ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“อภัยภูเบศร” แนะกินใช้อย่างถูกวิธี “สมุนไพร : ทางออกประเทศไทย คลี่คลายมลพิษ”

เส้นทางเศรษฐี
อัพเดต 22 ก.พ. 2562 เวลา 06.53 น. • เผยแพร่ 22 ก.พ. 2562 เวลา 06.53 น.

“อภัยภูเบศร” แนะกินใช้อย่างถูกวิธี “สมุนไพร : ทางออกประเทศไทย คลี่คลายมลพิษ”  

จากงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ  “สมุนไพร :  ทางออกประเทศไทย คลี่คลายมลพิษ” โดยมีวิทยากรผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ  ภญ.ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ ผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์ไทยและการแพทย์ทางเลือก และ ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ดำเนินรายการโดย ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว จากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวตอนหนึ่ง ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 มีมานานแล้วเพียง แต่มาส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ทำให้มีการพูดถึงอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม แม้ในขณะนี้ปริมาณฝุ่นจะลดลง แต่ไม่อาจวางใจได้ ตราบใดที่ยังไม่สามารถควบคุมปริมาณการใช้เครื่องยนต์ ทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะ ตลอดจนถึงจำนวนผู้สูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน ทั้งนี้มีผลวิจัยที่น่าตกใจของประเทศอิตาลี ที่ระบุว่า มีการสตาร์ทรถเครื่องยนต์ดีเซลทิ้งไว้ 30 นาที ปริมาณฝุ่นพิษที่มาจากท่อไอเสีย เขม่ารถยนต์ น้อยกว่าปริมาณควันที่มาจากการจุดบุหรี่ต่อเนื่องกัน 3 มวน

และปัจจุบันคนไทยสูบบุหรี่เฉลี่ยวันละ 10 มวน ต่อคนต่อวัน นั่นแสดงว่า มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ต่อวันถึง 100 ล้านมวน ปริมาณมลพิษจึงกระจายไปทั่ว และหากส่งผลต่อเด็ก สตรี คนชา ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเช่น เบาหวาน มะเร็ง หัวใจ อัมพฤกษ์ หากได้รับมลพิษเป็นจำนวนมากอาจจะส่งผลเฉียบพลันถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ อาจถึงขั้นแท้งบุตร หรือเกิดมาในลักษณะผิดปกติ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“เคยมีการศึกษาประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หากวันใดมีการเดินเครื่อง แม้จะมีการแจ้งประชาชนล่วงหน้าเพื่อใส่หน้ากากป้องกันก็ตาม แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ มีผู้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยโรคภูมิแพ้ หืด หวัด ปอดบวม ปอดติดเชื้อ สูงกว่าช่วงที่ไม่เดินเครื่อง ถึง 3 เท่า” นพ.สุทัศน์ กล่าว

และว่า รู้สึกยินดีที่รัฐบาลประกาศให้ปัญหาฝุ่นพิษ เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าแม้จะแก้ไขอย่างเต็มกำลังก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี เลวร้ายที่สุดอาจยาวนานถึง 20 ปี สำหรับมาตรการระยะสั้นที่อยากฝากไว้เป็นสูตร 4 ข้อคือ 1. รู้ไว คือ ตรวจเช็คปริมาณฝุ่นพิษจากแอพลิเคชันที่มีหลากหลายโดยตลอด เพื่อเตรียมรับมือหากค่าฝุ่นเกิน 100  2. ไม่เผา คือ ไม่เผาไร่ หญ้า ขยะ ตลอดจนถึงสูบบุหรี่ในที่ชุมชน ซึ่งจะก่อให้เกิดมลภาวะต่อส่วนรวม   3. เอาหน้า หมายถึงใส่หน้ากากป้องกันมลพิษ ในวันที่มีปริมาณสูงเกินปกติ และ 4. รักษาสุขภาพ ออกกำลังกายในบ้านแทนกลางแจ้ง รับประทานอาหารถูกสุขลักษณะและตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ด้าน ภญ.อาสาฬา กล่าวว่า ในส่วนของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ขอแนะนำสมุนไพรเพื่อช่วยดูแลปอด ในตัวแรกคือ หญ้าดอกขาว เป็นยาล้างปอด ที่ใช้ต่อเนื่องกันมายาวนาน มีงานวิจัยระบุว่าสามารถลดการแพร่กระจายของมะเร็งปอด สอดคล้องกับหมอยาพื้นบ้านที่ใช้ล้างมลพิษที่ค้างในปอด สามารถชงดื่มครั้งละไม่เกิน 2 กรัม 3 เวลา ตัวที่สองที่แนะนำคือ ขมิ้นชัน ช่วยเพิ่มสมรรถภาพให้กับปอด และระบบทางเดินหายใจ โดยรับประทานครั้งละ 3 เม็ด 3 เวลา และควรรับประทานต่อเนื่องไม่เกิน 3 เดือน และให้หยุดพัก 1 เดือน ก่อนที่จะมาใช้ใหม่อีกครั้ง ตัวที่ 3.รางจืด ที่ใช้ล้างสารพิษ ไม่ควรรับประทานต่อเนื่องเกิน 5 วันในหนึ่งเดือน  ตัวสุดท้าย คือ มะขามป้อมสามารถรับประทานทั้งรักษาอาการไอและเพื่อดูแลสุขภาพ มะขามป้อมจะเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง

ส่วน ดร. อัญชลี แนะนำเพิ่มเติม ในส่วนของกรมการแพทย์แผนไทยฯ มีทุนสนับสนุนการวิจัยสมุนไพรอีกเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้ผู้สนใจสามารถเขียนโครงการเข้ามาขอได้ เราพร้อมให้การสนับสนุน เพื่อให้สมุนไพรไทย มีงานวิจัยรองรับ สามารถอ้างอิงได้ในอนาคต

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาข้อมูลสมุนไพรต้านมลพิษเพิ่มเติม สามารถร่วมเรียนรู้ได้ที่ งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 16 ในวันที่ 6 – 10 มี.ค. นี้   ที่ อิมแพคเมืองทองธานี ฮอลล์ 10-12  หรือ สอบถามเพิ่มเติม ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ ร.พ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร 037-211-289 ในวันเวลาราชการ หรือ Facebook/สมุนไพรอภัยภูเบศร

 

ดูข่าวต้นฉบับ