ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

‘สามารถ’ จี้คนคุม ‘คมนาคม’ ต้องลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้ได้!

The Bangkok Insight
อัพเดต 17 มิ.ย. 2562 เวลา 03.40 น. • เผยแพร่ 17 มิ.ย. 2562 เวลา 03.39 น. • The Bangkok Insight

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กแฟนเพจระบุว่า “ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเถอะ” จะเป็นใครก็ตามที่มากำกับดูแลกระทรวงคมนาคม มีงานที่จะต่อริเริ่มและสานต่อมากมาย เช่นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะต้องเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าตามแผนแม่บท ซึ่งมีเส้นทางรถไฟฟ้ารวมทั้งหมดประมาณ 520 กิโลเมตร เปิดให้บริการแล้วประมาณ 120 กิโลเมตร กำลังก่อสร้าง 175 กิโลเมตร เหลือระยะทางอีกประมาณ 225 กิโลเมตร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การเร่งรัดก่อสร้างรถไฟฟ้าอีกประมาณ 225 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จโดยเร็วนั้น เป็นสิ่งที่ไม่น่าห่วง แต่สิ่งที่น่าห่วงก็คือค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ซึ่งแพงกว่าในเมืองอื่นในต่างประเทศหลายเมืองเมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำและค่าครองชีพ ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอยืนยันคำกล่าวดังกล่าวของผม กล่าวคือทีดีอาร์ไอได้เปรียบเทียบให้เห็นชัดว่าในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯ เท่ากับ 37.50 บาทต่อชั่วโมง ซึ่งถูกกว่าค่าแรงขั้นต่ำในสิงคโปร์ที่เท่ากับ 250 บาทต่อชั่วโมง แต่มีค่าโดยสารรถไฟฟ้าใกล้เคียงกันคือ 16 – 70 บาทต่อเที่ยว และ 17 – 60 บาทต่อเที่ยว ตามลำดับ และยังได้เปรียบเทียบกับอีกหลายเมืองทั่วโลกให้เห็นว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ แพงกว่าจริงๆ

ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ จึงเป็นภาระหนักของพี่น้องประชาชน เพราะบางคนต้องเสียค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อวันมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลใหม่จึงควรมีนโยบายที่จะลดค่าโดยสาร โดยจะต้องลดค่าโดยสารในเส้นทางที่รัฐบาลลงทุนเองทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-เตาปูน เป็นต้น ซึ่งมีอัตราค่าโดยสาร 14 – 42 บาท ผมขอเสนอให้ลดลงเหลือ 15 บาท ตลอดสาย ทำให้ค่าโดยสารจากบางใหญ่-เตาปูน ลดลงเหลือ 15 บาท จากเดิม 42 บาท หรือการเดินทางจากบางใหญ่-หัวลำโพง ซึ่งต้องใช้ทั้งรถไฟฟ้าสายสีม่วง (42 บาท) และสายสีน้ำเงิน (28 บาท) ค่าโดยสารจะลดลงเหลือ 43 บาท (15+28) จากเดิม 70 บาท (42+28) หรือลดลง 27 บาท (70-43) คิดเป็นประมาณ 40%

การทำเช่นนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อีกทั้งจะทำให้มีผู้โดยสารรถไฟฟ้าในชานเมืองเพิ่มขึ้น คุ้มค่ากับการลงทุน และที่สำคัญ จะส่งผลดีต่อประเทศชาติในการลดปัญหารถติด ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมรับกระแสโลกในการลดก๊าซเรือนกระจก และฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ภาพปกจากเฟซบุ๊ค รถไฟฟ้าบีทีเอส

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 4
  • CT-TOYS
    โครงข่าย รถไฟฟ้าเป็นคนละผู้ให้บริการต่างฝ่ายต่างต้องการผล ประโยชน์ให้มากที่สุด มีผู้ให้บริการคือ MRT และ BTS บางจุดที่เป็น สถานีช่วงต่อกัน แค่สถานี จุดทางเดิน ที่ไปเชื่อมกัน ยังเกี่ยงกัน ทำหลังคา เวลาฝนตกทีนึง ผู้โดยสาร ที่ต้องเดินทางต่อ ยังต้องเปียกฝนเลย หาจุดลงตัวให้ได้ เมื่อไหร่ ที่ภาครัฐ ดูแลได้ เมื่อนั้นแหละ ประชาชน จะได้ผลประโยชน์ แต่จะมีใคร กล้าเข้าไปคุยล่ะ ในเมื่อเจ้าของสัมปทาน แต่ละคน ไม่ใช่ตัวเล็กๆ
    17 มิ.ย. 2562 เวลา 12.04 น.
  • 48💰C13♾️35
    เห็นด้วยตั้งแต่นั่งมามีแต่ขึ้นกับขึ้น แต่ได้รับบริการที่ไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป😑😑
    17 มิ.ย. 2562 เวลา 09.31 น.
  • Yoyo
    เห็นด้วยครับ ทางเลือกของประชาชนควรจะราคาถูก เพื่อจูงใจให้มาใช้บริการ ช่วยลดมลภาวะประหยัดพลังงานและเวลาฯล
    17 มิ.ย. 2562 เวลา 08.27 น.
  • NΦB-1
    มันคือความจริง สร้างมาเยอะแต่คนที่ต้องใข้เดินทางประจำ แม้อยากใช้แต่ไม่สามารถใช้ได้เพราะมันแพงเกิน เดินทางจากบางใหญ่ไปสุขุมวิท ต้องนั่งสายสีม่วงมาต่อ MRT เดินทางไปกลับทุกวันบวกค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้าง เกือบ 200 บาท คิดว่าผมจะใช้มั๊ยล่ะ มันแพงเกินไป
    17 มิ.ย. 2562 เวลา 07.16 น.
ดูทั้งหมด