ทั่วไป

ยลโฉม "รถไฟไทยทำ" หรูหราทันสมัย ใช้ชิ้นส่วนในประเทศกว่า 40%

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 29 ก.ค. 2566 เวลา 14.05 น. • เผยแพร่ 28 ก.ค. 2566 เวลา 09.14 น.

สจล. เผยโฉม “รถไฟไทยทำ” หรูหรา-ทันสมัยสุดในอาเซียน โชว์ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศกว่า 40% ตามนโยบาย Thai First เตรียมส่งมอบให้ ร.ฟ.ท.ใช้งานเดือน ก.ย.นี้

วันที่ 28 กรกฎาคม 2566 รายงานข่าวจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ได้พัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ) ในชื่อรถไฟ “สุดขอบฟ้า (Beyond Horizon)” ที่ออกแบบและผลิตโดยคนไทย ใช้วัสดุ และอุตสาหกรรมภายในประเทศในการประกอบตู้รถไฟชนิด Luxury Class และ Super-Luxury ที่หรูหราและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยการสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) รองรับการให้บริการรถไฟระยะกลางในแนวเส้นทางรถไฟรางคู่ระยะ 200-500 กิโลเมตร และรถไฟท่องเที่ยวในแนวเส้นทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับสายการบินชั้นประหยัดและรถยนต์ส่วนบุคคล

โครงการวิจัยและพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ) เป็นฝีมือของนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับกิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด และ ร.ฟ.ท. ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. เพื่อพัฒนาตู้รถไฟโดยสารต้นแบบที่เน้นการวิจัยพัฒนาและรวบรวมเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นหลัก รองรับนโยบาย Thai First ของกระทรวงคมนาคม และนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตในประเทศ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยเฉพาะกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางที่ต้องการให้มีตัวรถไฟที่จะมีการซื้อ-ขาย ในอนาคต ต้องมีส่วนประกอบ หรือชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ (Local Content) ไม่น้อยกว่า 40%

และคาดว่าในอีก 20 ปี จะมีความต้องการตู้รถไฟโดยสารไม่น้อยกว่า 2,425 ตู้ จากการเพิ่มขึ้นของทางรถไฟที่ภาครัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คิดเป็นมูลค่ารถไฟต่อตู้ เฉลี่ยตู้ละ 50 ล้านบาท รวมมูลค่าสำหรับตลาดการผลิตตู้รถไฟโดยสารไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท

สำหรับตัวรถไฟ (Rolling Stock) เป็นแก่นของเทคโนโลยีที่มีความสำคัญในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของระบบราง จากการนำเข้าสินค้าประเภทตัวรถไฟ และส่วนประกอบตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2561 มีมูลค่าสูงถึง 80% เมื่อเทียบกับมูลค่ารวมของสินค้าทุกประเภทในระบบราง จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะเร่งกระบวนการสร้างผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่มีความพร้อมด้านการวิจัยและพัฒนา และการต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมขนส่งทางรางของไทย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดย รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า โครงการนี้มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาและรวบรวมเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นหลัก ร่วมกับการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตชิ้นส่วนที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง ตั้งเป้าต้องดำเนินการโดยใช้ชิ้นส่วนในประเทศได้ไม่น้อยกว่า 40% ตามนโยบาย Thai First

“เราสร้างรถไฟโดยสารต้นแบบ พร้อมอุปกรณ์ที่มี local content คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของมูลค่าสินค้า กรณีรวมแคร่รถไฟ และหากคิดเฉพาะตู้รถโดยสารพร้อมอุปกรณ์ประกอบ ไม่รวมแคร่รถไฟจะมี local content สูงกว่า 70% เราออกแบบตัวรถเอง โดยได้แรงบันดาลใจจากที่นั่งในเครื่องบินชั้นธุรกิจ และชั้นเฟิรสต์คลาสในรถไฟความเร็วสูง”

ที่นั่งมี 25 ที่ ประกอบด้วยชั้น Super Luxury 8 ที่ และชั้น Luxury 17 ที่ ทุกที่นั่งมีจอภาพส่วนตัวสำหรับให้บริการด้านความบันเทิง และสั่งอาหาร จะมีพนักงานเสิร์ฟหุ่นยนต์นำอาหารมาส่งถึงที่นั่ง และมีระบบห้องน้ำสุญญากาศและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งทางขึ้นรถไฟ ที่ได้รับการออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานของผู้พิการ ส่วนราคาค่าโดยสาร คาดว่าจะใกล้เคียงกับตั๋วแบบนอนของ ร.ฟ.ท.

“เราได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. และบริษัทกิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด ได้ผลงานคุ้มค่ากว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ เรายังพัฒนาตัวรถให้มีน้ำหนักเบาลง ด้วยระบบ Space Frame Modular Concept และแคร่รถไฟที่ทำความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีการจดทรัพย์สินทางปัญญา กว่า 7 ผลงาน และมีผู้ประกอบการที่สามารถผลิตและประกอบชิ้นส่วนในประเทศกว่า 10 บริษัทเข้าร่วม จึงช่วยสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมการผลิตรถขนส่งทางรางและสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมระบบรางตลอดห่วงโซ่การผลิต”

ด้าน รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. กล่าวถึงบทบาทของ บพข.ว่า “โครงการนี้ บพข.ได้ให้ทุนสนับสนุนโดยที่มีภาคเอกชนร่วมลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้วย เป็นการยืนยันว่าภาคเอกชนต้องการทำโครงการนี้อย่างจริงจัง เพราะเป็นโครงการที่มีศักยภาพสูงและคาดหวังให้ประสบความสำเร็จ เพราะคนไทยรอให้ประเทศมีรถไฟที่ทันสมัยแบบนี้มานาน

“ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากมักกลัวการทำ R&D เพราะต้องใช้เงินลงทุนและมีความเสี่ยง บพข.จึงต้องเข้ามาช่วยสนับสนุน โดยร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งนักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะ R&D สำคัญต่อการสร้างองค์ความรู้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ และประเทศ”

ขณะที่นายเมธัส เลิศเศรษฐการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด กล่าวว่า เชื่อว่าไม่ใช่แค่ไซโนเจน-ปิ่นเพชรที่ทำได้ ในประเทศมีอีกหลายบริษัท ทั้งที่มีขนาดใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าไซโนเจน-ปิ่นเพชร แต่มีศักยภาพ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ร่วมโครงการ คือการที่รัฐบาลได้ลงทุนกับระบบรางกว่าแสนล้านบาท ทำให้มีความต้องการรถไฟเพิ่มขึ้น แต่ต้องซื้อตัวรถเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากยังไม่สามารถผลิตเองได้ จึงรู้สึกว่าจะเสียโอกาส หากไม่ทำอะไรเลย จึงร่วมมือกันทำโครงการนี้ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจาก ร.ฟ.ท.

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ร.ฟ.ท.เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการวิจัยนี้ตั้งแต่ต้น และขณะนี้อยู่ในขั้นของการทดสอบบนทางรถไฟจริง สำหรับให้บริการ หากผ่านก็จะนำไปใช้จริงได้ ในส่วนของแผนการเดินรถในอนาคตอาจต้องทำแผนการจัดจำนวนที่นั่ง และการจัดรูปแบบก่อนว่าจะเป็นอย่างไร ถือเป็นโครงการต้นแบบซึ่ง ร.ฟ.ท. และทีมวิจัย คาดหวังที่จะลองหลาย ๆ รูปแบบเพื่อให้รู้ว่าวิธีไหนที่จะเหมาะสมกับผู้โดยสาร

เช่น ผู้โดยสารระยะกลาง หรือผู้โดยสารระยะไกล โดยนำไปลองกับผู้โดยสารระยะกลางก่อน สังเกตว่ารถที่ออกแบบมาจะเป็นกึ่งรถนอน มีที่นั่งสบาย ๆ สอดคล้องกับรางคู่ระยะกลางที่มีระยะทางประมาณ 500 กม.

“เราต้องการทำรถไฟแข่งขันกับสายการบิน รวมถึงผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวได้ เพื่อดึงผู้โดยสารกลุ่มนี้ ที่อาจไม่เคยใช้บริการรถไฟมาก่อน ให้หันมาใช้บริการรถไฟ เพื่อสร้างรายได้ให้ ร.ฟ.ท. เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นก็นำไปพัฒนารถไฟชั้น 3 หรือตู้โดยสารแบบอื่น ๆ มาให้บริการประชาชนได้มากขึ้น”

ดูข่าวต้นฉบับ