บนสื่อสังคมออนไลน์แชร์แนะนำการบำบัดที่เรียกว่าWhole body Cryotherapy เดินเข้าไปในตู้ที่มีความเย็นจัด รักษาโรค ช่วยชะลอวัย แก้นอนไม่หลับ แก้ออฟฟิศซินโดรม จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.กภ.วรรธนะ ชลายนเดชะ อาจารย์คณะกายภาพบำบัด และศูนย์กายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
การบำบัดที่เรียกว่า Whole body Cryotherapy ยังไม่มีหลักฐานการวิจัยที่ยืนยันแน่นอน แต่น่าจะมีผลกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว เหมือนกับการออกกำลังกาย มีอะไรกระตุ้นผิวหนังทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว มีการหลั่งของสารเอ็นดอร์ฟินส์ (Endorphins) ทำให้รู้สึกสบาย ถ้าเปรียบเทียบกับวิธีการรักษาอื่น ๆ ที่ได้ผลมากกว่านี้
แนวคิด วิธีการรักษา Whole body Cryotherapy ?
Whole body Cryotherapy คือการบำบัดด้วยความเย็นจัดทั้งตัว คนเข้าไปอยู่ในห้อง Chamber บางชนิดเข้าทั้งตัว บางชนิดโผล่ศีรษะ
อุณหภูมิที่ใช้คือ ลบ 130 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-3 นาทีเท่านั้น ส่งผลทำให้ร่างกายตื่นตัวหลั่งเอ็นดอร์ฟินส์ออกมา
การให้ความเย็นทั้งร่างกาย ช่วยแก้ปัญหา “ออฟฟิศซินโดรม” และ “นอนไม่หลับ” จริงหรือไม่ ?
เรื่องออฟฟิศซินโดรมแก้ไขได้ คล้ายกับการประคบด้วยความเย็น เพราะความเย็นทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ หลังจากนั้นก็มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อมากขึ้น
ส่วนที่บอกว่าความเย็นช่วยเรื่อง “นอนไม่หลับ” นั้น ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน แต่วิธีการคล้ายกับการออกกำลังกายกระตุ้นเอ็นดอร์ฟินส์เหมือนกัน จึงทำให้นอนหลับสบาย
สิ่งสำคัญคือต้องรู้สาเหตุของการเกิดออฟฟิศซินโดรม จะได้แก้ไขที่ต้นเหตุได้ถูกต้อง เช่น นั่งนานเกินไปหรือไม่ จอคอมพิวเตอร์วางตำแหน่งไม่เหมาะสม ? ก็จะทำให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อ แต่ Whole body Cryotherapy ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นผ่อนคลาย ซึ่งเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ
Whole body Cryotherapy ช่วยให้หลอดเลือดหดตัวและชะลอวัย จริงหรือ ?
ขณะที่เข้าไปอยู่ในห้อง Chamber ทำให้หลอดเลือดที่อยู่บริเวณผิวหนังหดตัว จะทำให้เลือดเข้าไปอยู่ส่วนกลางมากขึ้น เพื่อรักษาอุณหภูมิแกนกลางให้คงที่ 37.5 องศาเซลเซียส ต่อมเหงื่อทั้งหลายถูกปิด เลือดเลี้ยงบริเวณส่วนปลายน้อยลง หลังออกจากห้อง Chamber เลือดก็จะไหลเพิ่มขึ้น เป็นการส่งเสริมสุขภาพ แต่ถ้าจะใช้ Whole body Cryotherapy เพื่อการรักษาโรค การทำ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน
การประคบ และ/หรือ เข้าห้องซาวน่า (sauna) แล้วออกมาอาบน้ำก็ยังใช้ได้อยู่ ส่วนการทำ Whole body Cryotherapy ก็ไม่ต่างกับวิธีการรักษาทั่วไปที่ใช้กันและไม่ได้มีผลที่เฉพาะเจาะจง
เพื่อความปลอดภัยสำหรับคนที่ต้องการทำ Whole body Cryotherapy
ในคนที่ต้องการไปทำ Whole body Cryotherapy มีคำแนะนำดังนี้
1. ต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
2. ทนต่อความเย็น (ลบ 130 องศาเซลเซียส) ได้
3. ผิวหนังไม่มีบาดแผล
4. มีความรู้สึก (ร้อน-เย็น) ได้ดี
5. ระบบหัวใจและหลอดเลือดดีพอสมควร
6. ไม่เหมาะกับคนที่มีโรคความดันเลือดสูงและโรคหัวใจ
การทำ Whole body Cryotherapy พบว่าได้ผลดีกับนักกีฬาที่มีร่างกายแข็งแรงพอสมควร ทำให้มีการกระตุ้นระบบหลอดเลือดไหลเข้าสู่ส่วนกลาง และส่วนกลางไหลออกสู่ระบบส่วนปลาย เรียกว่าระบบหลอดเลือดทำงานได้ดี
สำหรับคนที่ต้องการทำ Whole body Cryotherapy ไม่ควรคาดหวังเกินข้อเท็จจริง พบว่ามีการพูดถึงโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ด้วย ซึ่งปรากฏว่าเรื่องโรคอัลไซเมอร์ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน และทางการแพทย์ก็ยังไม่มีการรับรองด้วย
ถ้าเป็นการส่งเสริมสุขภาพทั่วไป การทำ Whole body Cryotherapy ก็ใช้ได้
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : ให้ความเย็นทั้งร่างกาย รักษาได้หลายโรค จริงหรือ ?