SMEs-การเกษตร

ตะไคร้หย็อง ผลผลิตสู้วิกฤต จากตะกอนความคิด ทายาทนานมีบุ๊คส์

เส้นทางเศรษฐี
อัพเดต 02 ก.ย 2564 เวลา 10.20 น. • เผยแพร่ 02 ก.ย 2564 เวลา 10.05 น.
ตะไคร้หย็อง ผลผลิตสู้วิกฤต จากตะกอนความคิด ทายาทนานมีบุ๊คส์

ตะไคร้หย็อง ผลผลิตสู้วิกฤต จากตะกอนความคิด ของ เจน จงสถิตย์วัฒนา ทายาทนานมีบุ๊คส์

หากใครเป็นหนอนหนังสือโดยเฉพาะวรรณกรรมเยาวชน ย่อมไม่มีใครไม่รู้จักสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ อย่างแน่นอน โดยนานมีบุ๊คส์ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2535 โดย คุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา ที่ได้ต่อยอดมาจากธุรกิจร้านหนังสือภาษาจีนและเครื่องเขียนของคุณพ่อ หรือ คุณทองเกษม สุพุทธิพงศ์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทายาทนานมีบุ๊คส์รุ่นที่ 2คุณเจน จงสถิตย์วัฒนา เล่าให้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ฟังต่อว่า ธุรกิจหนังสือของครอบครัวดำเนินกิจการมาได้หลายทศวรรษ ภายใต้แนวคิด การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ยึดกันมาตั้งแต่รุ่นอากงและส่งต่อมาจนถึงเธอ ด้วยกระแสเวลาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ประกอบกับทุกสิ่งทุกอย่างมีการพัฒนาอยู่ตลอด เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล กิจการหนังสือที่เฟื่องฟูก็เริ่มถึงจุดอิ่มตัว

ครอบครัว จงสถิตย์วัฒนา ได้เล็งเห็นว่า การทำธุรกิจหนังสือเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถฝ่ากระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ไปได้ จึงได้ขยายไลน์ธุรกิจเดิม มาทำ ศูนย์การเรียนรู้ท่ามกลางธรรมชาติ Go Genius Learning Center เมื่อ 9 ปีที่แล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“นานมีบุ๊คส์ เราไม่ได้เป็นเพียงสำนักพิมพ์ที่ขายแต่หนังสือ แต่เราตั้งใจเป็นธุรกิจที่ให้บริการด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต เลยแตกไลน์ธุรกิจออกมาเป็นศูนย์การเรียนรู้เพิ่มเติมจากการทำหนังสือ เพื่อช่วยสนับสนุนการศึกษาในแนวทางใหม่ๆ โดยมีบริการจัดทำหลักสูตรค่ายเวิร์กช็อป สัมมนา เข้าค่ายต่างๆ ลูกค้าก็จะเป็นกลุ่มองค์กร โรงเรียน ซึ่งก็จะมีฟีดแบ็กจากลูกค้ากลับมาอีกว่า น่าจะมีโรงแรมด้วยนะ เพราะก็จะมีพวกผู้ปกครองตามมาดูบุตรหลานตอนเขามาเข้าค่าย เราก็เลยต่อยอดมาเปิดโรงแรม โดยใช้ชื่อว่า เรนทรี เรสซิเดนซ์ (Rain Tree Residence)”

“พอเปิดโรงแรมแล้ว เราก็ทำไร่ปลูกผักอินทรีย์ควบคู่กันมาด้วย เพื่อปลูกผักส่งครัวโรงแรม และเป็นกิจกรรมเล็กๆ สำหรับแขกที่ต้องการเรียนรู้การปลูกผักแบบอินทรีย์ แล้วต่อยอดมาล่าสุด เปิดเป็นร้านกาแฟ โดยใช้ชื่อว่า The Bookmark Cafe ซึ่งอยู่ที่เขาใหญ่ค่ะ” คุณเจน เล่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คุณเจน เล่าต่อว่า กิจการต่างๆ ดำเนินมาได้อย่างราบรื่น แต่เมื่อโควิด-19 มาเยือน ก็ทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบไปไม่น้อยเลยทีเดียว

“ธุรกิจหนังสือ มันก็ยังมีกลุ่มคนที่มีความต้องการใช้อยู่ แต่ธุรกิจอื่นที่แตกไลน์มาก็ได้รับผลกระทบเยอะเหมือนกัน อย่างโรงแรม ศูนย์การเรียนรู้ ร้านกาแฟ อันนี้เป็นธุรกิจที่พึ่งพากัน ก็ได้รับผลกระทบหนัก เพราะลูกค้าเราอย่างที่บอกว่าจะเป็นกลุ่มคนไทย เป็นองค์กร กลุ่มคนที่มาทำกิจกรรมสัมมนา หรือโรงเรียนที่มาเข้าค่าย กว่า 95% พอโควิดมาก็หายไปหมดเลย”

“เพราะแรกๆ ก็ยังเดินทางได้ แต่พอเดือน 4 เดือน 5 ธุรกิจโรงแรมโดนสั่งปิด ก็เรียกว่าช็อกเลยค่ะ ไม่รู้จะทำยังไงต่อ โรคนี้มันจะอยู่กับเรานานไหม แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ทำแน่ๆ คือการเอาคนออก เพราะเขาก็ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่เปิดโรงแรม ฉะนั้น เราต้องหาอะไรทำ แต่จะทำอะไรล่ะ” คุณเจน เล่า

ทายาทนานมีบุ๊คส์ เล่าต่อว่า หลังจากที่โรงแรมปิดให้บริการ แต่เมื่อยังต้องกินต้องใช้ จึงคิดหาวิธีหารายได้เข้ามาให้เร็วที่สุด ไร่สวนที่มีพืชผลอยู่ จึงกลายเป็นทางรอดเร่งด่วนที่เธอมองเห็นในตอนนั้น

“โรงแรมปิดไปได้ 2 เดือน ก็เก็บผักเก็บผลไม้จากในสวนของเรา ที่ปกติจะส่งเข้าไปทำอาหารให้ลูกค้าโรงแรมอยู่แล้วนั่นแหละค่ะ มาขาย มันก็พยุงให้เราอยู่ได้ จนมาเดือน 6 ของปีที่แล้ว การเดินทางเริ่มกลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้คนเริ่มออกมาท่องเที่ยวกัน โรงแรมก็เริ่มกลับมาคึกคัก แต่พอปีใหม่มาก็ซบเซาลงอีก กระทั่งช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมานี้ เรียกว่าแย่เลยค่ะ เพราะมันเกิดการระบาดรอบ 3 ขึ้น”

คุณเจน จึงตระหนักว่า การขายเพียงผลิตผลจากไร่สวนที่ทำไม่กี่ตารางเมตร ไม่สามารถเลี้ยงคนได้อีกต่อไป เธอจึงได้เรียกทุกคนมาประชุมหาทางออกร่วมกันว่า จะฝ่าวิกฤตนี้ไปอย่างไร โดยใช้ของที่มีอยู่แต่ทำให้นอกกรอบ

“จำได้ว่าพ่อครัวที่โรงแรม เขาทำเมนูปลากรอบทอดตะไคร้ แล้วเรารู้สึกว่าตะไคร้ข้างบนมันอร่อยแต่ชิ้นมันใหญ่ ก็เลยลองให้ทำเป็นชิ้นฝอยๆ แล้วลองทอดดู ซึ่งผลลัพธ์มันก็ออกมาดี ดูเผินๆ เหมือนหมูหย็องเลยค่ะ ก็ปรับสูตรให้อร่อยเหมาะสำหรับการทานเล่น เราชิมกันเองจนใจชื้นแล้วว่าอร่อย เลยลองโพสต์ขายดู ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก เพราะเป็นสินค้าที่แปลกใหม่ มีความกรุบกรอบ หลายคนกลับมาซื้อซ้ำ ทานเล่นบ้าง ทานกับอย่างอื่นบ้าง ก็เลยทำให้เราทำออกขายเป็นจริงเป็นจังเลย” คุณเจน ว่าอย่างนั้น

นอกจากนั้นก็มีสินค้าอื่นๆ เข้ามาเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าได้ซื้อขาย โดยเป็นสินค้าที่ทางโรงแรมทำเองบ้าง หรือจะเป็นสินค้าของชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง ที่คัดสรรมาแล้วว่าอร่อย อย่าง กล้วยเบรกแตก และ พุดดิ้งโฮมเมด ที่ทำสดใหม่ทุกวัน

“เรามีพนักงานในความดูแลทั้งหมด 21 ชีวิตค่ะ แน่นอนว่าการทำแบบนี้ ต้องบอกตามตรงว่ามันก็ยังไม่พอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน แต่อย่างน้อยทำแล้วมันยังมีรายได้เข้ามาบ้าง ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยใช่ไหมล่ะคะ เราก็มีการทำอย่างอื่นออกมาขายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราเรื่อยๆ โดยเน้นของที่เป็นของดีจริงๆ เป็นออร์แกนิก ไม่มีสารเคมี และแปลกใหม่ไม่ค่อยมีใครทำ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้ลูกค้า”

“และสิ่งหนึ่งที่ต้องทำควบคู่กับการหารายได้ คือการเพิ่มบริการแบบใหม่ ในส่วนของโรงแรม ให้ตอบโจทย์มากขึ้น เพราะเดิมโรงแรมเราไม่มีบริการรูมเซอร์วิส เราก็ต้องปรับให้มี เปลี่ยนจอโทรทัศน์ให้ดีขึ้น เพิ่มการติดตั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตรองรับการเรียนออนไลน์ เพราะช่วงนี้ที่พอจะเดินทางได้ ผู้ปกครองก็จะพาบุตรหลานมาเปลี่ยนบรรยากาศกัน มันก็เป็นการลงทุนที่มากอยู่ค่ะ แต่เราคิดว่ามันคุ้มค่าในการลงทุน ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ทำขายอยู่ เรียกว่าเป็นผลพลอยได้ที่มีแพลนจะทำต่อ แต่จริงๆ แล้วเราก็อยากให้ธุรกิจหลักกลับมาทำได้เหมือนเดิมมากกว่า” คุณเจน ทิ้งท้ายอย่างนั้น

สนใจสั่งซื้อสินค้า หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กThe Bookmark Cafe

 

ดูข่าวต้นฉบับ