ไอที ธุรกิจ

สภาฯ ลงมติผ่านพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านลบ.

อินโฟเควสท์
อัพเดต 31 พ.ค. 2563 เวลา 11.41 น. • เผยแพร่ 31 พ.ค. 2563 เวลา 09.28 น. • สำนักข่าวอินโฟเควสท์

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบเห็นชอบ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ด้วยคะแนน 274 เสียง งดออกเสียง 207 เสียง

พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ประชุมฯ เห็นด้วย 275 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 205 เสียง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วนพ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่ประชุมเห็นด้วย 274 เสียง ไม่เห็นด้วย 195 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า มาตรการการดูแลช่วยเหลือของรัฐบาลประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่ 1) การลดภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่าไฟฟ้า-ประปา ค่าโทรศัพท์-อินเทอร์เน็ต ค่าเชื้อเพลิง การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน เป็นต้น 2) การเพิ่มสภาพคล่อง อาทิ การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า-น้ำประปา การชะลอเลื่อนการชำระภาษี การเลื่อนส่งเงินกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3) การเยียวยาทุกคน เช่น กลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคม การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การเยียวยาเด็กที่ครัวเรือนยากจน การช่วยเหลือฉุกเฉินเป็นค่าอาหารแก่นักเรียนยากจนกว่า 7.5 แสนคนตามกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครอบคลุมสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ศธ. ตชด. ทั่วประเทศ ดูแลเด็กนอกระบบ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งรัดการจัดเก็บข้อมูลด้วยระบบ Big Data เพื่อการบริหารในอนาคตด้วย ซึ่งประชาชนต้องร่วมมือด้วย 4) การชะลอหนี้สินเดิม อาทิ การพักเงินต้น การปรับโครงสร้างหนี้ การลดดอกเบี้ยผ่านธนาคารต่าง ๆ ทั้งธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ในขอบเขตอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดูแลอยู่ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถสั่งการ 5) การเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินเพิ่มเติม การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งจะมีกองทุนจัดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนที่เป็นหนี้เสีย เอ็นพีแอลหรือมีศักยภาพน้อย แต่คำนึงถึงการใช้เงิน เพราะทุกบาททุกสตางค์ เป็นเงินของพี่น้องประชาชน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลเตรียมมาตรการฟื้นฟูและสร้างความแข็งแกร่ง 400,000 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 จะมีการปรับเปลี่ยนอย่างมาก โดย 1) สนับสนุนเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของประเทศให้เดินต่อ ทั้งกลุ่มกิจการที่มีศักยภาพ SMEs วิสาหกิจรายเล็ก ทั้งภาคการผลิต การแปรรูป ภาคการส่งออกทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง 2) เน้นสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย เสริมภูมิคุ้มกันของประเทศให้ดีขึ้น

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า จะบริหารด้วยโปร่งใส มีเจตนาดี และทำตามกฎหมาย โดยการใช้เงินกู้ดังกล่าวจะต้องดำเนินการเบิกจ่ายเช่นเดียวกับเงินงบประมาณแผ่นดินปกติ นอกจากนี้ยังมีระบบรายการความก้าวหน้า และจะมีเว็บไซต์แสดงความก้าวหน้า แสดงประโยชน์/ผลลัพธ์แต่ละโครงการด้วย

ส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณใน พ.ร.ก.กู้เงินนั้น เป็นเรื่องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 63)

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • Tomvorapot
    เท่าที่ฟังการอภิปรายมาจนถึงบ่ายวันอาทิตย์ อยากบอกว่าฝ่ายค้านทุกพรรคไม่เข้าใจระบบการเงินการคลังของประเทศพอ อภิปรายสะเปะสะปะ เหมือนเล่านิทานหลอกเด็ก เช่น การกู้หรือหนี้สาธารณะ ประเทศเรามีทุนสำรองสูง เงินบาทแข็ง บัญชีเดินสะพัดดี หนี้สกุลดอลลาร์น้อย เงินเฟ้อต่ำ และอื่นๆ พูดง่ายๆ ประเทศเรามี พื้นที่การคลังเหลือมาก พอๆกับประเทศพัฒนาแล้วอย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฝรั่งเศส ฯลฯ มี ไม่จำเป็นต้องไปกู้ใคร เรามีพอให้ประเทศรอบๆบ้านเรากู้ด้วยซ้ำ ที่อภิปรายมาส่วนใหญ่ไร้สาระ ส่วนน้อยพอได้เช่น เรื่องน้ำ
    31 พ.ค. 2563 เวลา 10.29 น.
ดูทั้งหมด