เรื่องบุญเป็นเรื่องที่มีข้อถกเถียงกันอย่างหนักสำหรับพุทธศาสนิกชน หลายคนมักเข้าใจกันผิด ๆ ว่า การทำบุญเจาะจงเฉพาะการถวายข้าวของแก่พระสงฆ์ หรือแก่วัดเท่านั้น เช่น ถวายสังฆทาน กฐินทาน เสนาสนะทาน วิหารทาน ฯลฯ แต่จริง ๆ การทำทานเหล่านี้เป็นเพียงปลายทางหนึ่งของการทำบุญเท่านั้น
การทำบุญไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้รับคือพระสงฆ์เท่านั้น จะเป็นบิดามารดาซึ่งเป็นพระในบ้านก็ได้ ให้แก่คนทั่วไปที่ตกทุกข์ได้ยากก็ได้ หรือแม้แต่กับสัตว์เดรัจฉานก็ได้เช่นกัน เพราะบุญคือเครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส บริสุทธิ์จากอะไร ? ก็บริสุทธิ์จากความเห็นแก่ตัว จากความมีจิตใจคับแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว ความหลงใหลได้ปลื้ม ความอยากได้ใคร่มีในอะไรต่าง ๆ
ดังนั้นการทำบุญก็คือการตัดความเห็นแก่ตัว ตัดกิเลสต่าง ๆ โดยหวังผลให้เกิดกับ “ผู้อื่น” ไม่ใช่เกิดขึ้นกับ “ตัวเอง” บุญที่แท้จริง จึงประกอบด้วยกุศลธรรม เป็นการทำความดีทางกาย วาจา ใจ เป็นไปเพื่อการขูดเกลากิเลส กำจัดความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ได้ ออกไปจากจิตใจ ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง เป็นความสุขใจความสบายใจ
แต่การทำบุญเดี๋ยวนี้ผิดเพี้ยนไปมาก แก่นแท้ของการทำบุญถูกบิดเบือนไปจนหลายคนเข้าใจผิดว่าทำบุญแล้วต้องได้บุญเท่านั้น ทั้งที่ความจริงการทำบุญก็มีระดับของบุญมาก บุญน้อย และใช่ว่าทำบุญทุกครั้งจะได้บุญเสมอไป โดยเฉพาะการทำบุญ 3 วิธีต่อไปนี้ที่ไม่เพียงแต่จะได้บุญน้อย แต่เผลอ ๆ อาจจะไม่ได้บุญเลยด้วยซ้ำ
ทำบุญโดยที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย
หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า “ทำบุญได้บาป” กันมาบ้าง สิ่งที่ทำให้การทำบุญแล้วไม่ได้บุญ แต่ดันได้บาปมาแทนก็เพราะความไม่รู้ แม้จะบอกว่าการไม่รู้ย่อมไม่ผิด แต่เมื่อผลแห่งการกระทำได้เกิดขึ้นแล้ว ยังไงคนที่ไม่รู้ก็ย่อมต้องมีวิบากกรรมติดตัวไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยกตัวอย่างเช่น การปล่อยปลา ปล่อยเต่า ปล่อยนก ไถ่ชีวิตโค-กระบือ ซึ่งเป็นการทำบุญที่นิยมกันมากเป็นอันดับต้น ๆ ถามว่าการทำบุญแบบนี้ทำไมได้บาปก็เพราะความไม่รู้นั่นแหละ ที่ทำให้บุญกลายเป็นบาปโดยไม่รู้ตัว
จริง ๆ แล้วการช่วยชีวิตสัตว์เป็นเรื่องที่ดี เป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ แต่ครั้นจะปล่อยสัตว์ไปตามมีตามเกิดโดยไม่รู้ธรรมชาติของสัตว์นั้น ๆ เลยว่าเมื่อปล่อยไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นจะมีชีวิตต่อไปอย่างไร ไม่เรียกว่าการทำบุญ เพราะหากปล่อยเต่าบกลงไปในน้ำ แน่นอนว่าเต่าไม่มีทางมีชีวิตอยู่ในน้ำได้ สุดท้ายเต่าก็จะตาย กลายเป็นบาปของผู้ปล่อยนั่นเอง
ดังนั้นก่อนจะปล่อยทุกชนิดต้องเรียนรู้ชีวิตของสัตว์ประเภทนั้นให้ดีเสียก่อน หากทำไปโดยไม่ศึกษาให้ดีและเกิดผลร้ายแก่สัตว์ตัวนั้น นั่นคือกรรมที่ผู้ปล่อยจะได้รับกลับมาแทนที่จะเป็นบุญตามที่ตั้งใจไว้ แม้กรรมจะอยู่ที่เจตนา และผู้ปล่อยไม่ได้มีเจตนาทำให้สัตว์นั้นตาย แต่สุดท้ายเมื่อสัตว์นั้นตายเพราะผู้ปล่อย ยังไงก็ได้รับวิบากแห่งกรรมนั้นอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ต้องดูที่ "ผลลัพธ์" หากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับสัตว์ตัวนั้นดี ผู้ปล่อยช่วยแล้วชีวิตมันสบายขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผู้ปล่อยก็จะได้รับวิบากกรรมที่ดี แต่หากผลลัพธ์เกิดแก่สัตว์ตัวนั้นไม่ดี ช่วยแล้วทำให้มันไปลำบากหรือตาย ผู้ปล่อยก็จะได้รับวิบากกรรมที่ไม่ดี
ไม่ต่างจากการไถ่ชีวิตโค-กระบือที่คนซื้อปล่อยจะไม่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา เพราะโค-กระบือจำนวนมากหลังจากที่ถูกไถ่ชีวิตแล้วไป "เพิ่มภาระให้แก่ผู้อื่น" ต้องมาเลี้ยงดูมัน บางทีเอามันไปอยู่ในวัด พระในวัดก็ต้องไปขนหญ้ามาเลี้ยงมันทั้งที่ผู้รับเขาไม่ได้ต้องการจะทำ ซึ่งตรงนี้ผู้ปล่อยจะได้รับวิบากกรรมจากการไปทำให้ผู้อื่นเกิดภาระเช่นกัน
ดังนั้นการทำบุญก็เหมือนก็ไม่ต่างกับการกินยา จะกินยาอะไรก็ต้องศึกษายาชนิดนั้นให้ดีก่อน จะช่วยชีวิตสัตว์ประเภทไหนก็ต้องศึกษาธรรมชาติของสัตว์ประเภทนั้นให้ดีก่อน หรือจะทำบุญกับพระรูปไหนก็ต้องศึกษาพระรูปนั้นก่อนเหมือนกัน มิเช่นนั้นนอกจะไม่ได้บุญแล้ว ยังเผลอทำบาปโดยไม่รู้ตัวอีกต่างหาก
ทำบุญโดยหวังผลตอบแทน
น่าจะเป็นเรื่องปกติของการทำบุญที่จะขอพรหรือภาวนาให้ชีวิตพบเจอแต่ความสุขความเจริญ แต่มั่นใจแล้วหรือ..ว่าทำบุญแล้วขอโน่น ขอนี่จะได้บุญตามที่ตั้งใจไว้แล้วจริง ๆ
บุญในพุทธศาสนาจะต้องเป็นการทำเพื่อหวังผลอันจะมีต่อผู้อื่นเท่านั้น ไม่ใช่ทำเพื่อที่ตนจะได้อะไรตอบแทนกลับมา พุทธศาสนาสอนให้ทำอย่างชนิดที่เรียกว่าไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทำแบบปิดทองหลังพระ ไม่หวังผลตอบแทน ไม่ทำเอาหน้า นี่จึงจะเป็นบุญที่บริสุทธิ์อย่างแท้จริง
การจะเดินตามรอยพระพุทธเจ้า เราจะต้องทำเพราะอยากให้ ไม่ใช่ทำเพราะอยากได้ เพราะจิตที่คิดจะให้นั้น คือการทำลายความเห็นแก่ตัว ซึ่งสูงส่งกว่าจิตที่คิดจะเอาอย่างชนิดที่เทียบกันไม่ได้เลย ความดีก็คือความดี ธรรมะต้องตรงไปตรงมา ถ้าการกระทำใดมีกิเลสสอดแทรกอยู่เบื้องหลังการกระทำ แบบนั้นต้องเรียกเป็นอย่างอื่น ไม่เรียกว่าความดี
ดังนั้นหากทำบุญแล้วหวังให้ตนเองได้ขึ้นสวรรค์ ได้มีเงิน มีทองรวยล้นฟ้ามหาศาล ก็คือการทำบุญโดยหวังสิ่งตอบแทน แบบนี้คือการทำบุญโดยมีกิเลสเป็นตัวชักนำ ทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา เป็นของ ๆ เรา เป็นตัวตนของเรา เจริญสักกายทิฐิอยู่ทุกการกระทำ อย่างนี้เป็นโลกิยะธรรมที่ผูกสัตว์ให้วนเวียนในสังสารวัฏ ไม่ใช่แนวทางพระพุทธศาสนา และที่สำคัญไม่เกิดผลบุญอะไรเลยตามมาเลยด้วย
ทำบุญโดยที่ผู้ให้ ของที่ทำ หรือผู้รับ ไม่บริสุทธิ์
ปกติคนเราทำบุญก็มักไม่ได้คิดอะไรกันมาก คิดแค่ว่าทำบุญ ให้ทานแล้ว ตัวเองสบายใจก็พอ ส่วนคนรับจะเป็นเช่นไรก็สุดแล้วแต่คาดเดาได้
คนส่วนใหญ่ทำบุญกันแบบนี้ ทำบุญตรงไหนก็ได้ที่ทำแล้วสบายใจก็พอแล้ว เป็นบุญแล้ว ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่ คนส่วนใหญ่มองข้ามผลลัพธ์ เอาแต่มองความสบายใจของตัวเองอย่างเดียว ทำบุญแบบมักง่าย เป็นการทำบุญที่ขาดปัญญาเพราะทำโดยอาศัยความเชื่อ อาศัยประเพณี อาศัยความสบายใจของตัวเองเป็นใหญ่ ไม่ศึกษาให้ดีก่อนทำ ไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
พระพุทธเจ้าได้ตรัสลักษณะของการให้ทานไว้ว่า ทานนี้เมื่อให้ไปแล้วผลที่ได้รับไม่เท่ากัน ดังนั้นการทำบุญ ทำทานที่ให้ผลบุญมากหรือน้อยจึงประกอบด้วย 3 สิ่งสำคัญได้แก่ ผู้ให้ ของที่ทำ และผู้รับ
อย่างที่บอกว่าบุญคือเครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส บริสุทธิ์จากอะไร ? ก็บริสุทธิ์จากความเห็นแก่ตัว จากความมีจิตใจคับแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว ความหลงใหลได้ปลื้ม ความอยากได้ใคร่มีในอะไรต่าง ๆ
เมื่อจะทำบุญทำทานผู้ให้มักมีเจตนาที่บริสุทธิ์เป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องคำนึงด้วยก็คือของที่ทำ และผู้รับว่าบริสุทธิ์เช่นเดียวกันหรือไม่
ของที่ทำต้องเป็นวัตถุบริสุทธิ์ คือของที่จะนำมาให้เป็นทานนั้น เป็นสิ่งที่เราได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ว่าจะน้อยหรือ
มาก ประณีตหรือไม่ประณีต ไม่ได้ไปโกงกินหรือขโมยเขามา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ใจเช่นนี้ถือว่าวัตถุบริสุทธิ์
ส่วนผู้รับเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจ แต่จริง ๆ แล้วผู้รับก็คือส่วนหนึ่งของบุคคลบริสุทธิ์ เพราะนอกจากเราซึ่งเป็นผู้ให้แล้ว ผู้รับก็ต้องบริสุทธิ์ด้วยจึงจะได้ผลบุญมาก
เพราะฉะนั้น หากจะทำบุญอย่าหวังเพียงแค่ทำแล้วตัวเองสบายใจ แต่ให้ดูผลลัพธ์จากการกระทำนั้นเป็นหลัก ถ้าผลลัพธ์ที่เกิดแก่ผู้อื่นออกมาดีก็จะได้รับวิบากที่ดี แต่ถ้าผลลัพธ์ออกมาไม่ดีก็จะได้รับวิบากที่ไม่ดีเช่นกัน
คนทั่วไปมีภาพจำของการทำบุญอยู่แค่การตักบาตร การให้ทาน แต่จริง ๆ แล้ว “บุญ” มีขอบเขตที่กว้าง ทำได้ง่าย และไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียวก็ได้บุญอันยิ่งใหญ่ได้
ยกตัวอย่าง “การช่วยชีวิตคนให้พ้นการเวียนว่ายเป็นมหากุศล ยิ่งกว่าสร้างเจดีย์แก้วเจ็ดชั้น” จะเห็นได้ว่าการได้บุญที่เป็นมหากุศลไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงิน จำนวนครั้ง หรือความยิ่งใหญ่อลังการใด ๆ ทั้งสิ้น แต่กุศลอันสูงสุดคือการให้ธรรมะเป็นทาน ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า การให้ธรรมเป็นทานนี้ชนะการให้ทั้งปวง ได้บุญกุศลมากเสียยิ่งกว่าการสร้างโบสถ์ สร้างวิหารเสียอีก
ส่วนที่ทำบุญเพราะอยากรวย คิดว่าทำบุญแล้ว ผลบุญจะส่งให้ทั้งชาตินี้และชาติหน้าประสบพบเจอความร่ำรวย ก็อาจต้องคิดเสียใหม่ อย่าไปหวังทำบุญเพราะจะรวย ยิ่งรวยได้เร็ว ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย อย่าลืมว่าความรวย ความจนขึ้นอยู่กับวิบากกรรมแต่เก่าก่อนด้วย ถ้ากรรมในอดีตออกแบบมาให้รวย ยังไงก็รวย แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในช่วงจังหวะที่วิบากกรรมเก่าออกแบบไว้ ยังไงก็รวยไม่ได้ ถึงจะถูกหวยแต่ก็หายไปในพริบตาอยู่ดี เพราะทุกสิ่งทุกอย่างถูกเตรียมไว้อย่างเหมาะสมแล้ว
สรุปก็คือการทำบุญเป็นเรื่องของจิตใจอันบริสุทธิ์ ต่อให้ไม่มีเงินสักบาท แต่ถ้าอยากทำบุญ อยากได้บุญกุศล ก็ยังมีอีกหลายร้อยวิธีที่ทำให้เกิดบุญได้ ไม่ว่าจะรักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา หรือแม้แต่สิ่งที่ง่ายกว่านั้นอย่างการคิดดี ทำแต่ความดี ก็เป็นบุญกุศลได้โดยไม่โดยรู้ตัวแล้ว~
อ้างอิง
Nin บิดเบือนคำสอน เป็นอย่างมาก
26 ก.ย 2565 เวลา 10.37 น.
Tono Tsuna ทำบุญก็เท่ากับทำความดี ชีวิตดีบางส่วนก็เพราะบุญกุศลที่เคยทำมา ไม่มีหรอกทำบุญไม่ได้บุญ มันมีแต่ทำคุณคนไม่ขึ้นตะหาก
13 ก.ย 2565 เวลา 02.56 น.
T.cho มึงคิดว่ามึงเป็นใครว่ะ อวดฉลาดเกินมนุษย์สะงัง
01 ก.ย 2565 เวลา 13.22 น.
🍅🍊กัลยา 456🍊🍅 ถูกต้องแล้วค่ะสาธุๆๆ
23 พ.ย. 2563 เวลา 03.30 น.
Sirithep เขียนบทความไม่ได้รู้เรื่อง บุญก็ส่วนบุญ อานิสงส์ ส่วนอานิสงส์
เขียนบทความควรถามพระที่มีความรู้ อย่าเอาความรู้ในเว็บไซต์มาลงบทความ
เหมือนคนหิวข้าวแต่เงิน
การทำบุญที่บอกไม่ได้บุญ ใครเป็นคนบอก นั่งย้อนเวลาไปถามตถาคตเหรอ มโนจริงๆ พระเปรียญจะมาตอบว่า โยมเขียนมั่ว 80%
20 พ.ย. 2563 เวลา 23.54 น.
ดูทั้งหมด