ไลฟ์สไตล์

การออกก่อนเวลา ถือเป็นความผิดร้ายแรงของรถเมล์ญี่ปุ่น !! - เพจ Eak SummerSnow

TOP PICK TODAY
เผยแพร่ 09 ต.ค. 2563 เวลา 18.35 น. • เพจ Eak SummerSnow

รถเมล์หรือรถประจำทางถือเป็นการเดินทางที่ประหยัดในบ้านเรานะครับ เมื่อเทียบราคากับขนส่งสาธารณะแบบอื่น แม้ว่าบางทีมันก็มีเรื่องไม่สะดวกอยู่บ้าง อาจต้องเจอรถที่สภาพไม่ดี เจอคนขับจอดไม่ตรงป้าย ฯลฯ รวมถึงความไม่ตรงเวลาของรถเมล์ก็อาจจะทำให้รู้สึกหัวเสียกันเป็นประจำ

แต่ในญี่ปุ่นแล้ว รถเมล์ญี่ปุ่นถือเป็นขนส่งสาธารณะที่ราคาไม่ได้ถูกเลยครับ ยิ่งถ้าเป็นรถเมล์ที่วิ่งระยะไกลหรือวิ่งขึ้นเขา ราคารถเมล์จะพุ่งพรวดจนกระเป๋าเงินแทบสั่นเลย ราคาโดยรวมแล้วแพงกว่ารถไฟด้วยซ้ำไป แต่ที่คนญี่ปุ่นนิยมนั่งรถเมล์กันอยู่แม้จะราคาค่อนข้างสูง นั่นก็เพราะความสะดวกนั่นแหละครับ 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วนมากคนที่ใช้รถเมล์มักจะเป็นผู้สูงอายุ เพราะบางทีรถไฟนั้นต้องวิ่งอ้อมหรือต้องเปลี่ยนสาย แถมวิธีใช้รถไฟก็ยังยากกว่า ต้องเดินไกลและมีความวุ่นวายมากกว่า ขณะที่รถเมล์นั้นป้ายอยู่ริมถนน สามารถขึ้นได้เลย ผู้สูงอายุก็เลยนิยมในการขึ้นรถเมล์มากกว่า

รถเมล์ในญี่ปุ่นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ อย่างโตเกียวนั้นเรียกว่ามีความตรงต่อเวลาค่อนข้างมากเลยครับ โดยเขาจะมีระเบียบขั้นตอนหลายอย่างเพื่อทำให้มาตรงต่อเวลา เช่น เคยมีการเปิดเผยว่าในช่วงที่รถติดและรถเมล์ทำท่าจะไปถึงที่ป้ายไม่ทันเวลา รถเมล์ของญี่ปุ่นจะใช้วิธีการส่งสัญญาณแจ้งไปที่หน่วยควบคุมการจราจรโดยอัตโนมัติ เพื่อให้หน่วยควบคุมจราจรทำการวางแผนปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรให้ช่องจราจรของฝั่งที่มีรถบัสนั้น เปลี่ยนเป็นสีเขียวเพื่อช่วยให้รถไปทันเวลาเลยทีเดียว ! (อ้างอิงจากรายการ 超問クイズ! 真実か?ウソか?ช่องนิปปอนทีวี)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ถึงจะมีระบบแบบนี้ การดีเลย์ของรถเมล์ก็ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อยู่บ้าง เพราะว่ารถเมล์มีหลายปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ทั้งสภาพการจราจรบนถนน ผู้โดยสารที่เวลาขึ้นลงอาจจะไม่ได้เตรียมเงินไว้อย่างพอดี อุบัติเหตุบนท้องถนน และอื่น ๆ นั่นทำให้อาจส่งผลต่อความล่าช้าไม่ตรงต่อเวลาของรถเมล์ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

แต่รู้หรือไม่ว่ามีกฎหมายอยู่ฉบับหนึ่ง ที่ใช้ควบคุมเรื่องความตรงต่อเวลาของรถเมล์ในญี่ปุ่นด้วยเหมือนกัน และเป็นกฎหมายที่ใช้มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1942 กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีไว้ใช้ควบคุมหรือลงโทษรถเมล์ที่มาสาย มาช้า หรือดีเลย์แต่อย่างใด แต่มันมีไว้เพื่อควบคุมไม่ให้ “รถเมล์ออกก่อนเวลา” ต่างหากครับ !!

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หืออออ ? การออกก่อนเวลานี่มันเป็นอะไรเสียหายถึงขนาดต้องกำหนดไว้เป็นกฎหมายเลยอย่างนั้นเหรอ ?

คำว่าห้ามออกก่อนเวลา ในที่นี้คือเข้มงวดในระดับวินาทีเลยนะครับจะ 5 วินาที หรือ 1 วินาทีก็ไม่ได้ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว คนขับก็ยังจะถูกลงโทษจากทางบริษัทอีกด้วย เรียกว่าบริษัทรถเมล์ก็จะถูกลงโทษทางกฎหมาย ส่วนคนขับก็จะถูกลงโทษจากบริษัททั้งการตัดเงินเดือน ร่วมถึงออกจดหมายแจ้งเตือนทางวินัย เพราะถือเป็นการละเมิดกฎที่สำคัญ

สาเหตุที่เขาต้องมีการออกกฎเพื่อควบคุมการออกรถก่อนเวลานี้ ก็เพราะต้องการที่จะสร้างให้สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ตรงต่อเวลานั่นเองครับ เพราะรถเมล์ญี่ปุ่นนั้นจะมีตารางเวลาออกที่ชัดเจน ดังนั้นผู้โดยสารก็จะพยายามมารอให้ทันเวลารถ ซึ่งนี่เป็นรากฐานของการฝึกให้คนญี่ปุ่นตรงต่อเวลา และเห็นเวลาเป็นเรื่องสำคัญ 

ดังนั้นผู้โดยสารก็จะต้องทำทุกทางเพื่อมาขึ้นรถเมล์ให้ทันเวลา ถ้ารถออกก่อนเวลาจนทำให้ผู้โดยสารตกรถทั้ง ๆ ที่เขามาตรงตามเวลา จึงเป็นเรื่องที่ให้อภัยไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นรถเมล์บางคันในต่างจังหวัดที่จะวิ่งไม่ถี่เหมือนในเมือง ถ้าหากผู้โดยสารตกรถไปซักคันนึงก็อาจจะต้องรอนานเป็นชั่วโมงเลยก็เป็นได้ 

การออกก่อนเวลาจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ และคนที่ได้รับผลกระทบจากการออกก่อนเวลานี้สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทรถเมล์ได้อีกด้วย ซึ่งการออกรถก่อนเวลานั้นต่างจากการที่รถมาสายหรือออกหลังเวลา เพราะนั่นถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ถ้าหากรถเมล์มาสายก็จะทำการชดเชยเวลาด้วยการเพิ่มความเร็ว (แบบไม่เกินกำหนด) หรือการเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรแบบที่บอกไปก่อนหน้านี้ เพื่อให้ไปทันยังป้ายต่อไป

กฎหมายว่าด้วยการห้ามออกก่อนเวลานี้ ไม่ได้มีแต่รถเมล์เท่านั้นนะครับ สำหรับรถไฟในญี่ปุ่นก็มีกฎแบบนี้เช่นกัน อย่างเมื่อ 2 ปีก่อนก็เกิดข่าวใหญ่ในญี่ปุ่นเมื่อรถไฟ West Japan Railways (JR West) ต้องทำการแถลงข่าวขอโทษใหญ่โตเนื่องจากเกิดความผิดพลาดทำให้รถไฟชินคันเซนออกก่อนเวลา 25 วินาที ซึ่งสาเหตุนั้นเกิดมาจากความเข้าใจผิดของพนักงาน ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็ทำให้มีผู้ที่มาไม่ทันรถไฟและทำการร้องเรียนไปยังบริษัทรถไฟจนต้องออกมาขอโทษเป็นการใหญ่โตเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่ารากฐานของความตรงต่อเวลาของคนญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ระบบขนส่งมวลชนของเขาเป็นระบบที่ตรงเวลานั่นเอง เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนได้เข้าใจว่าเวลานั้นเป็นสิ่งมีค่าไม่ว่าจะเป็นเวลาแค่ 1 วินาทีก็ตาม ดังนั้นการที่จะสร้างให้ประชาชนให้มีลักษณะนิสัยตรงต่อเวลาได้ การมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญก็เป็นได้ครับ

อ้างอิงข่าวจาก Nippon TV

ติดตามบทความใหม่เกี่ยวกับเรื่องน่ารู้และเรื่องแปลก ๆ ของประเทศญี่ปุ่นทาง LINE TODAY: TOP PICK TODAY จากผมได้ทุกวันเสาร์นะครับ

ช่องทางการติดตามเพิ่มเติม

Facebook :Eak SummerSnow

Youtube : Eak SummerSnow

ความเห็น 10
  • โจโฉ
    บ้านเราสาย71 รวดเร็ว ทันใจ มีลุ้นเอาชีวิตรอดด้วยเป็นของแถม
    10 ต.ค. 2563 เวลา 10.00 น.
  • ก.ไก่
    รถเมล์ไทยกับป้ายรถเมล์เมื่อไหร่จะพัฒนาให้ดีกว่าทุกวันนี้ รอรถเมล์นานจนปวดขา ไม่จอดรับผู้โดยสารบ้าง แข่งกันบ้าง รีบจอดรีบออก ป้ายรถเมล์เป็นที่จอดรถส่งของ ซื้อของ ฯลฯ
    10 ต.ค. 2563 เวลา 09.09 น.
  • Cris
    มองโลก​มอง​กะลา
    10 ต.ค. 2563 เวลา 10.17 น.
  • nid Thananpatch
    ค่าโดยสารรถเมลล์ ค่าคิดเป็นเงินเยน ของญี่ปุ่น ก็ถือว่าไม่แพงเลย
    09 ต.ค. 2563 เวลา 23.59 น.
  • เหน่อ
    มาเจอสาย 8 สะพานพุทธ รับรอง จ๋อย สาย 8 ในตำนาน 5555
    10 ต.ค. 2563 เวลา 10.48 น.
ดูทั้งหมด