พฤษภาคม 2541 เป็นครั้งแรกที่คนไทยทั่วประเทศรู้จักกับ ‘ดร.สาทิส อินทรกำแหง’ หลังจากเขาไปเป็นแขกรับเชิญในรายการทอล์กโชว์ชื่อดัง ‘เจาะใจ’
วันนั้นอาจารย์สาทิส พาทุกคนไปรู้จักกับ ‘ชีวจิต’วิถีดูแลสุขภาพแนวใหม่ที่เขาบุกเบิกขึ้น ซึ่งครอบคลุมทั้งการบริโภค การใช้ชีวิตประจำวัน การฝึกจิต และสมาธิ โดยผสมผสานแนวคิดระหว่างการแพทย์สมัยใหม่ แพทย์ทางเลือก การอยู่กินแบบธรรมชาติ และความเข้าใจวิถีชีวิตแบบไทย ซึ่งทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ แม้แต่ผู้ป่วยมะเร็งหลายคน ซึ่งนำชีวจิตไปปฏิบัติ ต่อให้ไม่หายขาด ก็ยังมีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
ทันทีที่เทปนี้ออกอากาศ ‘กระแสชีวจิตฟีเวอร์’ ก็ลุกลามไปทั่วประเทศ หนังสือชีวจิตนับแสนเล่ม ขายเกลี้ยงแผงอย่างรวดเร็ว อาจารย์สาทิสได้รับเชิญไปพูดคุยและบรรยายนับไม่ถ้วน องค์ความรู้เรื่องชีวจิตถูกรวบรวมและพัฒนาเป็นนิตยสารชีวจิต
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ แนวคิดนี้ได้จุดประกายการดูแลร่างกายด้วยตัวเอง ไม่ใช่หวังพิงพึงแต่แพทย์หรือระบบสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว จนเกิดการต่อยอดไปหลักปฏิบัติใหม่ๆ ที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี ทั้ง ข้าวกล้อง การดีท็อกซ์ การฟาสติ้ง รวมถึงน้ำอาร์ซี
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากพาทุกคนกลับไปย้อนความคิดของอาจารย์สาทิส ถึงแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจผลักดัน ‘ชีวจิต’ สู่สังคมไทย
01
จุดเปลี่ยนเพราะมะเร็ง
เมื่อตอนอายุ 40 กว่า สมัยยังทำงานอยู่ที่ UN อาจารย์สาทิสเคยป่วยเป็นมะเร็งโพรงจมูกระยะ 3
ครั้งนั้นอาจารย์พยายามหาวิธีต่างๆ มาต่อสู้กับโรคมะเร็ง แต่สุดท้ายจึงพบว่า วิธีที่ดีที่สุด คือ การผสมผสานความรู้ของแพทย์สมัยใหม่กับการดูแลตัวเองตามวิถีธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกัน
“สมัยที่ผมทำงานกับที่โรงพยาบาลอเมริกา คนเป็นมะเร็งตายทุกราย อยู่ได้ 1 ปีตาย อย่างเก่ง 2 ปี ผมรู้ว่ามันตายทุกราย การรักษาแบบคีโมหรือฉายแสง มันไม่มีผลหรอก มันได้แต่ชะลอ พอมาถึงเวลาที่เราเป็น เราก็ต้องตัดสินใจว่า มึงจะเอายังไง แต่ผมแน่ใจความรู้เรื่องระบบภูมิคุ้มกัน ผมก็เริ่มรักษาตัวเองโดยใช้วิธีดีท็อกซ์ หรือล้างพิษด้วยการสวนทวารและการอดอาหาร”
“ปกติโปรแกรมที่รักษาเขาอดอาหารอย่างเก่งก็ 3 หรือ 5 วัน แต่ผมอด 45 วันแบบสุดขั้วเลย ที่อดแบบนี้เพราะตอนนั้นมีกรณีของ ARI (กองกำลังกู้ชาติของไอร์แลนด์เหนือ) ซึ่งพอถูกจับได้ ก็อดอาหารประท้วงอังกฤษ และสามารถอดได้ 45 วัน เราก็เลยอดตาม กินแต่น้ำ ยา น้ำผลไม้ เอนไซม์ พอครบ 45 วันปั๊บ เรารู้แล้ว กูชนะแน่ จึงยิ่งมีกำลังใจ ที่สำคัญ การอดอาหารไม่ใช่การทรมานตัว พอเราอดมาพักหนึ่ง จึงเริ่มเข้าใจเรื่องการอดอาหาร มันเป็นยาวิเศษ เพราะมีโกรทฮอร์โมนหลั่งออกมา”
โกรทฮอร์โมนเป็นฮอร์โมนที่ช่วยคนเราเติบโต ปกติพออายุประมาณ 25 ปี ก็จะเริ่มหลั่งน้อยลง จนกระทั่งหยุด ข้อดีของฮอร์โมนชนิดคือ ช่วยรักษาซ่อมแซมร่างกาย และการที่จะทำให้ฮอร์โมนนี้กลับมาหลั่งได้ มีอยู่ 2-3 วิธี คือ นอนหลับสนิท ออกกำลังกายจนเหงื่อออก และสุดท้ายคือตอนโคม่า ซึ่งการอดอาหารทำให้ร่างกายตีความว่า เรากำลังเข้าใกล้โคม่า จึงหลั่งโกรทฮอร์โมนออกมา
เมื่ออดอาหารครบตามที่ตั้งใจ อาจารย์ก็เริ่มปรับเวลาชีวิต วางกฎระเบียบให้ตัวเองชัดเจนขึ้น ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาทำอะไรบ้าง ออกกำลังกายอย่างไร พักผ่อนแค่ไหน กินยาเมื่อไหร่ ทำทุกย่างตรงเวลา อย่างเคร่งครัด จนร่างกายดีขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดเชื้อมะเร็งร้ายก็หายไปจากร่างกาย
วิธีปฏิบัตินี้ไม่ได้เกิดขึ้นมั่วๆ แต่มาจากการสั่งสมความรู้และประสบการณ์มายาวนาน เพราะอาจารย์เป็นมนุษย์ที่เรียนไม่หยุด
อย่างตอนเด็กๆ อาจารย์ก็เริ่มศึกษาเรื่องสมุนไพรและพลังธรรมชาติ หลังมีโอกาสช่วยคุณพ่อทำยาลูกกลอนแจกพระ แจกชาวบ้านรักษาโรคต่างๆ
พอโตขึ้น หลังจบเตรียมแพทย์ที่จุฬาฯ ก็มีโอกาสไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา อาจารย์ตะลุยเรียนทุกอย่างที่ขวางหน้า ทั้งจิตวิทยาสังคมและการทดลอง เรียนรู้เรื่องระบบประสาทและต่อมต่างๆ แล้วก็มาต่อยอดเรื่องแมคโครไบโอติกส์ วิทยาศาสตร์อาหาร ไปจนถึงการแพทย์ทางเลือก ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันตกออก รวมถึงตั้งกลุ่มกับเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ เภสัชกร เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ
พอเรียนจบมา ไปทำงานอยู่โรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา และเมืองจีน เคยเป็นผู้ช่วยของศาสตราจารย์ Linus Pauling นักเคมีเจ้าของรางวัลโนเบล 2 สมัย ถึง 5 ปีเต็ม รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำองค์การสหประชาชาติ นานถึง 27 ปี เดินสายให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์แก่ผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องวิทยาศาสตร์การอาหาร ซึ่งถือเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมนุษย์ที่สุด
อาจารย์สามารถเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ อย่างไม่น่าเชื่อ เช่นอารมณ์อะไรต่อผลต่อร่างกายแบบไหน กินอาหารอย่างไรถึงจะช่วยรักษาโรค แถมยังสามารถฝังเข็ม ใช้ยาสมุนไพรรักษาคนไข้ได้อีกด้วย
แต่ทว่าช่วงก่อนเป็นมะเร็ง อาจารย์ยังไม่ได้จริงจังกับเรื่องอาหารมากนัก เพราะยังคงชอบดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารรสจัดจ้าน แต่พอสุขภาพทรุดโทรม อาจารย์จึงตัดสินใจปฏิวัติชีวิตตัวเองใหม่ ปรับทั้งอาหารการกิน อารมณ์ และพยายามฝึกสมาธิของตัวเอง จนเอาชนะโรคร้ายได้สำเร็จ และร่างกายก็กลับมาแข็งแรงไม่แพ้คนหนุ่มเลย
อาจารย์นำความรู้มาถอดเป็นบทเรียน เพียงแต่ยังไม่ได้ถ่ายทอดจริงจัง กระทั่งเกษียณจึงย้ายครอบครัวกลับมาเมืองไทย ด้วยความหวังจะนำองค์ความรู้มายกระดับสุขภาพของคนไทยให้ดีขึ้น
02
กำเนิด ‘ชีวจิต’
หลังกลับมาอยู่เมืองไทยถาวร เมื่อปี 2529 ด้วยความคิดว่า ‘กูแน่’ อาจารย์พยายามขายแนวคิดนี้กับแพทย์ใหญ่ที่คุ้นเคย แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า
เพราะเวลานั้นความรู้เรื่องกินอาหารเป็นยา มีคนรู้น้อยมาก เนื่องจากสาธารณสุขไทยสนใจแต่การรักษามากกว่าการป้องกัน เวลามีอะไรเกิดขึ้นก็กินแต่ยา บวกกับอาจารย์ไม่ได้เป็นแพทย์โดยตรง ทำให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือน้อยตามไปด้วย
“ความจริงในอเมริกา ในยุโรป ยอมรับเรื่องใช้อาหารเป็นยานานแล้ว แต่ของบ้านเรา พอไปพูดเขาไม่รับ ขนาดขอไปอยู่คลินิกหน่อยได้ไหม เวลาคนไข้มา เขาเจ็บป่วยในลักษณะโรคที่ไม่ใช่โรค เช่น ปวดหัว ปวดเข่า ปวดคอ แทนที่จะรักษาแบบปัจจุบัน ลองเอาวิธีผสมผสานได้ไหม เขาก็ให้เราไปอยู่สัก 2-3 วัน แต่พอมีใครมาก็บอก นี่ไงหมอฝังเข็มสนใจไหม ซึ่งเราไม่ใช่หมอฝังเข็ม แต่มาเพื่อสนับสนุนเขา ลึกๆ คือเพื่อนเราเขาไม่ยอมรับเรา สุดท้ายก็เลยไม่ค่อยมีคนสนใจ”
แม้จะรู้สึกท้อ แต่เมื่อมองดูวิถีชีวิตของคนไทยยุคนั้น แล้วแทบไม่มีใครสนใจดูแลรักษาสุขภาพเลย ที่สำคัญอาหารประเภท Junk Food ยังกลายเป็นเทรนด์ กลายเป็นความเท่อีกต่างหาก
ในที่สุดอาจารย์จึงรวมกลุ่มเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง ราวสิบชีวิต มาแบ่งปันความรู้เรื่องการทำอาหารตามหลักแมคโครไบโอติกส์ โดยปรับให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย ปรากฏว่าคนทำแล้วได้ผลดี สุขภาพแข็งแรงมากขึ้น จึงเกิดกระแสปากต่อปาก อาจารย์ได้รับเชิญไปร่วมงานเสวนา ประชุมทางวิชาการของสถาบันต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง แล้วก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย อยากให้อาจารย์ช่วยรักษา
ต่อมาอาจารย์ได้ตั้ง 'ชมรมชีวจิต' ขึ้นมา พร้อมรวบรวมกลุ่มอาสาสมัครที่เข้าเคยรับการรักษาแล้วอาการดีขึ้น มาให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ
“ตอนแรกที่เริ่มคนยังไม่ค่อยสนใจเรื่องวิถีชีวิตเท่าไหร่ เพราะส่วนมากมีแต่คนป่วยทั้งนั้น สิ่งที่เขาอยากรู้ เราจะช่วยเขาได้อย่างไร มียาดีไหม แต่บังเอิญมันช่วยได้หลายคน ช่วยได้เป็นส่วนมาก มันก็เริ่มขยาย แล้วพอเราไปพูด คนฟังก็เข้าใจ ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องธรรมชาติขึ้นเรื่อยๆ”
ปี 2534 ชีวจิตมีสมาชิกมากถึง 3,000 คน จึงมีการตั้งเป็นมูลนิธิชีวจิต ทำหน้าที่เผยแพร่แนวคิด และจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการอบรม จัดทัวร์สุขภาพ รวมตัวกันออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ โดยมีกลุ่มอาสาสมัครทำหน้าที่คอยช่วยเหลือและแนะนำตามแนวทางชีวจิต
สำหรับความหมายของชีวจิตนั้น หากอธิบายตามศัพท์ คือกระบวนการที่ทำให้ร่างกายและจิตใจของเราแข็งแรง อาจารย์เปรียบเทียบว่า ปกติแล้วมนุษย์เราจะมี 2 ตัวตน ตัวตนแรกคือร่างกายตอนที่เกิดมา อีกตัวตนหนึ่งคือตอนที่เรามีอารมณ์ ความรู้สึก ปกติทั้งสองตัวตนนี้จะสัมพันธ์กัน หากตัวไหนเกิดป่วยขึ้นมา อีกตัวหนึ่งก็จะป่วยตาม
การดูแลสุขภาพจึงต้องดูแลทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมกัน โดยปกติแล้วร่างกายจะมีระบบหนึ่งที่เรียกว่า Immune System หรือภูมิชีวิต ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับศัตรูของร่างกาย บำรุงร่างกายให้เติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของร่างกาย
ถ้าระบบนี้อ่อนแอ ร่างกายเราก็จะแย่ตาม แต่ถ้าระบบเข้มแข็ง เราก็ย่อมเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายได้เช่นกัน ซึ่งวิธีดูแล Immune System ทำได้ง่ายๆ คือ พยายามอย่าเอาสิ่งที่เป็นพิษเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งบางครั้งพิษนี้มาในรูปของอาหาร อารมณ์ หรือแม้แต่อากาศ
ดังนั้นเราจึงต้องมีกระบวนการล้างพิษออกจากร่างกาย เช่นการดีทอกซ์ การอาบน้ำร้อนหรืออบตัว การออกกำลังกายให้เหงื่อออกเยอะๆ รวมถึงการถ่ายเลือดสำหรับรายที่แย่จริงๆ
ที่สำคัญสุดคือ อาหาร มนุษย์เราไม่ควรกินอาหารที่มีการฟอกขาว รวมทั้งฟาสต์ฟู้ดทั้งหลาย โดยอาหารที่เหมาะกับร่างกายคือ ผัก พืช ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ส่วนเนื้อปลาอาจกินสักสัปดาห์ละครั้ง
“บางคนคิดว่าการกินอาหารบำรุงต้องเป็นเนื้อ นม ไข่ เพราะมีทั้งโปรตีน และไขมัน แต่ถ้าลองเปรียบเทียบกัน ถั่วเหลือง 200 กรัม กับเนื้อปริมาณเท่ากัน ถั่วเหลืองมีแคลลอรี่มากกว่า 2 เท่าครึ่ง คนที่บอกว่าไม่กินเนื้อ ไม่กินหมู ไม่กินไก่ แล้วไม่มีแรง จึงไม่เป็นความจริง เพราะโปรตีนจากพืชสูงกว่า”
นอกจากอาหารแล้ว การฝึกจิต ควบคุมความคิดและอารมณ์ไม่ให้ขุ่นมัว ก็สำคัญ เพราะหากจัดการไม่ได้ ก็จะทำให้ระบบในร่างกายปรวนแปรไปด้วย อาจารย์จึงแนะนำให้เรารู้จักขอบคุณสิ่งที่อยู่รอบตัวมากขึ้น เพราะจะทำให้เราคิดถึงตัวเองน้อยลง คิดถึงคนอื่นมากขึ้น
“Positive Thinking ตื่นขึ้นมาก็ทำได้แล้ว อาบน้ำสักขันมันเย็นสบายเหลือเกิน เราก็ขอบคุณการประปาที่จัดน้ำมาให้เรา ส่วนคนที่เจ็บป่วย โอกาสที่จะมองโลกแง่ดีก็คงยากหน่อย เราก็ให้เขาเดิน 100 ก้าวทุกวัน ซึ่งหากคนที่ท้อถอยอาจจะคิดว่า ยังเหลืออีกเท่านั้นเท่านี้ แต่ถ้าคิดกลับกันวันนี้เดินได้ 2 ก้าว พรุ่งนี้อาจจะเดินได้ 5 ก้าว เหลือเท่าไหร่ไม่ต้องคิด ถ้าคิดแบบนี้มีโอกาสสำเร็จ”
ตลอดสิบกว่าปี มีผู้ป่วยอาการหนักมาขอหาให้ช่วยรักษาตลอดเวลา ซึ่งอาจารย์ก็แนะนำวิธีการให้ รวมถึงใช้ยา ถ่ายเลือด และฝังเข็มร่วมด้วยเป็นบางครั้ง โดยวิธีนี้สามารถใช้ร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบันได้ ถือเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกัน แต่สุดท้ายจะสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องขึ้นกับผู้ป่วยด้วยว่าช่วยตัวเองหรือไม่ เพราะไม่ทำอะไรเลย อาจารย์ก็ช่วยไม่ไหวเหมือนกัน
ทว่าด้วยความที่แนวคิดชีวจิตเป็นของใหม่ และต่างจากที่คนคุ้นเคยจึงมีเสียงต่อต้านไม่น้อย บวกกับอาจารย์เองไม่ได้มีใบประกอบโรคศิลป์ จึงมักถูกเรียกว่า ‘หมอเถื่อน’ แต่อาจารย์ก็ไม่ได้สนใจ เพราะยึดความบริสุทธิ์ใจเป็นสำคัญ
“ถ้าเอาเรื่องประกาศนียบัตร เรื่องกระดาษใบเดียวมาวัด เขาเป็นแพทย์ ผมไม่ใช่แพทย์ แต่ผมเป็นหมอ เพราะผมรักษาคนได้ ตามความหมายของผม หมอควรจะเป็นคนที่ช่วยรักษาคนไข้ให้หายจากทุกย์ยาก ให้หายจากความเจ็บป่วย ผมทำเป็นการกุศลทั้งนั้น ไม่เคยคิดเงินคิดทอง ก็ยิ่งถูกโจมตีมากว่า ต้องมีอะไรเป็นเบื้องหลังแน่นอน แต่ว่าคติของผม มีอยู่สองอาชีพที่เป็นการค้าเป็นธุรกิจไม่ได้ คือหมอกับครู ถ้าสองอาชีพนี้กลายเป็นธุรกิจ กลายเป็นการค้าเมื่อไหร่ สังคมจะเสื่อมล่มสลายไป”
จากความมุ่งมั่นนี่เอง ทำให้อาจารย์ขับเคลื่อนกลุ่มชีวจิตได้อย่างมั่นคง
03
ชีวจิตฟีเวอร์!
ในปี 2536 อาจารย์สาทิสเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ‘ชีวจิต’ เพื่อเป็นคู่มือเบื้องต้นของการเริ่มต้นการใช้ชีวิตอย่างเข้าใจธรรมชาติ แล้วตามมาด้วย ‘ชีวิตเริ่มต้นเมื่อ 70’ และ ‘มะเร็งแห่งชีวิต’ แต่ทั้งหมดยังจำกัดอยู่แค่ในวงแคบๆ อยู่
กระทั่งปี 2541 สำนักพิมพ์คลินิกบ้านและสวน ในเครืออมรินทร์ นำหนังสือชีวจิตกลับมาพิมพ์ซ้ำ นอกจากนี้ รายการเจาะใจ ทางช่อง 5 ยังเชิญอาจารย์ไปร่วมรายการพร้อมกับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่สุขภาพดีขึ้นหลังนำโปรแกรมชีวจิตมาปรับใช้
แม้อายุอายุ 72 ปีแล้ว แต่อาจารย์ยังดูแข็งแรง เหมือนเพิ่งผ่านวัยเกษียณมาไม่นาน โดยวันนั้นอาจารย์ได้ฉายภาพให้เห็นว่า ชีวจิตคืออะไร มีผลต่อชีวิตเราอย่างไร พร้อมแนะนำวิธีรับประทานอาหารที่เหมาะสม เช่น ทำน้ำผักอย่างไรไม่ให้เอนไซม์ในผักเสียไป รวมถึงน้ำอาร์ซี หรือน้ำธัญพืชซึ่งใครๆ ก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
ทันทีที่เทปนี้ออกอากาศ กระแสชีวจิตก็โด่งดังไปทั่วประเทศ หนังสือที่อาจารย์เขียน กลายเป็น Best Sellers มียอดพิมพ์หลักแสน จนสำนักพิมพ์ต้องนำหนังสือเล่มอื่นๆ มาพิมพ์ซ้ำ รวมทั้งออกเล่มใหม่อย่าง ‘กูแน่’ และ ‘อาหารชีวจิต’
ส่วนรายการเจาะใจ ก็มีผู้ชมทางบ้านกระหน่ำโทรศัพท์เข้ามาไม่ขาดสาย เพื่อเรียกร้องหาช่องทางติดต่ออาจารย์ ตลอดจนให้นำตอนชีวจิตกลับมาออกอากาศซ้ำ เนื่องจากสมัยนั้นยังดูย้อนหลังไม่ได้
เช่นเดียวกับอาหารชีวจิต ทั้งข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ซึ่งแต่ก่อนไม่มีใครกินเพราะมองเป็นข้าวคนคุก ก็ขายดิบขายดี รวมถึงน้ำผักคั้นสดและน้ำอาร์ซี ไม่ว่าจะไปร้านก๋วยเตี๋ยวหรือร้านข้าวแกงที่ไหนก็มีขาย แม้แต่กลุ่มออกกำลังกายตามสวนสาธารณะที่ผุดมากมายในช่วงนี้
“ตอนนั้นจะตายจริงๆ เพราะว่าไม่มีเวลาเลย โทรศัพท์เข้ามาตั้งแต่ตี 5 ถึงสองยามตี 1 โทรศัพท์ไหม้ไปเลย เสียไปเลย 2 เครื่อง เอาไปทำใหม่ก็เสียอีก ขนาดคนมาหานี่นั่งรถบัสคันใหญ่มาจากต่างจังหวัด มาจอดหน้าบ้านแล้วจะมาในบ้านให้ได้ บางคนหิ้วกระเป๋ามาถึง วางหน้าบ้านแล้วบอกว่าถ้าไม่รับรักษาก็จะอยู่ตรงนี้ จะนอนตรงนี้”
ด้วยกระแสนิยมที่ล้นหลามเกินคาด ทำให้อาจารย์ตัดสินใจร่วมกับ ‘ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์’ เจ้าของสำนักพิมพ์อมรินทร์ ซึ่งวยเป็นมะเร็ง และหันมาใช้แนวทางของชีวจิตอยู่พอดี เปิดตัวนิตยสารใหม่ หวังเป็นช่องทางสร้างความเข้าใจเรื่องชีวจิตให้ชัดเจนมากขึ้น ทันทีที่เปิดตัวก็มีผู้สมัครสมาชิกมากกว่า 2,000 คน นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของนิตยสารเมืองไทย
แต่ที่สำคัญสุดคือ การเติบโตของกระแสแพทย์ทางเลือกและแพทย์ผสมผสาน เพราะที่ผ่านมาถึงจะมีองค์กรที่ขับเคลื่อนประเด็นนี้ไม่น้อย แต่ไม่เคยมีพลังพอที่จุดพลุให้สังคมตื่นตัวเท่าครั้งนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า ชีวจิตคือหนึ่งในประตูบานบานสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบสุขภาพเมืองไทย แม้กระทั่งกระทรวงสาธารณสุข และแพทย์ยังต้องเหลียวกลับมามอง
04
ชีวจิต ชีวิตที่ไม่มีวันตาย
แม้อายุ 80 กว่า แต่อาจารย์สาทิสก็ยังไม่ยอมเกษียณ ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง และมีความสุขที่ได้แบ่งปันความรู้แก่ผู้คนไม่เปลี่ยนแปลง
“ทำงานจนอายุขนาดนี้ก็เรียกว่าผิดธรรมดาไปหน่อยแล้ว อาจเพราะผมศึกษาเรื่องการแพทย์ผสมผสาน ทำให้รู้วิธีชะลอความเสื่อม ไม่ใช่ชะลอความแก่นะ แล้วเราทำมาเรื่อยๆ จนเกินความเป็นธรรมดามากว่า 20 ปี”
บุคคลหนึ่งซึ่งอาจารย์ยกเป็นแรงบันดาลใจ คือ Ernest Borgnine นักแสดงตุ๊กตาทองชาวอเมริกัน ซึ่งแม้อายุ 90 กว่าแล้ว ก็ยังสนุกที่ได้ทำงานอยู่เสมอ
“หลักการทำงานของเออร์นี่มีอยู่อย่างเดียว คือเอาจริงเอาจัง และทำงานหนัก เงินทองไม่ต้องพูดถึง ขอให้เขาได้เล่นหนัง ก่อนเล่นของให้ได้ดูบทอย่างละเอียด ตีบทให้แตก ได้อย่างที่ใจเขาอยากแสดง แค่นั้นเขาก็พอใจแล้ว อย่างเรื่องที่เขาได้ตุ๊กตาทอง ครั้งนั้นเขาได้ค่าตัวเพียง 5,000 เหรียญเท่านั้นเอง.. ตอนอายุ 90 เขาประกาศว่าต้องเล่นบทหนักๆ อีกเรื่องหนึ่งให้ได้ เขาบอกว่า ถ้าได้ทำงานอยู่หน้ากล้องภาพยนตร์เมื่อไหร่ เขาจะรู้สึกมีชีวิตชีวาและเป็นหนุ่มขึ้นทันที
“แต่เมื่อเขาส่งข่าวการอยากทำงานไปยังบริษัทภาพยนตร์ ก็มักจะได้รับคำตอบว่า ‘อ้าวนี่แกยังไม่ตายอีกรึ?’ ผมยังอายุไม่เท่าเออร์นี่ และยังอยากทำงานอยู่ หวังว่าคงไม่ถูกถามเหมือนเออร์นี่ว่า ‘อ้าวนี่แกยังไม่ตายอีกรึ?’ หรอกนะ”
อาจารย์ยังคงเดินสายเป็นวิทยากรให้ความรู้ตามสถาบันต่างๆ เป็นบรรณาธิการที่ปรึกษานิตยสารชีวจิต มีผลงานหนังสือใหม่ๆ เป็นประจำทุกปี และมีไอเดียใหม่ๆ อย่าง ‘ชีวจิตโฮม’ ซึ่งเป็นคอร์สแบบเข้มข้น ด้วยความหวังที่จะสร้างระบบพี่เลี้ยงให้เกิดขึ้นในเครือข่าย
แต่ถึงอย่างนั้น อาจารย์ก็ตระหนักดีว่า แม้แนวคิดชีวจิตจะแพร่ไปไกลทั่วประเทศ แต่คนที่ปฏิบัติอย่างจริงจังกลับมีไม่มากนัก ส่วนมากทำแบบผิวเผิน ทำบ้างไม่ทำบ้าง แต่ก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะสะท้อนว่าคนไทยหันมาสนใจสุขภาพมากกกว่าที่เคย และอาจารย์ยังหวังว่าจะเห็นชีวจิตคงอยู่คู่เมืองไทยตลอดไป เพื่อสร้างสังคมแห่งสุขภาพที่แท้จริง
อย่างไรก็ดี ในปี 2555 อาจารย์สาทิสในวัย 86 ปี ประสบอุบัติเหตุหกล้มที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง หลังจากนั้น 2 วันก็จากไปด้วยอาการเส้นเลือดในสมองส่วนก้านสมองตีบเฉียบพลัน
แต่ถึงอาจารย์จะจากไปแล้ว หากองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่อาจารย์ถ่ายทอดมอบให้คนไทยมานานถึง 26 ปีก็ไม่เคยหายไปไหน และยังคงถูกส่งต่อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์
เรียบเรียงและภาพประกอบ
- นิตยสาร Hi-Class ปีที่ 15 ฉบับที่ 170 เดือนกรกฎาคม 2541
- นิตยสารสารคดี ปีที่ 14 ฉบับที่ 161 เดือนกรกฎาคม 2541
- นิตยสารหญิงไทย ปีที่ 25 ฉบับที่ 592 ปักษ์แรก เดือนมิถุนายน 2543
- นิตยสารชีวจิต ปีที่ 3 ฉบับที่ 49 วันที่ 16 ตุลาคม 2543
- นิตยสาร Secret ปีที่ 2 ฉบับที่ 47 วันที่ 10 มิถุนายน 2553
- หนังสือกินเพื่อชีวิต : บทสนทนาเพื่อความรู้ด้านชีวจิตระหว่าง ดร.สาทิส อินทรกำแหง และ สุทธิชัย หยุ่น
- หนังสือที่ระลึกวันครอบครัวชีวจิต ครั้งที่ 4 และวันคล้ายวันเกิด สาทิส อินทรกำแหง ครบ 81 ปี
- วิทยานิพนธ์การศึกษาเครือข่ายการสื่อสารของกลุ่มชีวจิต โดย จารุณี พัชรพิมานสกุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปอเด(สน.บท.) ดีครับ เรื่องดีท็อกซ์เอามาปรับใช้และโกรทฮอร์โมน
28 มิ.ย. 2563 เวลา 00.53 น.
นุ้ย ด้วยความเคารพ อาจารย์ท่านเป็นผู้ที่ดูแลเอาใจใส่ในสุขภาพตามแนวชีวจิตมาก แต่สงสัยว่าท่านเสียชีวิตด้วยโรคอะไร ? และท่านเสียตอนอายุเท่าไร ?( ดูเหมือนจะประมาณ70กว่า ) เลยงงว่าคนที่ดูแลสุขภาพแบบชีวจิตขนาดนี้น่าจะอายุยืน
03 ก.ค. 2563 เวลา 17.16 น.
ดูทั้งหมด