หันมองรอบบ้านที่เต็มไปด้วยหนังสือแทบทุกหลืบมุม ผมเชื่อว่าในชาตินี้ได้อ่านหนังสือผ่านตาไปไม่น้อยกว่าหนึ่งพันเล่ม (หากรวมการ์ตูนย่อมมากกว่านั้นอีก) ที่น่าแปลกใจคือ หนังสือมิได้ทำให้ผมฉลาดขึ้นอย่างที่คาดว่าควรจะเป็น มากมายหลายเล่มที่อ่านแล้วลืม ข้อความเรื่องราวในหนังสือเหล่านั้นอันตรธานไปราวไม่เคยไหลเข้าสมอง
หากลองจินตนาการถึงสมองตัวเอง ผมเห็นมันเป็นตะแกรงรูกว้าง เมื่อนำข้อมูล ความรู้ และเรื่องราวมาร่อนผ่านจึงถูกกรองเหลือไว้เพียงหินก้อนใหญ่จำนวนน้อยนิด ที่เหลือหล่นหายไปหมด ผมนึกอิจฉาเพื่อนพ้องน้องพี่ที่จดจำข้อความจากหนังสือได้ราวกับนักกฎหมายจำประมวลฯ แต่ก็ไม่รู้วิธีการว่าต้องทำเช่นใดจึงกักกั้นมิให้ ‘ของดี’ จากหนังสือไหลผ่านสมองรูกว้างของตนไปได้
กระนั้นก็โชคดีที่ผมไม่หยุดอ่านหนังสือเพียงเพราะอ่านแล้วจำไม่ได้ ผมพบคำตอบของข้อสงสัยนี้ในหนังสือนี่เอง A History of Reading ของ Albeto Manguel ปลอบประโลมให้ผมได้เห็นว่าตนเองมิใช่คนเดียวในโลกที่ประสบปัญหา ‘อ่านไม่รู้จักจำ’ ในอดีตหลายร้อยปีก่อนมีชายคนหนึ่งบ่นว่า “ทันทีที่หนังสือพ้นมือข้า ความรู้สึกทั้งมวลที่มีต่อมันก็อันตรธานหายไป”
เจ้าของคำพูดนั้นคือ ฟรานซิสโก พีทราร์คา กวีผู้ยิ่งใหญ่ในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ผู้พก Confession ฉบับกระเป๋าซึ่งเขียนโดยนักบุญออกัสตินติดตัวไว้ตลอดเวลา ด้วยเหตุผลว่า เมื่อได้หยิบขึ้นมาอ่านแล้วเขาได้ยินเสียงท่านนักบุญพูดกับเขาอย่างสนิทสนม
ทันทีที่รับรู้เรื่องราวนี้ ความคิดในสมองก็ผุดพรายขึ้นมาทันทีว่า หากสามารถเลือกหนังสือพกติดตัวได้เพียงหนึ่งเล่มในชีวิต (หรือในช่วงหนึ่งของชีวิต) ผมจะหยิบเล่มไหนและอะไรคือเกณฑ์การเลือก ระหว่างยังชั่งใจว่าเล่มไหนดี ผมพอจะนึกเกณฑ์ในการเลือก ‘หนังสือติดตัว’ ได้ว่ามันน่าจะเป็นหนังสือที่ทำหน้าที่คล้ายเพื่อนและครู คือปลอบเราในยามทุกข์ใจและชี้แนะในยามสับสน ในเล่มน่าจะเต็มไปด้วยสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า ‘Words of wisdom’ หรือวรรคทองแห่งปัญญาที่สามารถเยียวยาและอบรมบ่มสมองของเราได้
มีหนังสือผุดพรายขึ้นมาหลายเล่ม แต่ไม่ง่ายนักที่จะคัดและเลือกเพียงหนึ่งจากจำนวนมากนั้น พอพูดถึงหนังสือที่บรรจุไปด้วยคำตอบสำหรับชีวิต เหตุการณ์ในร้านหนังสือข้างมัสยิดที่อิหร่านก็ปรากฏขึ้นในหัว ระหว่างที่ผมกำลังพลิกอ่านบทกวีของฮาเฟซเพื่อตัดสินใจว่าจะซื้อกลับบ้านดีหรือไม่ หนุ่มใหญ่เจ้าของร้านพลันเอ่ยปากเชียร์ว่า “เล่มนั้นดีมาก คุณควรซื้อกลับไป” ผมทราบกิตติศัพท์ของบทกวีฮาเฟซมาว่า ในอิหร่าน, นอกจากอัลกุรอานแล้ว นี่คือหนังสือที่มีติดบ้านกันทุกบ้าน สถานะของมันจึงไม่เพียงเป็นบทกวี หากสำหรับบางคนนี่คือคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ “หลายครั้งผมพบคำตอบของชีวิตจากการเปิดบทกวีฮาเฟซ” เจ้าของร้านพูดพร้อมยิ้มกว้างแล้วเล่าให้ฟังว่า เมื่อสองวันก่อนเขามีเรื่องสับสนในใจ จึงนั่งลงสวดภาวนาแล้วขอคำตอบจากหนังสือเล่มนี้ เขากางหนังสือออกแล้วอ่านข้อความในหน้าที่เปิดอ้าออก ซึ่งมีข้อความเชื่อมโยงกับเรื่องที่เขากำลังสับสน กวีบทนั้นชี้ให้เห็นคุณค่าของครอบครัว ทำให้เขาตัดสินใจบางอย่างได้ และนี่คือวิธีใช้คัมภีร์เล่มนี้
หากถามชาวอิหร่านว่าจะพกหนังสือเล่มไหนติดตัวไว้ หลายคนอาจตอบว่าบทกวีของฮาเฟซ
ผมคิดถึงเรื่อง ‘หนังสือช่วยชีวิต’ ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อได้อ่านบทสนทนาระหว่างฟรานซิสโก พีทราร์คากับนักบุญออกัสติน หลังจากที่พีทราค (นามที่นักอ่านเรียกเขา) บ่นว่า“ทันทีที่หนังสือพ้นมือข้า ความรู้สึกทั้งมวลที่มีต่อมันก็อันตรธานหายไป”
ออกัสตินกล่าวว่า “การอ่านหนังสือในลักษณะนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับปัจจุบัน สำหรับฝูงชนที่คลั่งในตัวอักษร แต่หากท่านจดบันทึกความคิดเล็กๆ น้อยๆ อย่างรวดเร็วลงในที่ที่เหมาะสม ท่านจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่อ่านง่ายขึ้น”
พีทราคถามต่อ “บันทึกแบบไหนที่ท่านหมายถึง”
คำตอบจากออกัสตินคือ “เมื่อใดก็ตามที่ท่านอ่านหนังสือและเจอะเจอประโยคที่แสนวิเศษซึ่งปลุกเร้าหรือทำให้จิตวิญญาณของท่านสดชื่น จงอย่าเพียงแค่เชื่อในอำนาจสติปัญญาของตน แต่จงบังคับให้ตัวท่านเองเรียนรู้ด้วยหัวใจและทำให้มันคุ้นเคยกับท่านโดยการเพ่งพิจารณามัน เพื่อว่าเมื่อใดก็ตามที่เกิดมีเหตุการณ์ร้ายแรง ซึ่งปลุกความวิตกกังวล ท่านจะรักษาอาการได้ทันท่วงทีเนื่องจากมันจดไว้ในจิตใจของท่านแล้ว เมื่อท่านเจอะเจอข้อความใดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ก็จงจับมันให้มั่น เหมือนดั่งว่ามีกาวจับนกอยู่ในความจำของท่าน มิฉะนั้นมันอาจจะโบยบินหนีไป”
ไม่แน่ใจว่าคุณผู้อ่านเป็นเหมือนผมหรือเปล่า ทันทีที่อ่านคำตอบจากนักบุญออกัสตินจบ ผมเลื่อนตากลับขึ้นไปอ่านซ้ำอีกรอบทันที และอดไม่ได้จริงๆ ที่จะจดเก็บไว้
นี่เป็นครั้งแรกที่ผมตั้งใจว่าหลังจากนี้ถ้าได้พบข้อความใดที่ ‘ปลุกเร้าหรือทำให้จิตวิญญาณสดชื่น’ ผมจะไม่ปล่อยผ่านจากสายตาให้ไหลผ่านสมองไปโดยคิดเอาเองว่า ‘ฉันจำมัน’ ได้อีกต่อไปแล้ว ผมจะเริ่มจดเก็บไว้ใน ‘ห้องสมุดแห่งข้อความ’ ซึ่งผมตั้งชื่อเอาเองว่า ‘คลังยาแห่งปัญญา’
ผมชอบที่ท่านนักบุญบอกว่า “เมื่อใดก็ตามที่เกิดมีเหตุการณ์ร้ายแรง ซึ่งปลุกความวิตกกังวล ท่านจะรักษาอาการได้ทันท่วงทีเนื่องจากมันจดไว้ในจิตใจของท่านแล้ว” ข้อความนี้ทำให้นึกขึ้นได้ว่า หลายครั้งผมเอาตัวรอดจากวันฟ้าครึ้มของชีวิตมาได้ด้วย ‘words of wisdom’ บางวรรคตอนจากหนังสือบางเล่มหรือเพลงบางเพลง ดังเช่นบ่อยครั้งที่ผมปล่อยวางเรื่องร้ายเมื่อถ้อยคำจากเพลงLet It Be ผุดพรายขึ้นมา “There will be and answer, let it be.”
เพลงอาจไหลซึมเข้าไปแนบเนียนกับความจำของเราได้ง่ายกว่าหนังสือเพราะมีท่วงทำนอง จึงน่าเสียดายหยูกยามากมายที่สามารถรักษาอาการย่ำแย่ในวันร้ายของชีวิตที่เราเคยอ่านพบจากหนังสือแต่ดันทำหล่นหลุดมือไป
ผมตั้งใจว่าตั้งแต่วันนี้จะจด-เก็บ-รักษาข้อความเหล่านั้นไว้ เป็นถ้อยคำแห่งปัญญาที่สามารถหยิบขึ้นมาอ่านได้บ่อยๆ เพื่อจดไว้ในจิตใจและสามารถนำมารักษาอาการได้ทันที เมื่อคิดได้เช่นนี้ ผมจึงนึกคำตอบของคำถามแรกออกโดยอัตโนมัติ หากต้องเลือกหนังสือหนึ่งเล่มสำหรับพกติดตัวไว้ ผมขอเลือกหนังสือซึ่งรวบรวม ‘ถ้อยคำแห่งปัญญา’ ที่ผมเก็บบันทึกจากประสบการณ์การอ่านของตนเอง เป็นถ้อยคำที่มีผลกระเทือนต่อความคิดและจิตวิญญาณ เป็นถ้อยคำที่เยียวยารักษาและหาทางออกให้กับตัวเองได้ หนังสือเล่มนี้ยังไม่มีในโลกใบนี้ แต่มันกำลังก่อร่างและค่อยๆ ถูกขีดเขียนขึ้นทีละหน้า ผมเชื่อว่าวันหนึ่งมันจะกลายเป็นหนังสือที่มีคุณค่ามากสำหรับตัวผมเอง
ผมเริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้โดยตั้งเงื่อนไขให้ตัวเองเล็กๆ ว่า ปัญญาใดๆ ก็ตาม หากเพียงคัดลอกมาใส่หน้ากระดาษก็ยังมิได้หมายความว่าเราเข้าใจในสิ่งนั้นอย่างแท้จริง ฉะนั้น การบันทึกข้อความจากผู้อื่นจึงควรมีการขีดเขียนส่วนขยายความเข้าใจของตนเองประกบไปด้วย กระบวนการนี้ทำให้ ‘ปัญญา’ นั้นไหลผ่านสมองและหัวใจของเราเอง เป็นการแปลงปัญญาสากลให้กลายมาเป็นปัญญาของเรา ยิ่งสะสมปัญญาเช่นนี้ไว้มากเท่าใด เรายิ่งเติบโตและมีจิตวิญญาณที่เข้มแข็งรุ่มรวยขึ้นมากเท่านั้น
ถึงบรรทัดนี้ คงได้เวลาที่ผมจะบอกกับคุณผู้อ่านสักนิดว่า คำพูดของออกัสตินที่ได้อ่านไปนั้นเป็นจินตนาการของพิทราค กระนั้น พิทราคคือผู้พกหนังสือของออกัสตินติดตัวไว้ตลอดเวลา บทสนทนาในจินตนาการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบคำถามว่า เหตุใดพิทราคจึงรู้สึกว่าได้พูดคุยกับออกัสตินทุกครั้งที่เปิดหนังสืออ่าน เพราะเขาไม่ปล่อยถ้อยคำเหล่านั้น ‘ผ่าน’ ไปเฉยๆ หากสร้างความคุ้นเคยราวกับเป็นเพื่อนสนิทกัน
ถ้อยคำที่เราใส่ใจและไม่ปล่อยผ่านนี่เองที่จะกลายเป็นเพื่อนและครูของเรา
มันอาจช่วยชีวิตเราในอนาคต
สิ่งที่ดีๆย่อมสามารถที่จะเกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยการรู้จักการวิเคราะห์ให้รอบครอบแล้วนำมาปรับใช้เพื่อให้เหมาะสมกับในการดำเนินชีวิตก็สามารถที่จะช่วยทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นต่อตนเองได้อย่างแน่นอน.
03 ต.ค. 2562 เวลา 10.35 น.
Prakob Panichkul เขียนด้วยใจขัดเกลาด้วยสมอง.!😀
18 ต.ค. 2562 เวลา 00.53 น.
miko1469 ดีใจ ที่ไม่ปล่อยเรื่องนี้ผ่านไป ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ และรอยยิ้มที่น่ารัก (ยิ้มบ่อยๆ นะค่ะ)
06 ต.ค. 2562 เวลา 04.11 น.
Yongyuth Wisdom คือญาณปัญญา คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นอมตะ และเป็นจริง ไม่แปรเปลี่ยนไปตามกาลและเวลาสิ่งนี้คือวิปัสสนาญาณที่เกิด ขึ้นมาจากจิตที่สงบ ตั้งมั่นหรือ สัมมาสมาธิ ส่วนเชาว์ปัญญา หรือ intellectual เกิดจากการคิดพิจารณา เป็นความฉลาดทางโลก
17 พ.ย. 2562 เวลา 17.17 น.
ruj ปัญญากำลังจะเกิด
14 พ.ย. 2562 เวลา 17.24 น.
ดูทั้งหมด