้สุด
    14 มิ.ย. 2563 เวลา 02.11 น.
  • adulmr
    ถ้าทำได้ ผมนึกอยากจะมอบรางวัลโนเบลให้แก สาขาเศรษฐศาสตร์ก็น่าจะโอเค เป็นบุคคลที่น่านับถือ
    14 มิ.ย. 2563 เวลา 02.28 น.
  • อรุณ อุสมา
    สุดยอดมนุษย์จริงๆ
    14 มิ.ย. 2563 เวลา 02.47 น.
ดูทั้งหมด