ไลฟ์สไตล์

ไม่อยากคิดแต่ห้ามความคิดไม่ได้ - หมอเอิ้น พิยะดา

THINK TODAY
เผยแพร่ 23 ส.ค. 2562 เวลา 10.04 น.

เราทุกคนก็ต่างมีความคิดด้วยกันทั้งนั้น บางคนคิดมาก บางคนคิดน้อยแตกต่างกันไป

เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมามีชายวัยกลางคนมาขอพบหมอด้วยรู้สึกว่าไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตมา 6 เดือน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ด้วยความคิดกังวลมากกว่าปกติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เมื่อค่อยๆซักถามลงไปในรายละเอียด พบว่าผู้ชายคนนี้เริ่มมีความคิดกังวลเกิดขึ้นหลังจากลูกสาวคนแรกลืมตาดูโลก

สิ่งที่เขารู้สึกแปลกใจในตัวเองคือ เขาอยู่ในช่วงเวลาของชีวิตที่ควรมีความสุขมากที่สุด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

มีลูกที่น่ารัก มีภรรยาที่ดี มีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีทุกอย่างที่เคยอยากมี

แต่เมื่อมีแล้ว กลับคิดกลัวว่าจะสูญเสียมันไปทั้งที่ยังไม่สูญเสีย

*“ผมรู้ว่าไม่ควรคิดแต่ห้ามความคิดไม่ได้ ” *

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 เมื่อถามลึกลงไป เบื้องหลังความกลัว ผู้ชายคนนี้เคยต้องสูญเสียพ่อที่เขารักอย่างกะทันหันด้วยอาการหัวใจวาย การสูญเสียในครั้งนั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับชีวิต จากครอบครัวที่อบอุ่น มั่งมีด้วยการเป็นเจ้าของโรงงานใหญ่ ต้องกลายเป็นครอบครัวที่ต้องขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง และเพราะไม่มีใครที่รู้เรื่องการบริหารโรงงาน หลังจากพ่อเสียจึงประสบปัญหาทางธุรกิจจนต้องขายโรงงานใช้หนี้ กับสถานะที่เปลี่ยนแปลง คนรอบตัวก็เริ่มเปลี่ยนไป

หลังจากนั้นเขาเฝ้าบอกว่า*“ฉันจะต้องกลับมาร่ำรวยและเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดีแทนพ่อให้ได้” * แรงผลักดันในวันนั้นทำให้วันนี้ เพื่อนๆต่างบอกว่า เขาน่าจะเป็นคนที่มีความสุขที่สุดคนหนึ่ง

แต่สำหรับเขาแล้วยิ่งมีสิ่งที่เคยปรารถนาเท่าไร เขายิ่งมีความทุกข์จากความคิดกังวล กลัวว่าจะสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไป

“ออ ผมแค่กลัวการสูญเสีย” สีหน้าท่าทางของเขาเปลี่ยนไปในทันทีหลังจากเอ่ยคำนี้ออกมา

ที่สำคัญเขาเริ่มเห็นช่องทางในการดูแลความคิดของตัวเองได้ด้วยตัวเอง

*กระบวนการดูแลความคิดที่รู้ว่าไม่ควรคิดแต่ห้ามความคิดไม่ได้คือ *

1.รับรู้ว่าเราเกิดความคิด : เราทำอะไรบางอย่างเพราะเชื่ออะไรบางอย่าง เราเชื่ออะไรบางอย่างเพราะรู้สึกอะไรบางอย่าง เรารู้สึกอะไรบางอย่างเพราะคิดอะไรบางอย่าง เราคิดอะไรบางอย่างเพราะได้ข้อมูลอะไรบางอย่าง

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเร็วมากในตัวเรา จนหลายครั้งเกิดความสับสนวุ่นวายในตัวเอง การช้าลงแล้วค่อยๆสังเกตการกระทำและความคิดจะทำให้เราเห็นปัญหาชัดขึ้น

2.ยอมรับ : หลายครั้งที่ความคิดที่ผุดขึ้นมาโดยอัตโนมัติเป็นความคิดที่เราไม่ชอบ หรือบอกตัวเองว่าไม่ควรคิด

ยิ่งไม่อยาก กลับยิ่งคิด ความไม่อยากจึงไม่มีประโยชน์ แต่การยอมรับความคิดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะดีร้ายแค่ไหนกลับจะทำให้เราจัดการความคิดนั้นง่ายขึ้น

3.พิจารณา : เมื่อเราไม่เสียพลังงานกับการต่อต้านความคิดตัวเอง เราจะมีพื้นที่ในการพิจารณาได้ว่า

สิ่งที่คิดเป็นความคิดประเภทไหน ความคิดมีสองประเภท ประเภทที่หนึ่งความคิดที่ควรคิด ข้อสังเกตคือ คิดแล้วเราสามารถลงมือทำได้ และเมื่อทำสำเร็จจะมีประโยชน์กับชีวิต เช่น จะพัฒนางานอย่างไร จะเลี้ยงลูกอย่างไร เป็นต้น ความคิดประเภทนี้ควรใส่ใจ

ประเภทที่สองความคิดที่ไม่ควรคิด ข้อสังเกตคือ คิดไปเราก็ทำอะไรไม่ได้เพราะเป็นเรื่องที่เหนือบทบาทและการควบคุมของเรา เช่น คิดว่ากลัวลูกตาย คิดว่าตัวเองจะล้มละลาย ทั้งที่ยังไม่มีปัจจัยอะไร ความคิดประเภทนี้ไม่ควรใส่ใจ แค่รับรู้ว่าคิดแล้วกลับมาทำในสิ่งที่ควรทำในปัจจุบัน

4.ทำความเข้าใจ : หากเราพิจารณาแล้วว่า ความคิดนี้ไม่ควรคิด รับรู้และเบี่ยงเบนความสนใจให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันแล้วแต่ยังไม่ค่อยได้ผล ยังมีแรงผลักดันบางอย่างที่ทำให้ความคิดนี้กลับมาใหม่เรื่อยๆ ให้เราลองค่อยๆทำความเข้าใจความหมายของความคิดนั้น 

เช่น ในกรณีตัวอย่างด้านบน กังวลกับธุรกิจและครอบครัวว่าจะสูญเสียสิ่งนี้ไป เพราะเคยสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตจึงกลัวที่ชีวิตจะกลับไปเป็นเช่นเดิม เรามักจำสิ่งที่ทำให้เจ็บปวดแต่เรามักลืมว่าเราเก่งแค่ไหนที่ผ่านมันมาได้

5.สร้างทางเลือกใหม่ : เมื่อรู้ว่าตอนนี้กำลังประสบปัญหาทางด้านความคิด การวนคิดอยู่กับตัวเองอาจทำให้ยิ่งฟุ้งซ่าน การเปลี่ยนความคิดเป็นการกระทำและการสื่อสาร เช่น เขียนออกมา หรือการพูดคุยกับคนที่คิดว่าช่วยเตือนสติเราได้ อาจทำให้มองเห็นทางออกของความคิดมากขึ้น หรือการไปพบจิตแพทย์ก็อาจจะทำให้เราพบทางเลือกใหม่ได้โดยที่ยังไม่ต้องป่วย

*ความคิดเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้แต่เราดูแลความคิดได้ พูดง่ายทำยากแต่ทำได้ เพราะการดูแลความคิดเป็นทักษะที่เราฝึกฝนได้ *

ครั้งหน้าจะมาเล่าให้ฟังนะคะว่า แล้วความคิดที่ผิดปกติและควรรีบเข้ารับการรักษานั้นมันเป็นอย่างไร

https://youtu.be/EZDLj79QSTM 

เก็บบรรยากาศ You Are Not Alone มาฝาก

เรียนรู้การเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง

www.earnpiyada.com 

----------------------------------------------------------------------------

Page FB หมอเอิ้นพิยะดา Unlocking Happiness 

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10156783544953550&id=306538978549

----------------------------------------------------------------------------

IG : https://www.instagram.com/earnpiyada/

ความเห็น 12
  • กัญญา 1959
    คนนอนตายตาไม่หลับมักเป็นแบบนี้เอง ห่วงนี่เองที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ มนุษย์ที่เวียนว่ายตายเกิดก็แบบนี้เอง ความคิดห้ามไม่ได้แค่ให้รู้ว่าคิด
    24 ส.ค. 2562 เวลา 00.15 น.
  • ปล่อยวางเอาไว้บ้างก็ดี เพราะว่าทุกสิ่งนั้นก็ล้วนแล้วที่ย่อมจะต้องเป็นไปตามวัฐจักรของความเป็นจริงในชีวิต.
    23 ส.ค. 2562 เวลา 13.51 น.
  • Rainny L.(อิมกึมบี)🌦
    ยิ่งห้ามยิ่งบ้า เพราะว่า ซ้อนตัวกูเพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งเป็น2 จะกลายเป็นคน2บุคลิก
    23 ส.ค. 2562 เวลา 16.15 น.
  • piak
    การศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องช่วยคุณได้ค่ะ
    17 ก.ย 2562 เวลา 14.56 น.
  • เค้าเรียกโรควิตกจริตมากเกินความจริงคนแบบนี้ถ้าปล่อยไปนานเข้าจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าย้ำคิดย้ำทำสุดท้ายก้ออัลไซเมอร์
    23 ส.ค. 2562 เวลา 12.32 น.
ดูทั้งหมด