ทั่วไป

งานวิจัยพบ แค่หยุดพูด 5 วินาที ก็ช่วยให้ลดความตึงเครียด ระหว่างคู่รักที่ทะเลาะกันได้

The MATTER
อัพเดต 30 ส.ค. 2567 เวลา 06.48 น. • เผยแพร่ 30 ส.ค. 2567 เวลา 06.48 น. • Brief

ลองทำบ้างไหม? งานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า หากคู่รัก ‘พักเบรก’ หรือหยุดพูดแค่ 5 วินาที ระหว่างที่การทะเลาะกันนั้น จะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายได้

งานวิจัยทางจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ (University of St. Andrews) ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Communications Psychology ได้ทำการทดลองกับคู่รักจำนวน 81 คู่ เพื่อหาคำตอบว่าการแสดงออกทางอารมณ์ เป็นแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวหรือไม่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แล้วเขาทดลองกันอย่างไร?

ผู้วิจัยออกแบบการทดลอง โดยให้ ‘คู่รัก’ หรือผู้ใหญ่ที่มีความสัมพันธ์แบบโรแมนติก มาเผชิญหน้ากัน ด้วย ‘การเล่นเกม’ ที่ต้องแข่งขันกัน จำนวน 30 รอบ

กติกาก็คือ ผู้ชนะในรอบนั้นๆ จะสามารถเลือกระดับเสียง (ว่าดังมากน้อยแค่ไหน) ของ ‘เสียงระเบิด’ ซึ่งเป็นเสียงรบกวนที่ไม่น่าฟัง เพื่อส่งไปยังหูฟังของผู้แพ้ หรือคู่รักของตัวเองนั้นเอง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ระหว่างรอบนั้น พวกเขาจะถูกบังคับให้หยุด หรือพักเบรก เป็นระยะเวลา 5, 10 หรือ 15 วินาที ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะส่งเสียงระเบิดกลับ ด้วยระดับเสียงดังมากน้อยแค่ไหน

จากนั้นผู้วิจัยใช้ AI เพื่อวิเคราะห์การตอบสนองทางอารมณ์ โดยเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของ ‘กล้ามเนื้อบนใบหน้า’ จากกล้อง 360 องศา ที่บันทึกสีหน้าของคู่รัก

ผลลัพธ์ที่ได้นั้น ทำให้คณะผู้วิจัย ‘ประหลาดใจมาก’ เนื่องจากพบว่าระยะเวลาพักเบรก 5, 10 และ 15 วินาทีนั้น มี ‘ผลเท่าๆ กัน’ ในการลดอารมณ์เชิงลบ รวมถึงพฤติกรรมก้าวร้าวระหว่างคู่รัก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“เราคิดว่า 5 วินาทีนั้นสั้นเกินไป แต่ไม่ใช่เลย […] 5, 10 และ 15 วินาทีนั้น มีผลเหมือนกัน” อันนา แม็กเคอร์รี (Annah McCurry) นักศึกษาปริญญาเอก ผู้วิจัยของงานนี้ บอกกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN)

ทำไมการพักสั้นๆ แค่ 5 วินาที จึงลดความก้าวร้าวได้?

“การถอยห่างออกมาเพียงหนึ่งก้าว อาจช่วยให้เราเห็นภาพรวม และเตือนใจเราว่า เรายังรักคู่ของเรา (และไม่ได้เกลียดพวกเขาจริงๆ)” มาริโก วิสเซอร์แมน (Mariko Visserman) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ (The University of Sussex) ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยนี้ อธิบายผลลัพธ์เพิ่มเติม

“สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าสมองของเราทำงานเร็วแค่ไหน และเราเพียงแค่ต้องให้โอกาสตัวเองเล็กน้อย ด้วยการปล่อยให้สมองของเราทำเรื่องมหัศจรรย์” วิสเซอร์แมนกล่าว พร้อมกับเน้นย้ำความสำคัญของการพักเบรก เพื่อลดความหุนหันพลันแล่น

อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยระบุว่าผลการวิจัยครั้งนี้ อาจใช้ได้กับแค่ ‘ความขัดแย้งในชีวิตประจำวันของคู่รัก’ ไม่ใช่กับสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว

แน่นอนว่าความสัมพันธ์ของคู่รักแต่ละคู่ มีความแตกต่างกัน แต่งานวิจัยชิ้นนี้อาจแสดงให้เห็นว่า บางทีการถอยออกมาจากอารมณ์ตึงเครียดเพียงชั่วคราว ก็สามารถลดความขัดแย้งระหว่างกันได้

อ้างอิงจาก

nature.com

edition.cnn.com

theguardian.com

ดูข่าวต้นฉบับ