ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

คาดแตกปีนี้! ฟองสบู่อสังหาฯ

The Bangkok Insight
เผยแพร่ 23 ม.ค. 2562 เวลา 08.18 น. • The Bangkok Insight

สถานการณ์ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ไม่สู้ดีนัก หลายบริษัทปรับแผนชะลอการลงทุน โดยเฉพาะโครงการอาคารสูง ในกลุ่มสินค้าคอนโดมิเนียม แต่ก็ดูเหมือนความตื่นตัวเรื่องนี้จะช้าเกินไป ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเปิดโครงการใหม่เป็นจำนวนมาก และมีสต็อกเหลือขายในตลาดมหาศาล หลายคนเริ่มพูดถึงภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ยืนยันชัดเจนว่า ได้เกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาฯขึ้นแล้ว 

ดร.โสภณ พรโชคชัย
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์อาจแตกในปี 2562” ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวในงานสัมมนาผู้บริหาร “ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัย พ.ศ.2562” พร้อมระบุว่า ตลาดอสังหาฯ ปี 2561 เติบโตอย่างผิดสังเกตเป็นอย่างมาก คือ มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งประกอบด้วยบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว ห้องชุด (คอนโดมิเนียม) และที่ดินจัดสรรเพื่อการอยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมกันถึง 125,118 หน่วย เพิ่มขึ้น 9.3% จากปี 2560 ที่เปิดอยู่ 114,477 หน่วย ตัวเลขเปิดตัวในปี 2561 นี้นับว่าสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2557)

บรรยาการงานสัมมนาทิศทางตลาดที่อยู่อาศัย 2562

หากมาดูที่มูลค่าการพัฒนาปรากฏว่าปี 2561 เปิดตัวเป็นมูลค่าสูงถึง 5.65 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.1% จากปี 2560 ที่เปิด 4.41 แสนล้านบาท ปี 2561 นับว่าเป็นปีที่มีมูลค่าการพัฒนาสูงสุดในรอบ 25 ปีที่สำรวจมา (ตั้งแต่ปี 2537)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยในปี 2561 มีราคาสูงถึง 4.552 บาท ซึ่งสูงสุดในรอบ 25 ปีเช่นกัน จะสังเกตได้ว่าในปี 2560 ราคาที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวโดยเฉลี่ยที่ 3.858 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าในปี 2561 ราคาเพิ่มขึ้นถึง 17.2%

การเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัย ปี 2537-3561

การเพิ่มขึ้นของจำนวนหน่วยขาย 9.3% มูลค่าโครงการที่เพิ่มขึ้น 28.1% และราคาเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 17.2% แสดงชัดเจนว่า ประเทศไทยได้เกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แล้วในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปี 2561 อย่างไม่ต้องสงสัย  

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยปกติแล้ว เมื่อเกิดฟองสบู่ขึ้น ก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่องประมาณ 2-3 ปี ก่อนที่ฟองสบู่จะแตกในปีถัดมา หากเป็นไปตามอาการปกติฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่งเกิดก็คงจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2562, 2563 หรืออาจถึง 2564 และในปี 2564-5 ฟองสบู่ก็จะแตก

โตสูงสุดใน 25 ปีสต็อกกว่า 1.9 แสนหน่วย 

สิ่งที่น่าห่วงประการหนึ่งก็คือ อุปทานคงเหลือสะสม รวม ณ สิ้นปี 2561 เพิ่มขึ้นจากกลางปี 2561 ประมาณ 10.6% จาก 180,635 หน่วย ณ กลางปี 2561 เพิ่มเป็น 199,768 หน่วย (เพิ่ม 19,133 หน่วย) และถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อสิ้นปี 2560 จะเพิ่มขึ้นเพียง 4,541 หน่วย หรือ 2.3% เนื่องจาก ณ สิ้นปี 2560 มีอุปทานคงเหลือหรือรอการขายที่ 195,227 หน่วย

อุปทานที่เปิดขายใหม่  ทั้งปี 2561 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 เพิ่มขึ้นทุกอย่าง ดังนี้

  • จำนวนโครงการเปิดใหม่ปี 2561 จำนวน 450 โครงการ เพิ่ม 48 โครงการ (11.9%) จากปี 2560
  • จำนวนหน่วยขายเปิดใหม่ปี 2561 จำนวน 125,118 หน่วย เพิ่ม 10,641 หน่วย (9.3%) จากปี 2560
  • มูลค่าโครงการปี 2561 จำนวน 565,811 ล้านบาท เพิ่ม 124,150 ล้านบาท (28.1%) จากปี 2560 ถือว่าสูงสุดในรอบ 25 ปีที่ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้สำรวจไว้ตั้งแต่ปี 2537
  • ราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วย 4.522 ล้านบาท เพิ่ม (17.2%) จากราคา 3.858 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2560
  • ยอดซื้อ ปี 2561 จำนวน 120,577 หน่วย เพิ่ม จากปี 60 จำนวน 16,998 หน่วย หรือ (16.4%)

สต็อกคอนโดเหลือขายกว่า 8 หมื่นหน่วย

ทั้งนี้ หากแยกประเภทเป็นกลุ่มหลักๆ คือ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และอาคารชุด กรือคอนโดมิเนียม มีรายละเอียดแต่ละประเภท ดังนี้

  • บ้านเดี่ยว หน่วยขายเปิดใหม่ทั้งปี 2561 จำนวน 11,071 หน่วย เพิ่ม 854 หน่วย (8.4%) จากปี 2560 อุปทานเหลือขาย 35,432 หน่วย ลดลง 1,539 หน่วย  (-4.2%) จากสิ้นปี 2560  ส่วนการขาย ขายได้ปี 2561 จำนวน 12,610 หน่วย ลด 163 หน่วย (1.3%) จากปี 2560
  • ทาวน์เฮ้าส์ หน่วยขายเปิดใหม่ทั้งปี 31,717 หน่วย ลดลง 3,745 หน่วย  (-10.6%) จากปี 2560  อุปทานเหลือขาย 63,222 หน่วย เพิ่ม 651 หน่วย (1.0%) จากสิ้นปี 2560  ส่วนที่ขายได้ปี 2561 จำนวน 31,066 หน่วย เพิ่ม 3,521 หน่วย (12.8%) จากปี 2560
  • อาคารชุด หรือ คอนโดมิเนียม หน่วยขายเปิดใหม่ 74,380 หน่วย เพิ่ม 10,754 หน่วย (16.9%) จากปี 2560 อุปทานเหลือขาย 81,818 หน่วย เพิ่ม 5,028 หน่วย (6.5%) จากสิ้นปี 2560 ยิ่งกว่านั้นห้องชุดขายได้ปี 2561 จำนวน 69,352 หน่วย เพิ่ม 12,718 หน่วย (22.5%) จากปี 2560

อาจกล่าวได้ว่าอุปสงค์หรือความต้องการซื้อ ทั้งปี 2561 โดยรวมเพิ่มขึ้น 16,998 หน่วย หรือ 16.4% จากปี 2560  อุปสงค์เหล่านี้มาจากไหน  อาจแยกเป็น 4 กลุ่มหลักคือ

  • กลุ่มข้าราชการที่ได้รับการกระตุ้นให้ซื้อ
  • กลุ่มคหบดีที่มีฐานะดี
  • กลุ่มนักเก็งกำไร
  • กลุ่มต่างชาติโดยเฉพาะจีน

 สำหรับประชาชนทั่วไป กำลังซื้ออาจมีไม่มากนัก สังเกตได้ว่าตลาดระดับล่างมีน้อยมาก เพราะแม้ไทยจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ในสถานการณ์นี้อยู่ในภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ประชาชนทั่วไปยังไม่มีกำลังซื้อมากนัก

โครงการหยุดขาย

โครงการหยุดขาย 5.7 หมื่นหน่วย 

เครื่องชี้ภาวะตลาดสำคัญในปัจจุบันคือจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยที่หยุดการขาย ปรากฏว่าโครงการที่เจ๊งเหล่านี้ เกิดขึ้นเพราะไม่ผ่าน EIA (รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม) 27% สถาบันการเงินไม่อำนวยสินเชื่อ 21% ขายไม่ออก 19% ทำเลที่ตั้ง 9% และอื่นๆ

โครงการที่อยู่อาศัยที่หยุดการขาย ณ ธันวาคม 2561 มีจำนวน 202 โครงการ 57,330 หน่วย มูลค่า 145,471 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ กลางปี 2561 มีจำนวน 197 โครงการ 55,956 หน่วย มูลค่า 142,831 ล้านบาท  แสดงว่า

  •  จำนวนโครงการที่เจ๊งเพิ่มเพียง 5 โครงการ (3%)
  • จำนวนหน่วยขายที่เจ๊งเพิ่มเพียง 1,374 หน่วย (3%)
  • มูลค่าของโครงการที่เจ๊งเพิ่มเพียง 2,640 ล้านบาท (2%)

ดังนั้นสถานการณ์ในปัจจุบันจึงไม่ได้เลวร้ายอะไร ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540-2544 สถานการณ์เลวร้ายมาก มีโครงการที่กำลังขายและมีโอกาสเจ๊งถึงประมาณ 40% จากผลการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วงก่อน

อันดับผู้ประกอบการที่เปิดโครงการมากที่สุด

บิ๊กเนมพาเหรดเจาะตลาดบน

บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท ยังเป็นบริษัทหมายเลขหนึ่งที่มีจำนวนโครงการเปิดใหม่ในปี 2561 มากที่สุดถึง 46 โครงการ รวม 15,574 หน่วย  รวมมูลค่า 47,007 ล้านบาท  

อย่างไรก็ตามในด้านมูลค่าปรากฏว่ามี บมจ.แสนสิริ และ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) แซงขึ้นมา โดย บมจ.แสนสิริเปิดตัวโครงการ 21 แห่ง จำนวนหน่วย 10,571 หน่วย (ราว 2 ใน 3 ของ บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท) แต่มีมูลค่าสูงถึง 54,236 ล้านบาท ส่วนบมจ.เอพี (ไทยแลนด์) มีเปิดขาย 32 โครงการ รวม 10,206 หน่วย แต่มีมูลค่าโครงการรวมถึง 47,079 ล้านบาท

กรณีนี้แสดงว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่สร้างสินค้าราคาแพงกลับกลายเป็นบริษัทที่มีการเปิดตัวมากกว่าเนื่องจากในปัจจุบันประชาชนทั่วไปอาจมีกำลังซื้อที่จำกัด

ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์มาแล้ว

 ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในปี 2561 นี้ เป็นปรากฏการณ์ที่แปลก ก็คือเกิดขึ้นเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ในจังหวัดภูมิภาคทั่วประเทศ สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่สู้ดีนัก ถดถอยกันทั่วประเทศ  สาเหตุที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์บูมเฉพาะในกรุงเทพมหานครนั้น ก็เพราะมีกำลังซื้อเก็งกำไรส่วนหนึ่งประมาณ 15% ของทั้งตลาด และอีกส่วนหนึ่งจากผู้ซื้อชาวต่างประเทศ

ทำเลการพัฒนาอสังหาฯในกรุงเทพปริมณฑล

แต่ในจังหวัดภูมิภาคไม่มีตลาดเก็งกำไร ยกเว้นในจังหวัดสำคัญๆ บางแห่ง โดยเฉพาะ ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ และภูเก็ตเท่านั้น  ส่วนจังหวัดอื่นๆ ทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคอื่นๆ ล้วนอยู่ในภาวะถดถอยทั้งสิ้น

 อย่างไรก็ตาม ดร.โสภณ คาดว่าฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจจะแตกเร็วกว่านั้น เป็นฟองสบู่เล็กๆ ของปี 2561 ที่อาจแตกในปี 2562 เพราะสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาทำให้เกิดภาวะที่จะระเบิดเป็นฟองสบู่แตกไ้ด้จากหลายปัจจัย ดังนี้ 

  • สัดส่วนการซื้อของต่างชาติที่ 20% โดยส่วนใหญ่เป็นจีนนั้น ปรากฏว่าสำหรับบริษัทมหาชนใหญ่ๆ หลายแห่ง  อาจมีสัดส่วนผู้ซื้อที่เป็นคนต่างชาติโดยเฉพาะจีนสูงถึง 35%-40% ซึ่งยิ่งเสี่ยงเข้าไปใหญ่
  • สินค้าที่ยังหลงเหลือในมือของผู้ประกอบการจากการคืน ยังมีอีกมาก แต่ที่ผ่านมาอาจได้รับรายงานว่ามีผู้จองซื้อไปแล้ว เลยเปิดตัวกันขนานใหญ่ โดยที่ยังหลงเหลือสต็อกอยู่อีกมาก
  • ราคาเหล็กกลับลดลงพอสมควรในรอบ 1 ไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้ค่าก่อสร้างโดยรวมลดลง ทั้งนี้คงเป็นเพราะความต้องการเหล็กในการก่อสร้างของจีนลดลง ทำให้ราคาถูกลง อาจสะท้อนถึงความอ่อนไหวของเศรษฐกิจในระยะสั้นนี้
  • หากกำลังซื้อของจีนลดต่ำลงเพราะสงครามการค้า ก็อาจทำให้ Cashflow ของบริษัทพัฒนาที่ดินสะดุดได้
  • หากผู้ซื้อจีนไม่ได้มาโอนตามกำหนด คล้ายกรณีรัสเซียและญี่ปุ่นในอดีตก็อาจทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาต่อทั้งนักพัฒนาที่ดินและสถาบันการเงิน
  • หน่วยขายที่ซื้อโดยนักลงทุนอาจถูกนำออกมาขายแข่งกับนักพัฒนาที่ดิน ทำให้เกิดปัญหาด้านราคาที่อยู่อาศัยลดต่ำลงได้

แนะผู้ประกอบการปรับตัว-ปรับแผนรับมือ

 จากการสำรวจล่าสุด จำนวนหน่วยขายที่ยังอยู่ในมือของผู้ประกอบการทั้งหมด (โดยที่ยังไม่ได้ขายออกไป) มีสูงถึง 199,768 หน่วย รวมมูลค่าสูงถึง 814,331 ล้านบาท หรือประมาณ 27% ของงบประมาณแผ่นดินปี 2561 ซึ่งถือว่าสูงมาก จำนวนนี้ต้องใช้เวลาขายถึงอีก 25 เดือนตามอัตราการขายปัจจุบัน  

ดังนั้นหากมีการเปิดตัวโครงการไม่หยุดยั้ง ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ จะยิ่งพองตัวและแตกได้โดยเร็วขึ้นไปอีก เมื่อเป็นเช่นนี้ ดร.โสภณ แนะวา ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน ควรปรับตัวดังนี้ 

  • ประสานกันจัดการอุปทานเพื่อไม่ให้เกิดอุปทานส่วนเกินมากจนเกินไป อาจต้องมีการแบ่งโควต้าการพัฒนาโครงการ เพื่อให้รอดพ้นจากการ “เจ็บตัว” กันทุกฝ่าย
  • จัดมหกรรมขายทรัพย์สินที่เป็นสต็อกอยู่โดยร่วมมือกับสถาบันการเงิน โดยอาจลดราคาลงบางส่วนเพื่อเป็นการจูงใจเพื่อลดสต็อกที่มีอยู่จำนวนมหาศาลถึง 199,768 หน่วยลงไป
  • นำ พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.2551 มาใช้กับผู้ประกอบการทุกราย และผู้ซื้อทุกราย เพื่อรับประกันได้ว่าผู้ซื้อบ้านจะได้บ้านแน่นอน และผู้ขายบ้านจะไม่ถูกผู้ซื้อ “เบี้ยว” แม้ทุกฝ่ายต้องเสียค่าธรรมเนียมบ้าง แต่ก็จะทำให้ทุกฝ่ายมีความมั่นใจในตลาดมากขึ้น

 ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน สถาบันการเงิน นักลงทุน และผู้ซื้อบ้านทั่วไป จึงต้องติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด เพราะในวิกฤติที่กำลังอาจจะมาถึงในไม่ช้านี้ ก็ยังมีบางบริเวณ บางประเภทที่อยู่อาศัยและในบางระดับราคา ที่ยังมีผลการขายที่ดีอยู่และมีโอกาสที่จะ “ไปต่อ” ได้ 

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 78
  • 'ป
    รวยกระจุก จนกระจาย
    24 ม.ค. 2562 เวลา 08.26 น.
  • Archangel Que
    รอแตกอยู่ แตกซักทีจะซื้อบ้านสมราคาหน่อย ปั่นกันจนเวอร์มาหลายปีละ
    24 ม.ค. 2562 เวลา 08.26 น.
  • bunkymr.deejay!
    พอเพียงไม่เดือดร้อนเดือดร้อนไม่รู้จักพอ
    24 ม.ค. 2562 เวลา 08.17 น.
  • โอ่ง
    เค้ากลับไปอยู่ต่างหวัดกันเยอะขึ้นในเมืองทำมาหากินลำบากแผงลอยก็ห้ามขายอยู่ไปก็ไม่มีทางรวย
    24 ม.ค. 2562 เวลา 08.11 น.
  • จริยา (มั้ง)
    แม่งปลูกมาขาย เอากำไรเกินจริง ห้องแม่ง ไม่ได้ใหญ่โตอะไร ก็ห้องละ ล้าน สองล้าน สามล้าน เกินไป ซื้อเสร็จ เข้าอยู่ ยังต้องเสียค่านุ่นนี่นั่น อีก สารพัด ให้มันเจ๊งไปเหอะ พวกคนรวยหากินกับคนจน
    24 ม.ค. 2562 เวลา 08.06 น.
ดูทั้งหมด