ผักหวานป่าเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ปลูกและเพาะขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก เกษตรกรชาว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ใช้ภูมิปัญญาขยายพันธุ์ผักหวานป่าโดยวิธีการสับราก
นายคำมี ปุ้งโพธิ์ เกษตรกรชาวบ้านป่าเป้ง ตำบลแวงน้อย อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น นับเป็นเกษตรกรที่มีความรู้ และมีความชำนาญในด้านการขยายพันธุ์ผักหวานป่าโดยวิธีการสับราก
นายคำมี เล่าว่าการเพาะขยายพันธุ์ผักหวานป่าด้วยวิธีการสับรากนั้น เป็นอีกหนึ่งวิธีการขยายพันธุ์ที่เป็นความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน กรณีที่เรามีต้นผักหวานอยู่แล้ว ทำได้ง่ายๆ โดยใช้วิธีขุดดินข้างต้นผักหวานป่าเพื่อหารากผักหวาน ความลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร หลุมที่ขุดควรห่างจากต้นพันธุ์ ประมาณ 50-100 เซนติเมตร
เมื่อพบรากให้ใช้เสียมสับรากของต้นผักหวาน และใช้กระบอกไม้ไผ่ ครอบไว้เพื่อป้องกันการถูกทำลาย ปล่อยไว้ประมาณ 15 วัน ต้นผักหวานจะแตกยอดงอกเป็นต้นผักหวานต้นใหม่ ทำให้ได้ต้นผักหวานป่าเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การขยายพันธ์ด้วยวิธีสับรากนั้น ต้องดูที่ขนาดและอายุของต้นผักหวานด้วย สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการขยายพันธ์ด้วยวิธีนี้คือช่วงปลายฤดูฝน หรือช่วงปลายเดือนตุลาคมจะได้ผลดีที่สุด ซึ่งการขยายพันธุ์ผักหวานป่าโดยวิธีการสับรากนั้น นับเป็นอีกหนึ่งวิธีขยายพันธุ์โดยไม่ต้องปลูกเพิ่ม ปัจจุบันสวนของนายคำมี ปุ้งโพธิ์ มีต้นผักหวานป่ากว่า 700 ต้น ส่วนหนึ่งมาจากการสับราก ซึ่งสามารถเก็บยอดอ่อนจำหน่ายและมีรายได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ
ด้านนายทรงพันธ์ จันทร์สว่าง เกษตรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่น่าสนใจและน่านำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ที่มีความสนใจ เนื่องจากผักหวานมีราคาค่อนข้างสูงทำให้เกษตรกรมีรายได้ปีละกว่า 2 แสนบาท ในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่อยากประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรที่อยากปลูกผักหวานเป็นอาชีพเสริม ซึ่งผักหวานป่าในช่วงฤดูผลผลิตออกสู่ตลาดราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 300-400 บาท ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ทำให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน
นอกจากการขายผักหวานป่าแล้ว นายคำมี ปุ้งโพธิ์ ยังมีกิจกรรมทางการเกษตรที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านพืชและด้านประมง เน้นความหลากหลายโดยใช้ระบบธรรมชาติในการเกื้อกูลและส่งเสริมกันเองในระบบ โดยไม่ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช จึงทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัย นอกจากนี้ยังเป็นเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป็นจุดถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรประจำอำเภอ และยังเป็นศูนย์เรียนรู้บริหารจัดการพื้นที่ในพื้นที่แห้งแล้งของกลุ่มเพื่อนภู บ้านป่าเป้ง อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น จึงมีผู้มาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2562